ทำไม Spider-Man: No Way Home จะกลายเป็นหนังสำหรับคนติดตามสไปเดอร์แมน “รัก” ที่สุด

ทำไม Spider-Man: No Way Home จะกลายเป็นหนังสำหรับคนติดตามสไปเดอร์แมน “รัก” ที่สุด

ทำไม Spider-Man: No Way Home จะกลายเป็นหนังสำหรับคนติดตามสไปเดอร์แมน “รัก” ที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความนี้มีการสปอยล์เรื่องราวใน Spider-Man: No Way Home ไม่เหมาะสำหรับคนยังไม่ได้รับชมภาพยนตร์ หรือ สำหรับคนที่คิดว่าอ่านแล้วไม่ได้ลดทอนอรรถรสในการรับชมก็สามารถอ่านได้ เพื่อเปิดมุมมองต่อการชมหนังภาคนี้ในอีกด้านเช่นกันครับ

 

 

ตลอดกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาบรรดาข่าวลือที่หลุดออกมาจากกองถ่าย Spider-Man: No Way Home สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนหนังมาร์เวล รวมไปถึงแฟนๆของจักรวาลสไปเดอร์-แมนเองด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่เหล่าบรรดาวายร้ายจากหนังภาคก่อนๆที่จะมาปรากฏตัวในหนังภาคนี้ ยังไม่รวมไปถึงบรรดารูปหลุด หรือการที่นักแสดงจากสไปเดอร์-แมนในเวอร์ชั่นก่อนๆจะไปพักอาศัยอยู่ในบริเวณกองถ่ายทำของหนังภาคนี้แบบเหมาะเจาะ ทำให้มีการซุบซิบไปต่างๆว่าหนังภาคนี้อาจจะเป็นการ “เปิดพหุจักรวาล” ตามที่ลือกัน

ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมายเมื่อท้ายที่สุดสตูดิโออย่างโซนี่ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์อย่างเป็นทางการออกมาสู่สายตาผู้ชม ที่เผยให้เห็นบรรดาตัวร้ายไม่ว่าจะเป็นกรีนก็อบลิน, ด็อคอ็อค, แซนด์แมน, ลิซาร์ด, อิเล็คโทร ซึ่งตัวละครทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เคยต่อกรกับสไปเดอร์แมนในเวอร์ชั่นของโทบี้ แมคไกวร์และแอนดรูวส์ การ์ฟิลด์มาแล้วทั้งสิ้น

“พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”

คำกล่าวที่มาพร้อมกับความตายของตัวละครคนสำคัญในชีวิตของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ อย่างที่เราทราบกันดีว่าประโยค “พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” เป็นวลีของลุงเบนที่เสียชีวิตในช่วงต้นเรื่องของหนังสไปเดอร์-แมนเวอร์ชั่นก่อน มันยังกลายเป็นวลีที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของแฟนหนังทั่วโลกอยู่เสมอ จนเราอาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็น “วรรคทอง” ที่ต้องดำรงอยู่ในจักรวาลสไปเดอร์-แมนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แฟนมาร์เวลที่เฝ้ารอประโยคดังกล่าว ได้ฟังคำพูดนี้อีกครั้งจากปากของป้าเมย์ (มาริสา โทเม) ในวาระสุดท้ายของชีวิต แน่นอนว่าวลีดังกล่าวมาพร้อมกับช่วงเวลาอันแสนบีบหัวใจเมื่อปีเตอร์พบว่า การตัดสินใจที่จะไม่ยอมส่งเหล่าวายร้ายกลับไปสู่จักรวาลของพวกเขาเองนั้น เพราะมันอาจจะหมายความว่ามันคือการส่งพวกเขาไปตายแบบไม่มีทางเลือก

ในมุมมองของปีเตอร์ฉบับทอม ฮอลแลนด์ ตัวละครนี้กำลังจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ แน่นอนว่าแนวคิดเชิงอุดมคติที่เชื่อกันว่า “คนเราสมควรได้รับโอกาสครั้งที่ 2” นั้นเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ แต่ความไร้เดียงสาต่อโลก ได้มอบบทเรียนว่าบางครั้งการจะเป็นคนดีที่ทำอะไรเพื่อใครสักคนนั้น มีราคาที่จะต้องจ่ายและสิ่งที่เขาต้องแลกในครั้งนี้มีมูลค่าสูงลิบลิ่วเช่นกัน

การได้เห็นสไปเดอร์-แมนจาก 3 เวอร์ชั่นมาขึ้นจอพร้อมๆกัน

อะไรที่เราไม่มีวันคาดว่าจะมีโอกาสได้เห็นบนจอภาพยนตร์ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกอย่างประจวบเหมาะ (แน่นอนมันเป็นเรื่องของข้อตกลงทางธุรกิจที่ลงตัวและถูกที่ถูกเวลา จนทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้) หลังจากที่เรื่องมัลติเวิร์สหรือพหุจักรวาลนั้นถูกขยายความเอาไว้ในซีรีส์ Loki เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เปิดทางให้หนังมาร์เวลเรื่องอื่นๆนำความเป็นไปได้ต่างๆที่เคยเกิดขึ้นบนโลกภาพยนตร์มาใส่ไว้ในหนัง ก่อนหน้านี้เราอาจจะได้เห็นตัวละครอย่างควิกซิลเวอร์ (ในเวอร์ชั่นตัวละครจากแฟรนไชส์ X-Men มาปรากฏตัวอยู่ในซีรีส์ WandaVision) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บรรดาสไปเดอร์-แมน จากจักรวาลของผู้กำกับแซม ไรมี่และจักรวาลของมาร์ค เว็บบ์จะมาร่วมจอเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจกว่าแค่การมาปรากฏตัวให้แฟนๆหายคิดถึงแล้ว ตัวละครของโทบี้ แมคไกวร์ยังใช้บริบทของความโกรธแค้นที่เขาเคยใช้พลังพิเศษของตัวเองไปแก้แค้นให้กับลุงเบน นำมาเป็นบทเรียนเพื่อมอบให้กับปีเตอร์ฉบับทอม ฮอลแลนด์เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือแม้กระทั่งฉากคามิโอที่สำคัญมากคือช่วงเวลาที่เอ็มเจกำลังจะพลัดตกลงสู่พื้นดิน เธอได้รับความช่วยเหลือจากสไปเดอร์แมนในร่างของแอนดรูวส์ การ์ฟิลด์ ซึ่งคนที่เคยชม The Amazing Spiderman มาคงทราบกันดีว่าเขาเคยมีบาดแผลใหญ่ในชีวิตหลังจากที่ตนไม่สามารถช่วยเกวน สเตซี (เอ็มม่า สโตน) จากการพลัดตกที่สูงได้ทันเวลา ทำให้เธอเสียชีวิต (และนั่นถือเป็นหนึ่งฉากที่ช็อคคนดูที่สุดในประวัติศาสตร์หนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วยเช่นกัน) การที่เขาได้ช่วยเอ็มเจในครั้งนี้ ส่งผลให้เขามีอาการน้ำตารื้นๆนั้นบอกอะไรให้กับผู้ชมได้หลายอย่างเลยทีเดียว

นอกเหนือไปจากนี้ ฉากที่บรรดาตัวละครสไปเดอร์-แมนทั้งสามคนตัดสินใจที่จะใช้การผลิตเซรุ่มเพื่อคืนร่างให้กับบรรดาตัวร้ายทั้ง 5 นั้น ถือเป็นแนวคิดที่งดงาม แม้จะเป็นห้วงเวลาสั้นๆที่สไปเดอร์-แมน (โทบี้) ได้ปรับทุกข์กับนอร์แมน ออสบอร์น และด็อคอ็อคในตอนที่พวกเขาได้สติและเลิกคลุ้มคลั่ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในหนังและอาจจะเป็นโมเมนต์ที่คนดูรอคอยมาตลอดชีวิตว่าพวกเขาจะได้สงบศึกกันโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดสูญเสีย

ฉากที่ตัวละครสไปเดอร์-แมนทั้งสามคนโอบกอดกันก่อนล่ำลานั้นถือเป็นฉากที่ตราตรึงและทรงพลังที่สุดบนโลกภาพยนตร์ แน่นอนว่าสิ่งแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหาก “มาร์เวล” ปราศจากการสร้างฐานแฟนหนังไว้ทั่วโลก การบ่มเพาะตัวละคร การเจรจาทางธุรกิจที่ลงตัว และท้ายที่สุดคือช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับการนำเสนอปรากฏการณ์ที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกต้องจารึกไว้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook