"มาจากตาคลี" กะหรี่ไทยแบบคังคุไบที่ถูกตีตรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

"มาจากตาคลี" กะหรี่ไทยแบบคังคุไบที่ถูกตีตรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

"มาจากตาคลี" กะหรี่ไทยแบบคังคุไบที่ถูกตีตรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแส “คังคุไบ” นักเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ของอินเดีย กลายเป็น Pop Culture อันใหม่ของไทยขึ้นมา ทำเอาดาราหลายคนลุกฮือขึ้นมาคัฟเวอร์กันจนเป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เทยชวนสงสัย และตั้งคำถามหนักๆ เลยว่า เอ๊ะ นี่เพราะคอนเทนต์เมือง Bollywood เขาก้าวไปข้างหน้ากว่าไทย หรือจริงๆ แล้วไทยก็มีมานานแล้วกันแน่ เลยอยากจะพาส่อง พาวิเคราะห์กันเสียหน่อย

“มาจากตาคลี” กะหรี่ไทยแบบคังคุไบที่ถูกตีตรา 

 

ความสำเร็จของละคร “กรงกรรม” นอกจากการแสดงที่ยอดเยี่ยม เนื้อหาที่เข้มข้นเป็นจักรวาลนครสวรรค์แล้ว สิ่งที่ขับเน้นเรื่องอย่างชัดเจนคือการต่อสู้เพื่อฉกชิงพื้นที่ของผู้หญิง ในสังคมที่ผู้ชายถือครองทรัพยากรที่ดินที่นาทรัพย์สิน และหน้าตาทางสังคมที่จะนำมอบให้ผู้หญิงในครอบครัวเป็นลำดับถัดไป และตัวละครที่ถูกนำมาวัดคุณค่า จนกลายเป็นแกนเรื่องสำคัญคืออาชีพ “หญิงขายบริการ” ซึ่งในเรื่องนั้นถูกใช้คำว่า “กะหรี่” อย่างออกรสออกชาติ โดยแม่ย้อยนั่นเอง

 

คังคุไบ ในภาพยนตร์ที่ฉายอยู่บน Netflix นั้นเป็นอัตชีวประวัติของนักต่อสู้ในประวัติศาสตร์ของอินเดียในชื่อเดียวกัน ที่สังคมอินเดียในยุคนั้น และอาจจะรวมถึงยุคนี้ด้วย เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งของอินเดียนั้นพ่วงเรื่องวรรณะที่เกี่ยวโยงกับศาสนาเข้ามาด้วย ก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมันเข้มข้นเข้าไปอีก โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักสำคัญของภาพยนตร์ ที่ผลักดันให้ตัวละครคังคุไบ ลุกขึ้นมาเพื่อสู้ความเสมอภาคของโสเภณี

แต่ในคอนเทนต์ของบ้านเรานั้นแตกต่างออกไป การมองโสเภณีในบ้านเรานั้นมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น และแบ่งแยกกันแบบไม่แบ่งแยกผ่านการตีตรา และใช้การมีอยู่ของโสเภณีในลักษณะของการวัดคุณค่าผู้หญิง

  • ฉันมาจากตาคลี

 

ย้อนกลับไปในสมัยสงครามเย็น ซึ่งเป็นยุคสมัยในเรื่องของกรงกรรม ทหารอเมริกันมาตั้งถิ่นฐานในบ้านเราเยอะ และทำให้การมีอยู่ของซ่อง ในหัวเมืองใหญ่ๆที่จะสามารถส่งทหารไปเวียดนามได้นั้นเฟื่องฟู คุณค่าของหญิงไทยจึงถูกแบ่งออกเป็นหญิงที่ยังยืนหยัดอยู่กับความงามตามขนบ กับหญิงที่มีพฤติกรรมเริงเมือง และใช้ร่างกายไม่ตรงตามขนบ ซึ่งทันทีที่มีบุคลิกดูแรง การแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูเตะตาเกินไป นั่งอยู่ตามสถานเริงรมย์ ก็จะถูกตีค่าว่าเป็นอีตัว หรือกะหรี่ทันที

ความแตกต่างคือ ในอินเดีย มีเรื่องของการแอบซ่อนและหลบกฎหมาย หรืออยู่เป็นหลักเป็นแหล่งชัดเจน แต่ในสังคมไทย การมีอยู่แม้จะไม่ถูกกฎหมายเสียทีเดียว แต่เป็นการทำให้เอื้อต่อสภาพโครงสร้างของสังคม ที่พยายามจะทำให้ผู้หญิงมานั่งฟาดและวัดคุณค่ากันเองอีกที

การที่แม่ย้อย ไม่ยอมรับเรณูตั้งแต่แรกเห็น ก็เพียงเพราะเธอไม่ตรงตามขนบที่แม่เขาต้องการ

  • กะหรี่ยุคหลังแม่ย้อย

 

แม้จะผ่านยุคกรงกรรมมานานแสนนาน แต่การวัดคุณค่าผู้หญิงโสเภณีตีคู่มากับผู้หญิงในขนบ ยังคงทำงานเข้มข้นในฟากฝั่งของละครไทยในรูปแบบที่เข้มข้น แต่ก็มีการพลิกแพลงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่นในดาวพระศุกร์ ที่นางเอกเกิดจากซ่อง เป็นความบริสุทธิ์ที่ผุดขึ้นจากสิ่งต่ำตม และพระเอกก็ไปตามหามาจนเจอ นางเอกที่เกิดจากแม่ที่ไม่พร้อมมีลูก และทิ้งเธอไว้ในซ่อง ซึ่งก็ถือเป็นพล็อตที่เข้มข้นแทบไม่ได้ต่างจากคังคุไบในแง่ของการตีแผ่เรื่องที่ถูกกดทับจากสังคมเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ดาวพระศุกร์ ไม่ได้ถูกวางให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้ชาย แต่เธอต้องดีและบริสุทธิ์มากพอที่จะหลุดพ้นจากซ่องนั้นมาได้ ก่อนจะได้ชุบชูจากคุณภาพ ที่แค่แวะมาซ่อง แล้วเจอเพชรแท้ที่ซ่อนอยู่ในตม ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดว่า แม้จะอยู่ในซ่อง แต่การเป็นผู้หญิงที่ดี ก็ต้องงอกงามขึ้นมาให้ได้

หรือแม้แต่ในช่วงปลาย 90 มายัง 2000 ต้นๆ “ผู้หญิงคนนี้ชื่อ บุญรอด” ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่พูดถึงสังคมที่ตีคู่ขนานมา กับการชี้ให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิงสายลุย แต่ไม่ได้เป็นกะหรี่ ก็ไม่ได้มีความถูกลดทอนคุณค่าไปมากกว่ากันเลย ดังนั้นการที่จะเป็นผู้หญิงแรงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นกะหรี่เสมอไป แม้สภาพแวดล้อม จะชักนำให้บุญรอดเป็นกะหรี่แค่ไหนก็ตาม

ก็ยังคงเป็นการผลักให้กะหรี่เป็นมาตรวัดของคุณค่าต่างๆอยู่

  • ยุคแห่ง Sex Worker ที่มีตัวตนอยู่จริง

 

“อม ไซร้ ชัก 500 ไม่รีบ” ประโยคสุดแรงจากน้องสกาย ใน Hate Love the Series ที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ การมีอยู่ของโสเภณีนั้นลึกและหลากหลายกว่าที่เราคิด เมื่อเด็กขายผู้ชายวัยรุ่นหน้าตาดี ก็สามารถขายบริการทางเพศได้ไม่ต่างอะไรจากสาวสวยไทป์พริตตี้ ที่ยังปรากฏในละครที่ผู้ชายต้องไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยอยู่เช่นกัน

ละครในยุคหลังๆมา เริ่มลงไปขยี้ประเด็นความจำเป็นที่จะต้องมาเป็นกะหรี่ วนเวียนอยู่กับความยากแค้นของชนชั้น ผสมกับการอยากได้อยากมี เพราะการเป็นเด็กเอ็น เด็กขาย เด็กไซต์ไลน์ แอบกินกับนักธุรกิจระดับสูง มันคือการมีบ้าน มีรถ มีทุกสิ่งที่ภรรยาในสมรสอาจจะไม่มีก็ได้ ยิ่งการมีอยู่ของ “เรยา” จาก “ดอกส้มสีทอง” ที่ทำให้ผู้หญิง “สีทอง” ไม่พื้นหลังที่ซับซ้อนขึ้นแล้ว ก็ยิ่งทำให้บทบาทของโสเภณีในละครไทยยุคหลังๆ เริ่มพัฒนาและเพิ่มความแรงมาฟาดฟันกับผู้หญิงในขนบได้มากขึ้น ท้าทายความอยู่รอดของคู่รัก และคู่สมรส ว่าจะสามารถอดใจลดละเลิกกิเลสตัณหาของความยั่วยวนจากเหล่าเด็กขายนี้ได้หรือไม่

เป็นการเพิ่มคุณค่าในอีกแง่หนึ่ง ให้มาตีเสมอและฟาดฟันกันไป ซึ่งในท้ายที่สุด ตัวละครโสเภณี ที่เข้ามาแทรกในความสัมพันธ์ มักจะมีจุดจบที่ไม่งดงามนัก

  • การโคฟเวอร์คังคุไบ ทดแทนภาพที่ชัดและแรง

 

การลุกขึ้นมาคัฟเวอร์โสเภณีอินเดียจากภาพยนตร์คังคุไบ ของบรรดาเซเลปตัวท็อปในบ้านเรานั้น นอกจากจะเป็นความสนุกสนาน รับกระแสป๊อปแล้ว ก็ยังเป็นการสะท้อนว่า ภาพของโสเภณีที่ไม่จำเป็นต้องมาโดนตบ โดนกีดกันออกจากละครไทย แต่สามารถพูดเรื่องปัญหาสังคม โครงสร้าง และการเรียกร้องให้ Sex Worker มีตัวตนได้นั้น เป็นสิ่งที่หลายๆคนยอมรับได้ อย่างน้อยก็ยอมรับได้มากพอที่จะลุกขึ้นมาแต่งตัวตาม และเห็นเป็นเรื่องปกติ

สภาพความกดดันของสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้ถือครองหลายๆอย่างมาตั้งแต่ยุคแม่ย้อย มาจนถึงยุคที่ผู้ชายมีเมียน้อยในมาดนักธุรกิจ แล้วปล่อยให้ผู้หญิงในขนบ และไทป์กะหรี่ต้องมาฟาดฟันกันเองนั้น คือผลผลิตที่นักเสพย์คอนเทนต์ไทย ต้องการจะดึงเอาความชอบธรรมกลับเข้ามาหาตัวเอง การเป็นคังคุไบ เป็นเรณู เป็นพริ้ง เป็นน้องสกาย 500 คับ ล้วนเป็นภาพแทนของการอยากให้ความแรง การตะโกน ความปัง ความดัง ได้ถูกแสดงออกและยอมรับให้เป็นเรื่องปกติได้

การขับเคลื่อนของการดันให้กฎหมาย Sex Worker ของไทยให้ถูกกฎหมาย ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกกันไป แต่การเดินทางของละครไทยตลอดหลายสิบปีที่วัดคุณค่าของผู้หญิงไทย ไม่ว่าจะแบบคังคุไบหรือกะหรี่ อาจจะต้องการแรงสนับสนุนที่มากกว่าการแต่งตัวลงโซเชี่ยล แต่หมายถึงการส่งเสียงที่เป็นรูปธรรมให้มากขึ้น

เพื่ออย่างน้อยในตลาดคอนเทนต์บ้านเรา จะได้มีเฟสใหม่ของกะหรี่ไทยในละครให้เราได้ลิ้มชิมรสกันบ้างนะเธอ

เหยียวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 34 ภาพ

อัลบั้มภาพ 34 ภาพ ของ "มาจากตาคลี" กะหรี่ไทยแบบคังคุไบที่ถูกตีตรา โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook