"บูชา" สารคดีข้ามพรมแดนแห่งศรัทธาและความไร้เหตุผล โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

"บูชา" สารคดีข้ามพรมแดนแห่งศรัทธาและความไร้เหตุผล โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

"บูชา" สารคดีข้ามพรมแดนแห่งศรัทธาและความไร้เหตุผล โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดังที่หนังบรรยายตัวเองไว้ บูชา เป็นภาพยนตร์สารคดีที่พาเราไปซึมซับควันธูปและเมฆหมอกแห่งพิธีกรรมที่ทำให้ “ความศรัทธา” และ “ความงมงาย” ใกล้เคียงกันจนบางครั้งแยกไม่ออก หนังพาเราเดินทางข้ามเส้นรุ้งเส้นแวงของภูมิศาสตร์ประเทศไทย และยังข้ามเส้นแบ่งของพรมแดนทางจิตวิญญาณระหว่างความเชื่อ ศาสนา ภูตผี เครื่องรางของขลัง นิมิตหวย และความไร้สติปัญญา  

เสียงบ่นของผู้ชมหลายคนหลังจากได้ชมหนังที่ออกฉายแบบจำกัดโรงไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ บูชา เป็นหนังที่อ้อยสร้อย ไม่มีเรื่องราวที่ชัดเจน แทบไม่มีคำพูดและคำอธิบาย แถมยังพยายามเล่าเรื่องและแสดงภาพพิธีกรรมที่คนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้ว เช่นการจาริกตามรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ งานแห่นาคโหด บุญบั้งไฟ ม้าทรงกินเจภูเก็ต เลยไปถึงงานสวดภาณยักษ์ การลงอาคมของขลังและการขอหวยกับบรรดา “เกจิ” ที่มีชาวบ้านร้านลาดเลื่อมใส่ ภาพของพิธีกรรมเหล่านี้ถูกร้อยเรียงต่อเนื่องโดยไม่มีคำพูดอธิบาย และไม่มีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าหนังต้องการ “สื่อ” อะไร

สำหรับผู้เขียน ความ abstract ของหนัง – การที่หนังไม่ได้พยายามเล่าเรื่องหรือสร้าง narrative – เป็นทั้งจุดเด่น และเป็นการยืนยันสถานะการเป็นคนทำหนังที่มีแนวทางชัดเจนของผู้กำกับ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ อาจารย์จากธรรมศาสตร์และคนทำหนังสารคดีชั้นนำของไทยที่เฝ้าติดตามและบันทึกภาพชีวิตคนต่างจังหวัดและวิถีชาวบ้าน แฝงไว้ด้วยสายตาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการกดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคม ในหนังของเขาทุกเรื่องตั้งแต่ เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ (Stories From the North), สวรรค์บ้านนา (Agrarian Utopia), เพลงของข้าว (Songs of Rice) และมาถึง บูชา (Worship) คุณลักษณะที่ทำให้หนังของอุรุพงศ์ทุกเรื่อง แตกต่างจากสารคดีดาด ๆ ทางโทรทัศน์ที่มักอ้างว่าเป็นการ “ตีแผ่” ความไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านและเกษตรกร คือการที่หนังของอุรุพงศ์ มีงานภาพที่หมดจด มุมกล้องอันทะเยอทะยาน และความพยายามสร้างงานศิลปะจากทุกเฟรมภาพ – ว่าง่าย ๆ คือหนังถ่ายสวยมากทุกเรื่อง สวยเกินกว่าสารคดีทีวีทั่ว ๆ ไปหลายเท่า

แต่ที่สำคัญกว่าภาพสวย คือการที่อุรุพงศ์ใช้ภาษาภาพให้ทำหน้าที่เป็นบทกวี มากกว่าเป็นร้อยแก้ว สำหรับผู้ชม การรับรู้ “เนื้อหา” ของหนัง เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับการรับรู้ “ฟอร์ม” หรือรูปทรงของเรื่อง สิ่งที่อุรุพงศ์พยายามทำในหนังทุกเรื่อง รวมทั้งใน บูชา คือการทำให้กล้อง (และทำให้ผู้ชม) กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทางกายภาพตรงหน้า เปิดผัสสะทั้งรูปและเสียงอันผู้กำกับเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจในเจตนาของเขา

สิ่งที่ บูชา แตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ของอุรพงศ์ คือการที่เขาแสดงออกถึงความสงสัย ความไม่ไว้ใจ และตั้งคำถามกับสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นความศรัทธา โดยเฉพาะความศรัทธาของคนในชนบท ถึงหนังจะไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ให้เราได้ยินว่า การไปขอหวย การเดินตามรอยพระพุทธบาท การทำร้ายตัวเองในงานกินเจ หรือพิธีกรรมประหลาด ๆ อื่น ๆ เป็นสิ่งไม่ดีหรือไร้สาระ แต่จุดยืนและความสงสัยของหนังช่างชัดเจนมาก ๆ ผ่านการแสดงออกทางภาพแห่งความลุ่มหลงและการซุกความจริงและเหตุผลไว้ใต้ฉากหน้าของ “ความศรัทธา” ถ้าจะขอใช้ภาษาอังกฤษ หนังเรื่องนี้ deromanticize คนชนบท หรือ ล้มล้างอุดมคติโลกสวยของวิถีชีวิตชาวบ้าน (ซึ่งเราเคยเห็นมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำในงานของอุรุพงศ์เอง)

เช่นฉากงานกินเจของภูเก็ต อุรุพงศ์ให้เวลากับฉากนี้ค่อนข้างนาน เขาถ่ายภาพการเดินแห่ ความโกลาหลของผู้คนและการทำร้ายตัวเองของบรรดาร่างทรง ทั้งหมดนี้ในระยะใกล้มาก ๆ ไม่เหลือช่องว่างให้คนดูถอยออกมามองและตระหนัก แต่พาเราเข้าไปใกล้ชิดกับประสบการณ์ทั้งภาพและเสียง และทำให้เราเห็นทั้งความน่าตื่นตาและความไร้เหตุผลของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมด ตรงนั้นล่ะครับที่หนังตั้งใจพาเราข้ามเส้นไปมา จนเกิดความกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นความน่าตื่นเต้นของพิธีกรรมและเห็นสัญญาณของความงมงายที่สอดแทรกในทุกอณูของมันไปพร้อม ๆ กัน  

ในวงการสารคดีหนังโลก วิธีการของอุรุพงศ์และ บูชา ใกล้เคียงกับแนวทางสารดคีผัสสะที่มีคนทำหนังสายศิลปะหลาย ๆ คนใช้ คือการไม่เล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือหรือเสียงบรรยาย แต่ปล่อยให้ภาพและปรากฎการณ์ตรงหน้าปล่อยพลังดิบ ถึงเลือดถึงเนื้อ น่าฉงนและน่าหวาดกลัว และปล่อยให้ความนามธรรมของโลกและประสบการณ์ก่อร่างขึ้นผ่านภาพจากกล้องถ่ายหนัง

บูชา ฉายแบบจำกัดโรงที่ House และเครือเมเจอร์บางโรง

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ "บูชา" สารคดีข้ามพรมแดนแห่งศรัทธาและความไร้เหตุผล โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

บูชา
บูชา
บูชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook