วิจารณ์ภาพยนตร์ Dreamgirls

วิจารณ์ภาพยนตร์ Dreamgirls

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เขียนโดย : Seijun

มนุษย์มักบอกตัวเองเสมอว่า ความฝันก็เปรียบดังโรงละครโรงหนึ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อแสดงตัวตนที่ไม่อาจเปิดเผย และหลายคนก็เต็มใจจะขีดเขียนความฝันบนเวทีแห่งมายาเพื่อปลอบประโลมความจริงอันหดหู่ แต่ถ้าความฝันนั้นกลายเป็นจริงเข้าสักวัน ใครเลยจะคิดถึงผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นว่ามันมีอานุภาพพอที่ จะ เปลี่ยน เราให้กลายเป็นคนใหม่ หรือทำลายทุกสิ่งทุกอย่างตรงหน้าได้ แม้กระทั่งสายสัมพันธ์ที่ยาวนาน! เป็นโจทย์ที่ผู้กำกับฯ บิล คอนดอน เนรมิต Dreamgirls ให้ออกมาเป็นชีวิตฝันบนเวทีมายาดั่งเจตคติ เพียงแต่ว่ามันทำให้เราคาดเดาบทสรุปของหนังเรื่องนี้ได้ง่าย และอาจจะง่ายเกินไป หากเทียบกับโปรดักชั่นของหนังที่ปูพรมแดงอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อบ่งชี้เจตนาของคอนดอนที่หวังว่า หนังของเขาอาจมีมิติมากกว่าสารคดีของวงเดอะ สุพรีมส์ แฟนตาซีกว่า Chicago และเข้มข้นยิ่งกว่า Ray แต่หากให้ช่วยสรุปแล้ว Dreamgirls อาจพบกับคำตอบที่ไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคิด และคำว่า พอใช้ ก็คงไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากได้ยินหลังจากตรึงผู้ชมด้วยฉากสวยงามอลังการตลอด 130 นาที ก่อนหน้านี้บิล คอนดอน ไม่เคยจับงานกำกับฯ ที่โดดเด่นเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเข้าไปมีส่วนในทีมเขียนบทเรื่อง Chicago จากจุดนั้นอาจทำให้เขาเกิดกระหายความท้าทายในการทำงานบนโครงสร้างเรื่อง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยองค์ประกอบจิปาถะของหนังเพลงหรือ musical แบบนี้ และยิ่งท้าทายกว่าเป็นสองเท่าเมื่อองค์ประกอบใน Dreamgirls ใหญ่โตจนน่ากลัวจะเป็นความกดดัน Dreamgirls ฉบับขึ้นจอใหญ่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาจากละครบรอดเวย์ยอดฮิตในปี 1981 ซ้อนทับอีกทีด้วยแรงบันดาลใจจากวง เดอะ สุพรีมส์ โดยมีฉากหลังคือความทรนงของเมืองดีทรอยต์ ถิ่นที่ดนตรีอาร์แอนด์บีถูกฝังรากฝังรอยในรูปของค่ายโมทาวน์อันลือลั่น มันจึงไม่ยากหากใครที่เป็นคอเพลงโซล-อาร์แอนด์บีไปจนถึงบูกี้คงอดไม่ได้ที่จะคิดเลยเถิดเปรียบเทียบตัวละครหลายตัวในหนังกับราชาเพลงโซลทั้งหลายผู้มีมนต์ขลังในโลกแห่งความเป็นจริง ดังเช่นที่เขาทำให้ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ สวมหัวโขนของใครก็ได้ตามใจปรารถนา ตั้งแต่ลิตเติ้ล ริชาร์ดส, เจมส์ บราวน์ ยันมาร์วิน เกย์ มันฟังดูโอเวอร์จนไม่อาจเป็นไปได้ แต่อะไรก็ตามที่เนรมิตขึ้นเพื่อหย่อนใจคอเพลงผิวสี หนังเรื่องนี้ไม่เคยมีคำว่าพอ! สามสาววง เดอะ ดรีมเมตส์ ใฝ่ฝันอยากขึ้นโชว์บนเวทีค้นฟ้าคว้าดาวช่วงสุดสัปดาห์ ในยุคที่วงการดนตรีอเมริกายังไม่มีรายการ American Idol และชนชั้นแรงงานผิวดำยังถูกเหยียดผิวอย่างเปิดเผย พวกเธอเป็นดั่งพี่ดั่งน้อง ไปไหนไปกัน หากขาดใครไปก็หมายถึงไม่มีการแสดง โชคชะตาพลิกผันเมื่อพวกเธอถูกเลือกให้เป็นนักร้องประสานเสียจมส์ เออร์ลี (เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์) โดยคำชักชวนของเซลส์แมนขายรถคาดิลแลคอย่างเคอร์ติส เทย์เลอร์ (เจมี ฟอกซ์) ที่อาศัยลมปากตะล่อมล่อสามสาวที่อยากจะเป็นดาว แลกกับการรุกคืบช้าๆ จนสามารถฮุบวงดนตรีเจมส์ เออร์ลีสำเร็จ กระทั่งเขาได้ครอบครองทุกอย่างแม้กระทั่งเอฟฟี่ (เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) นักร้องนำอนาคตไกลที่ใฝ่ฝันว่า เดอะ ดรีมเมตส์ ของเธอจะกลายเป็นวงดนตรีชื่อดัง แต่เคอร์ติสกลับมองต่างไปจากทุกคน เคอร์ติสมองเห็นแต่ตัวเองกำลังกล้าได้กล้าเสียในวงการดนตรีที่เขามองเห็นแต่ธุรกิจโดยที่เขาจงใจลืมว่า ความทะเยอทะยานของเขากำลังจะทำลายฝันของใครหลายคนอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเดอะ ดรีมเมตส์ กลายเป็นขวัญใจมหาชน เคอร์ติสขีดเส้นชะตาชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ต้องหักเห เขาเขี่ยเอฟฟี่อย่างไม่มีเยื่อใยเมื่อดันไปตกหลุมรักดีน่า (บียองเซ่ โนวลส์) ที่สวยครบเครื่องกว่าและเขาเชื่อว่าความสวยของเธอจะทำให้เดอะ ดรีมเมตส์ ขายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเอฟฟี่อีกต่อไป กลิ่นแห่งความแตกแยกเริ่มก่อตัวขึ้นจนกระทั่งเขายกตำแหน่งนักร้องนำให้กับดีน่าแล้วผละเอฟฟี่ให้พ้นทางเพื่อแลกกับการชุบวงใหม่ในชื่อ The Dreams ที่เขาล่อใจพวกเธอที่เหลือ (และก้าวเข้ามาแทนที่เอฟฟี่) ด้วยความสำเร็จที่ใหญ่กว่าในวันข้างหน้า กลิ่นแห่งความแตกแยกถูกกลบด้วยกลิ่นหอมของเงินทองที่งอกเงยถึงขั้นที่เคอร์ติสสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวเองภายใต้ชื่อเรนโบว์ มิวสิค แต่มันคือความสำเร็จบนภาพลวงตาโดยแท้ นานวันเข้า ความหลงตัวเองครอบงำเคอร์ติสให้กลายเป็นจอมบงการ เขาทำสิ่งผิดให้กลายเป็นถูกโดยที่ทุกคนต้องคล้อยตาม ด้วยความเชื่อมั่นแบบผิดๆ บวกกับการนำพาเดอะ ดรีมส์ และเจมส์ เออร์ลี ก้าวผิดทางมาตลอด 8 ปี ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงเมื่อความไม่ซื่อของเคอร์ติสถูกเปิดเผย แต่ท้ายที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ของสามสาวก็กลับมาสมานกันอีกครั้งแม้ทุกอย่างจะไม่มีวันเหมือนเดิม ซึ่งก็คงไม่ยากเกินจะคาดเดานักว่าบทสรุปของ Dreamgirls จะออกมาเป็นอย่างไร หนังทำให้บียองเซ่ โนว์ส กลายเป็นตัวประกอบที่โดดเด่นด้วยความงามจนไม่อาจละสายตาได้ ทว่าด้วยบทที่ตั้งใจผลักไสเธอให้เปิดตัวในฐานะนางรองมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้เธอเปรียบได้กับไดแอนา รอส ฉบับคอนดอนโดยไม่ต้องควานหาแม่แบบในชีวิตจริง และดาวเด่นของหนังเรื่องนี้ที่รอเวลาแจ้งเกิดเต็มตัวอย่าง เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน สาวเสียงคุณภาพจากเวทีอเมริกัน ไอดอล ก็เหมือนถูกเงาของอารีธา แฟรงคลิน ทาบทับอยู่ตลอดเวลา ฮัดสันสะกดคนดูได้ด้วยเพลง And Im telling You Im Not Going ด้วยพลังเสียงของความคับแค้นที่ตรึงคนดูไว้แน่นกับเก้าอี้เป็นอีกซีนหนึ่งที่น่าจับตามอง แม้จะต้องทำใจปล่อยวางลงบ้างว่า เธอตั้งใจประดิดประดอยเพื่อบทเอฟฟี่จนเธออาจกำลังวว่ายังอยู่บนเวทีอเมริกัน ไอดอล ด้วยโจทย์บังคับให้ต้องขับร้องในเพลงของดีว่า แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จอมขโมยซีนอย่างเอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ จะต้องสวมวิญญาณราชาเพลงโซลตามยุคที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละคาแรคเตอร์ แต่ดนตรีโซลที่ขยับตามยุคสมัยตั้งแต่ปลายยุค 60 ไปจนถึงช่วงผลิบานของดนตรีดิสโก้ ทำให้เห็นเขาดึงพลังความเป็นนักร้องเก่าของตัวเองออกมาใช้ และเป็นการปรากฏตัวเพื่อตัดความเลี่ยนที่หลายคนอาจจะแอบรู้สึกเอียนอยู่บ้างกับช่วงรับ-ส่ง เพลงกันไปมา แม้กระทั่งในฉากที่เขาถูกเคอร์ติสตัดออกจากวงหลังทำอับอายบนเวที ก็ยังเผยให้เห็นอิทธิพลของวงสไล แอนด์ เดอะ แฟมิลี่ สโตนส์ เด่นวาบได้แม้เพียงช่วงสั้นๆ ส่วนที่หลายคนกะเก็งกันว่าดารานำชายออสการ์ควรจะตกเป็นของเจมี่ ฟ็อกซ์ จากบทเคอร์ติสนั้น อาจเพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวในเรื่องที่ถูกส่งมอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา และด้วยคาแรคเตอร์ของผู้ที่กุมชะตาชีวิตตัวละครที่เหลือจนกระทั่งเขาต้องเป็นฝ่ายจนแต้มในตอนท้าย จุดหักเหตรงนั้นอาจทำให้คณะกรรมการคิดคะแนนไม่ยากนัก Dreamgirls สวยงามและอลังการในแง่ของหนัง musical บทเพลงหลายเพลงมีความไพเราะในระดับหนึ่ง และทุกๆ เพลงล้วนเป็นเพลงเก่าจากเวอร์ชั่นบรอดเวย์ในปี 1981 เสริมส่งเรื่องราวตามหน้าที่ แม้กระทั่งลูกเล่นเหน็บแนมตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมคนผิวสีที่ปลดปล่อยออกมาเป็นเพลงบลูส์ จนกระทั่งคืบคลานสู่เพลงโซลที่หยุดโลกไว้แทบเท้า เช่นเพลง Fake Your Way To The Top หรือเพลง Steppin To The Bad Side อันเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของหนังไม่น้อยไปกว่าเพลงธีมอย่าง Dreamgirls แม้ Dreamgirls จะมีตัวช่วยมากมายที่ส่งให้หนังคลาสสิคได้ด้วยตัวของมันเอง ทั้งเพลง บท และฉาก แต่หากเรากลับมามองที่ความเป็นปัจจุบันจนถึงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า Dreamgirls คงต้องหาคำอธิบายที่ฟังให้ขึ้น หากหลีกเลี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งไม่ได้ว่า นี่คือภาคบังคับของออสการ์ที่จะต้องหาหนังเพลงสักเรื่องมาบูชายัญในแต่ละปี

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ วิจารณ์ภาพยนตร์ Dreamgirls

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook