POSE ชีวิตของ LGBTQ (และทุกคน) ยังมีพรุ่งนี้เสมอ

POSE ชีวิตของ LGBTQ (และทุกคน) ยังมีพรุ่งนี้เสมอ

POSE ชีวิตของ LGBTQ (และทุกคน) ยังมีพรุ่งนี้เสมอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไปในปี 1987 ยุคสมัยที่ชาว LGBTQ เพศทางเลือกยังคงถูกตีตราทางสังคมว่าเป็นเหล่ามนุษย์ผิดเพศ เกิดมาและเลือกหนทางบาปขัดต่อหลักศาสนาคริสต์ มิหนำซ้ำโรคระบาดอย่าง “เอดส์” กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ LGBT ถูกชี้หน้าว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค

 

บ้านอะบันดันซ์ซึ่งปกครองดูแลโดยคุณแม่สุดปั๊วะปังอย่างอิเล็กตร้า (โดมินิก แจ็คสัน) เธอต้องดูแลเหล่าลูกๆที่เธอเก็บมาจาก “ท่าเรือ” โลเคชั่นที่เป็นแหล่งขายตัวของบรรดาเด็กเร่ร่อนไร้บ้าน ซึ่งส่วนมากจะเป็นเกย์หรือกะเทยที่ยอมแลกร่างกายของตัวเองกับเงินจำนวนที่พอจะเอามาประทังชีพไปแต่ละวัน

จากเด็กเร่ร่อน สู่การเป็นลูกบุญธรรมไม่ว่าจะเป็น บลังก้า (เอ็มเจ โรดริเกซ), แองเจิ้ล (อินเดียน มัวร์) ลูลู่ (เฮลี ซาฮาร์) และ แคนดี้ (แองเจลิก้า รอสส์) พวกเธอเหล่านี้มีบ้านเอาไว้ซุกหัวนอนและยังต้องร่วมกันปฏิบัติภารกิจในการไปโชว์ตัวในงานบอล แข่งขันฟาดฟันไม่ว่าจะเป็นการเต้น เดินแบบ โชว์ชุดให้เดิ้น โดยมีพิธีกรฝีปากกล้าอย่างเพรเทรล (บิลลี่ พอร์เตอร์) เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนทีมไหนที่มีผลงานเตะตากรรมการมากที่สุดจะคว้าถ้วยและเงินรางวัลมาครอบครอง ด้วยความกระหายชัยชนะทำให้บ้านอะบันดันซ์ยกโขยงกันไปขโมยชุดในพิพิธภัณฑ์เพื่อเอามาแข่งขันในโจทย์ “ราชนิกุล” โดยไม่สนใจว่าจะโดนตำรวจจับเข้าตารางหรือไม่!

อย่างไรก็ตามด้วยความเย่อหยิ่งและเห็นแก่ตัวของอิเล็กตร้าทำให้บลังก้าหมดความอดทน ในหลายๆครั้งที่ไอเดียในการลงแข่งขันแต่ละครั้งจะโดนแม่ของตัวเองขโมยไปโดยไม่ให้เครดิต ทำให้เธอตัดสินใจออกมาตั้งบ้านเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อบ้านอีแวนเจลิสต้า เพราะเธอเชื่อว่าวิธีการเลี้ยงดูลูกๆของเธอนั้น มีความโอบอ้อมอารี พยายามทำความเข้าใจลูกๆ ให้ความอบอุ่น มากกว่าที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาจนหาความสุขในชีวิตไม่ได้ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวล

 

อะไรคืองานบอล (Ball-culture)

วัฒนธรรมงานบอลนั้น เป็นวัฒนธรรมรองเล็กๆที่รู้จักกันในกลุ่มคนชายขอบตั้งแต่ยุค 50 ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่ากะเทย เกย์ คนข้ามเพศที่มารวมตัวสังสรรค์กันตามร้านเหล้าในการประกวดเต้น หรือประกวดชุด จนกระทั่งวัฒนธรรมดังกล่าวเริ่มขยายตัวไปเรื่อยๆจนยุค 80 งานบอลรุ่งเรืองในนิวยอร์ก จนชุมชน LGBTQ มีการแบ่งออกเป็นบ้านเพื่อส่งสมาชิกเข้าแข่งขัน ฟาดฟันทั้งเรื่องชุด การแต่งแดร้ก การเต้นโว้ก ซึ่งค่อยๆเติบโตและกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักจวบจนถึงทุกวันนี้ที่เราได้เห็นตามสื่อมากมาย

ด้วยความเกี่ยวพันกับสังคม LGBTQ ที่ส่วนมากบรรดาเด็กๆในบ้าน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคนที่เรียกตัวเองว่าแม่ ส่วนมากแล้วเด็กๆเหล่านี้มักจะเป็นเกย์ กะเทย คนข้ามเพศที่ไม่ได้รับการยอมรับจากเหล่าพ่อแม่แท้ๆของตัวเอง จะระเหเร่ร่อนออกมาและเดินทางไปสู่เมืองใหญ่ๆเพียงเพราะพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถตามความฝันและค้นหาตัวตนของตัวเองเจอในสักวันหนึ่งนั่นเอง

 

เอดส์และการมีความหวังเพื่อวันพรุ่งนี้

ท่ามกลางช่วงเวลาที่ HIV ยังคงถูกเรียกว่าเอดส์ และในยุคสมัยที่ยังไม่มียาในการเยียวยารักษาอาการของโรค ทำให้ใครก็ตามที่ตรวจเลือดและพบว่าตัวเองติดเชื้อ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังจะต้องตายอย่างทุกข์ทรมานในวันใดวันหนึ่ง ท่ามกลางความมืดมนของชีวิต นอกจากการกระเสือกกระสนที่จะเอาตัวรอดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ชาว LGBTQ ต้องต่อสู้กับการยอมรับจากสังคมมากกว่าคนธรรมดาในสังคม

ตลอดทั้งซีรีส์ POSE นอกจากจะมีการแข่งขันสุดเดิ้น ตื่นตา ตื่นตะลึงแล้ว การให้ตัวเอกของเรื่องอย่างบลังก้าค้นพบว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ตั้งแต่ตอนแรกของซีรีส์ และตัดสินใจที่จะเดินจากแม่ของเธอเอง เพียงเพื่อจะตั้งบ้านของตัวเองและดูแลเด็กๆไร้โอกาสคนอื่นแบบเดียวกับที่เธอเคยได้รับโอกาส แม้ว่าเธอจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านของตัวเอง มิหนำซ้ำยังโดนอิเล็กตร้าด่าไล่หลังว่า คนอกตัญญูอย่างเธอทำอะไรก็ไม่มีวันเจริญ

ในห้วงเวลากว่า 3 ซีซั่นของ POSE ดำเนินเรื่องตั้งแต่ปี 1987 – 2000 เป็นเวลายาวนานเพียงพอที่เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัว การได้เห็นการเติบโตทางอารมณ์ของตัวละครต่างๆ เรียนรู้ความสมหวัง ผิดหวัง เติบโต ไปจนกระทั่งมีตัวละครที่ล้มหายตายจากไปเพราะอาชญากรรมความรุนแรงของยุคสมัยที่ LGBTQ เป็นเพียงซอกหลืบของความไม่เข้าใจจากสังคม หรือแม้กระทั่งโรคร้ายอย่างเอดส์ที่ยังไม่มีหนทางรักษา

ห้วงเวลาหนึ่งที่น่าจดจำของซีรีส์คือ ตอนที่ตัวละครหลักของเรื่องทั้งสี่คนประกอบไปด้วย อิเล็กตร้า บลังก้า แองเจิ้ล และลูลู่ได้มานั่งทานอาหารให้ภัตตาคารสุดหรู แต่งตัวโดดเด่น ระหว่างนั้นเองพวกเธอกำลังพูดถึงซีรีส์เรื่องดังในยุคสมัยนั้นอย่าง Sex and the city ที่สาวๆในเรื่องลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องเซ็กส์กันอย่างเปิดเผย ทำตัวเป็นผู้หญิงมั่นใจ และมีเครื่องดื่มประจำตัวอย่างเมนู “คอสโมโพลิแทน” แต่อิเล็กตร้ากลับเลือกจะรีบบอกกับพนักงานเสิร์ฟว่า ขอเมนูอะไรก็ได้ที่เป็นเหล้าจริงๆมาให้พวกเรา ก่อนที่เธอจะพูดว่า สาวๆ (หรือนัยยะว่า LGBTQ) อย่างพวกเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำรงอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของภาพลักษณ์ตัวละครผู้หญิงที่โลกบันเทิงพยายามจะสร้างและบอกว่าผู้หญิงในโลกสมัยใหม่นั้น ควรจะเป็นอย่างไร ไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับพวกเธอ เพราะ “ชาวเรา” สร้างกฎของตัวเองกันมาโดยตลอดและจะไม่หยุดแค่เพียงตอนนี้ หลังจากนั้นอิเล็กตร้าก็พูดถึงธุรกิจของเธอที่กำลังรุ่งโรจน์ต่อไป

จากวันแรกของซีรีส์สู่เหตุการณ์ส่งท้าย บอกได้เลยว่าตลอดรายทางของเรื่อง POSE มอบทั้งความหวังและคราบน้ำตาให้กับผู้ชม เพียงเพราะจุดประสงค์เดียวคือการส่งสารว่า ในทุกการต่อสู้ของชีวิตนั้นไม่มีอะไรได้มาอย่างง่ายดาย เพียงแต่จงไม่ยอมแพ้และฝันให้ไกลกว่าเดิมอยู่เสมอ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook