ความรุนแรงหรืออะไรที่ควรห่วง จาก Squid Game โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ความรุนแรงหรืออะไรที่ควรห่วง จาก Squid Game โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

ความรุนแรงหรืออะไรที่ควรห่วง จาก Squid Game โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่น่าเชื่อนะคะ ว่าซีรีส์ที่เทยเพิ่งจะเขียนไปหมาดๆ กลับกลายเป็นประสบความสำเร็จขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งถึง 90 ประเทศใน Netflix กับ Squid Game ซึ่งความสำเร็จนี้ทำเอา IG ของนักแสดงพุ่งขึ้นเป็นหลักล้านภายในข้ามคืน และความสำเร็จของซีรีส์จากเกาหลีใต้เรื่องนี้ ก็พาเอาประเด็นอะไรหลายต่อหลายอย่างพ่วงมาพร้อมกับกระแสเหล่านั้นด้วย

สัปดาห์นี้เทยเลยจะพาเมาท์ พาล้วงลึกไปถึงดรามาที่เกิดขึ้นกับซีรีส์เรื่องนี้กันอีกหน่อย

 

Squid Game เป็นซีรีส์ Original ของทาง Netflix ซึ่งถือเป็น Platform การดูซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ตลาดการแข่งขันคอนเทนต์ต่างมี Netflix เป็นหลักไมล์ในการไต่ไปให้ถึง ได้มีโอกาสนำคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นฉาย เพราะนั่นหมายถึงการได้ส่งคอนเทนต์ของตัวเองสู่ตลาดสากลมาขึ้น แม้แต่ไทยเอง ก็มี Original Series ที่ส่งขึ้น Netflix ไปแล้วหลายเรื่องอย่าง เคว้ง และล่าสุดอย่าง Bangkok Breaking แต่ที่อร่อย แซ่บลืมจนคนพูดถึงและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ก็ต้องยกให้ เด็กใหม่ หรือยัย แนนโน๊ะ

แต่เธอขา ความซีรีส์ มันก็ต้องมีเรื่องราว มีสิ่งต่างๆในการทำให้มันน่าสนใจ ดึงคนดูให้อยู่หมัด และหมวดหมู่ก็หลากหลายให้เลือก ทั้งคอมมาดี้ โรแมนติก สยองขวัญ ไปยันฆาตกรรม บู๊สนั่นหวั่นไหว ยิ่งยุคสมัยผ่านไป เหล่าผู้สร้างก็ต้องยิ่งปรุงคอนเทนต์ให้อรรถรส ชวนติดตามมากขึ้น ด้วยความที่สนามแข่งขันมันสูง การจะสร้างคอนเทนต์ให้น่าติดตาม ก็ต้องมีความอร่อยมากขึ้น

และ Squid Game นางประสบความสำเร็จเจ้าค่ะ

 

เอกลักษณ์ของ Squid Game เทยคิดว่าคือการเล่นกับ “เกม” สิ่งที่ติดตัวคนเสพย์อย่างเราๆ เธอๆ มาแต่ไหนแต่ไร การได้ดูซีรีส์ที่มีการเดิมพันด้วยอะไรบางอย่าง ยังไม่เฉลยว่าอะไรเป็นอะไรในตอนแรก ทิ้งให้รู้สึกว่าตอนต่อไปคืออะไรอ่ะแก ลุ้นไม่ไหว คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จ

ยิ่งเอามาผนวกกับเรื่องความยากปลดแอกความจน มีเงินรางวัลล่อหูล่อตา อย่างในเรื่องก็ตั้งเป็นล้านล้านวอน ใครจะไม่ตาลุกวาว ยิ่งเงินเดิมพันสูง การเอาชนะด้วยชีวิตก็สูงตาม ดังนั้นจะมาเป็นผู้เล่นเหมือนกันไม่ได้ ต้องมีการตายกันไปข้าง เพื่อเงินรางวัลนี้ค่ะ เกมส์แต่ละด่านจึงถูกออกแบบมาเพื่อเอากันให้ตายถึงชีวิตเพื่อแลกกับเงินรางวัล และซีรีส์ตลอดซีซั่น ก็พูดถึงการเอาชนะกันด้วยความโหดร้ายทารุณ ผ่านสีสันสดใส และเกมแบบง่ายๆ ที่เล่นกันในวัยเด็ก

นั่นกลายเป็นดราม่าที่ทำให้ถูกพูดถึงอย่างมากว่า เป็นซีรีส์ที่ถ้าเด็กขาดวิจารณญาณเสพย์ไป จะเลียนแบบความรุนแรงเอาไปใช้ได้นะเธอ

ซึ่งเทยในหน้าสื่อละครไทย ความรุนแรงมีหลายรูปแบบมาก ทั้งในเชิง Soft Power ที่สอดแทรกมาแบบเล็กๆน้อยๆ เช่น รายการที่พูดถึงคนด้อยโอกาส แล้วนำมาชิงโชคกัน เป็นความบันเทิงให้คนดู ประหนึ่งย่อ Squid Game มาให้ดูแต่ไม่มีใครตาย จะมองให้บันเทิง มันก็บันเทิง จะมองว่ารุนแรง มันก็น่าหดหู่ที่คนด้อยโอกาสเหล่านี้ ต้องมาแย่งชิงเงินรางวัลกันเพื่อความบันเทิงของคนดูอย่างเราๆ

หรือจะเป็นความรุนแรงแบบซึ่งหน้า ละครตบตี เมียน้อยเมียหลวง อี_ะหรี่! ของแม่ย้อยที่ยังตราตรึง ตบกันสนั่นจอก็เห็นกันมานักต่อนัก ยิงกัน ลอบฆ่ากันนอกกฎหมาย ตำรวจสีเทา นักการเมืองท้องถิ่นโกงกิน ก็ปรากฏในจอมาแล้วหลายเรื่อง รุนแรง ดิบเถื่อนแบบไทยๆ นะแม่

 

แน่นอนว่าการเซนเซอร์สื่อไม่ให้มีความรุนแรงเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะการเล่าเรื่อง ไม่จำเป็นต้องทำในแนวเชิดชูความดีอย่างเดียว แต่มันก็ต้องมีการตีความ มีลูกเล่นต่างๆ เพื่อถ่ายทอดประเด็นที่ต้องการจะสื่อออกไปด้วยเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการกำกับดูแลเลย เพราะอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีระบบจัดเรทอายุการเข้ารับชมอยู่ อย่างเช่น Squid Game ที่ไม่ได้ฉายฟรีทีวี แต่ต้องเสียเงินรับชม แทบจะเหมือนภาพยนตร์ ซ้ำยังเป็นคอนเทนต์ที่ 18+ และขึ้นกำกับว่ามีเนื้อหารุนแรงอยู่ก่อนแล้วล่ะค่ะ

ดังนั้นปัญหาของการระวังเรื่องความรุนแรง หรือสิ่งที่ควรห่วงจาก Squid Game คงไม่ใช่การที่เราดูซีรีส์เรื่องนี้แล้ว จะเลียนแบบความรุนแรงได้ เพราะคนเสพย์ก็คงต้องมีอายุและขอบเขตการเข้าถึงคอนเทนต์ตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์มอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเยาวชนที่อายุยังไม่ถึง คงไม่สามารถเข้าถึงซีรีส์เรื่องนี้ได้

แต่กระนั้น ขอบเขตอายุของการเสพย์คอนเทนต์ในอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกันไปในหลายประเทศ รัฐก็คงต้องเข้ามากำกับดูแล ร่วมกับการมีวิจารณญาณของครอบครัว การดูแลเยาวชนอะไรตั่งต่าง เพราะ Squid Game หากจะทำให้เด็กเลียนแบบความรุนแรงได้จริง ซีรีส์เรื่องนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องแรกที่ทำ

แต่ถ้าเข้าถึงได้ ก็น่าจะอยู่ที่การกำกับดูแลของผู้ปกครอง ที่ก็ไม่น่าปล่อยให้บุตรหลานรับชมสื่อเหล่านี้เพียงลำพัง หรือหากมีการ “ปล่อยเถื่อน” ให้รับชม ก็แสดงว่าการปราบปรามเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของเรามีปัญหาหรือเปล่าล่ะเธอ

ซึ่งนี่เทยยังไม่ได้พูดถึงว่า “ความรุนแรง” ที่ปรากฏอยู่ในฟรีทีวีไทยมาก่อน Squid Game จะถือเป็นเรื่องที่รับได้ แต่พอมาเป็นของเกาหลี ของ Netflix ก็เป็นรับไม่ได้ขึ้นมาเลยหรือเปล่านะเธอ

ก็มีความย้อนแย้งไม่ไหวนะคะหล่อน

 

ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่ได้ผลมากกว่าความรุนแรงที่อยู่ในเนื้อหา Squid Game ก็คงจะเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของเกาหลี ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย่างที่ตัวซีรีส์ได้ประกาศความสำเร็จไปหลายประเทศ ดังนั้นของต่างๆจากซีรีส์ ก็กลายเป็นที่นิยมไปในชั่วพริบตา ไม่ได้ต่างอะไรจากบรรดานักแสดง ทั้งเสื้อผ้า สัญลักษณ์ หรือแม้แต่ขนมน้ำตาลที่กลับมาขายดี จนเกาหลีต้องเปิดงานอีเวนท์ให้คนมาเข้าคาเฟ่ และหาซื้อสินค้าจากซีรีส์เรื่องนี้ ด้วยภาพจำที่ง่าย ชุดชมพูเขียวที่สะดุดตา สัญลักษณ์วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ที่เห็นปุ๊บ รู้ปั๊บว่ามาจากซีรีส์ ก็ยิ่งทำให้ทุกๆคนอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ในครั้งนี้

 

และสิ่งเหล่านี้ ทำงานในหมวดหมู่วัฒนธรรมของเกาหลี ที่พยายามใช้ Soft Power ของเขา ส่งออกไปสร้างมูลค่าได้ในระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากๆ แถมสร้าง “ความรุนแรง” ต่อตลาดคอนเทนต์ไปทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย

จนแทบทำให้ซีรีส์เรื่องอื่นๆในบ้านเรา ที่แม้อยู่ในตลาดเดียวกัน ก็เงียบไปถนัดตาเลยทีเดียวเธอ

มันก็เลยสงสัยว่า แล้วซีรีส์ไทย จะเป็นไหม

เป็นอย่างเขาได้ไหมคะ ฝากไว้ให้คิดค่ะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ความรุนแรงหรืออะไรที่ควรห่วง จาก Squid Game โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook