5 ประเด็นหลัก หลังเทศกาลหนังเมืองคานส์จบลง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

5 ประเด็นหลัก หลังเทศกาลหนังเมืองคานส์จบลง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

5 ประเด็นหลัก หลังเทศกาลหนังเมืองคานส์จบลง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 74 (74 th Festival de Cannes) ปิดฉากลงเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นงานภาพยนตร์ระดับนานาชาติขนาดใหญ่ของโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการโรคระบาดโควิด-19ในยุโรป งานผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น ถึงแม้ตอนแรกจะมีความกังวลต่างๆ นานา ทั้งในด้านสาธารณสุขและการจัดการงานที่มีคนมารวมตัวกันนับหมื่น ความสำเร็จของคานส์เป็นสัญญาณบวก ที่บ่งชี้ว่าโลกภาพยนตร์กำลังจะกลับมาคึกคักเป็นปกติอีกครั้ง

ผู้เขียนไม่ได้ไปร่วมงานในปีนี้ เนื่องจากความลำบากในการเดินทางอย่างที่เราทุกคนทราบกัน แต่ขอประมวล 5 ประเด็นสำคัญจากเทศกาลเมืองคานส์ปีนี้มาร่วมพูดคุยกัน

  1. Titane – หนังเพศสภาพลื่นไหลได้รางวัลใหญ่ปาล์มดอร์

ถือว่าเป็นหนังม้ามืดที่คว้ารางวัลใหญ่ของเทศกาลมาได้ Titane (อ่านว่า “ที-ทาน” แปลว่า ไททาเนียม) เป็นหนังของผู้กำกับหญิง จูเลีย ดูคอนู ที่กลายเป็นผู้กำกับหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์ 70 กว่าปีของคานส์ ที่ได้รางวัลใหญ่ ทำให้ประเด็นที่คานส์ถูกค่อนขอดมาตลอดว่านิยมชมชอบแต่ผู้กำกับชาย ลดน้ำหนักลงไปได้โข Titane เป็นหนังที่นักวิจารณ์ต่างลงความเห็นว่า หลุดโลก ทั้งน่าหัวเราะในความเว่อร์วังแต่กลับแฝงด้วยมวลอารมณ์อ่อนไหว เนื้อเรื่องดูคลั่งจินตนาการไม่น้อย ว่าด้วยหญิงสาวที่ตอนเด็กประสบอุบัติเหตุและต้องดามเหล็กไว้ที่กะโหลก เมื่อเธอมีเหตุต้องหลบหนีคดี เธอปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชาย (นั่นแหละครับ พล๊อทมาแบบนั้นจริง) ก่อนจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์กับรถยนตร์ (นั่นแหละครับ ตามนั้น) โดยปกติ หนังที่ท้าทายรสนิยมและจริตเคร่งขรึมดีงามเช่นนั้น มักจะเป็นเพียงไม้ประดับ การที่หนังได้รางวัลใหญ่ที่สุดของงาน ต้องนับว่าเป็นความกล้าหาญของคณะกรรมการที่นำโดยผู้กำกับอเมริกัน สไปค์ ลี และเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ จูเลีย ดูคอนู (ที่เพิ่งทำหนังเป็นเรื่องที่สองเท่านั้น) แซงหน้าผู้กำกับฝรั่งเศสรุ่นใหญ่อีกหลายคนเข้าเส้นชัยสำคัญนี้ไปก่อน

  1. อภิชาติพงศ์ และ Memoria

 ข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับผู้กำกับไทย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และหนังนานาชาติของเขา Memoria คงเป็นข่าวที่ล้นเต็มฟีดของพวกเรามาตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ถึงแม้นี่จะไม่ใช่ “หนังไทย” ในขนบดั้งเดิม – และอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องระบุว่าเป็นหนังสัญชาติใด – Memoria เป็นงานอันเรียบง่าย ลุ่มลึก และเชื่อมโยงกับสัญชาติญาณมนุษย์แบบสากล แฟนหนังชาวไทยลุ้นกันหนักมากว่าอภิชาติพงศ์ จะได้ปาล์มทองเป็นครั้งที่สองได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วหนังได้รางวัล Jury Prize หรือคร่าวๆ คือรางวัลที่ 3 แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังเรื่องนี้ลดลงแต่อย่างใด ใน Memoria ดาราอังกฤษ ทิลดา สวินตัน แสดงเป็นผู้หญิงที่ถูกหลอกหลอนด้วยเสียงดังประหลาด และออกเดินทางเพื่อค้นหาต้นตอของมันไปทั่วประเทศโคลอมเบีย  หนังได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม รวมทั้งได้รับการ standing ovation 14 นาทีแสนยาวนาน อันนำไปสู่การที่อภิชาติพงศ์ กล่าววรรคทองของปีนี้ว่า Long live cinema – ภาพยนตร์จงเจริญ  ตอนนี้ Memoria เป็นหนังที่คนไทยรอดูมากที่สุด และเชื่อว่า ผู้สร้างจะนำมาฉายอย่างแน่นอนเมื่อโรงหนังเปิดทำการได้อีกครั้ง

 

  1. มูราคามิ - ฮามากูจิ – Drive My Car

หนังญี่ปุ่นเรื่อง Drive My Car กำกับโดย ริวสุเกะ ฮามากูจิ สร้างจากเรื่องสั้นความยาว 40 หน้าชื่อเดียวกันโดยนักเขียนญี่ปุ่นแห่งยุค ฮารูกิ มูราคามิ ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะผู้เขียนมีโอกาสได้ชมหนัง และคิดว่านี่เป็นหนังดีที่สุดเรื่องหนึ่งของปี ในเรื่องราวของนักเขียนบทละครที่เผชิญปัญหาชีวิตกับภรรยา และเดินทางไปร่วมซ้อมละครต่างเมือง ก่อนจะได้พบกับตัวละครหลากหลายที่ทำให้เขาสะท้อนภาพชีวิตและความรู้สึกอันคั่งข้างของตัวเอง  นี่น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องของมูราคามิที่ดีที่สุด (ดีกว่า Burning เสียอีก) หนังได้รางวัลบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลเมืองคานส์ ทั้งๆ ที่ตอนแรก ว่ากันว่าหนังมีลุ้ยถึงรางวัลใหญ่ปาล์มดอร์ เช่นกัน หวังว่าจะมีผู้จัดจำหน่ายไทย นำหนังเข้ามาฉายในบ้านเราต่อไป

 

  1. ตลาดยุโรปฟื้น เอเชียยังรีรอ

นอกเหนือจากหนังประกวด คานส์ยังเป็นตลาดซื้อขายหนังที่สำคัญของโลก เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ตลาดหนังคานส์ปีนี้จึงเงียบเหงากว่าปกติ โดยเฉพาะการที่บริษัทหนังจากฝั่งเอเชีย ยังไม่พร้อมเดินทางไปร่วมงานเต็มที่ และต้องใช้วิธี Zoom เข้าไปประชุมหรือตกลงทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีประสิทธิภาพเหมือนเจอหน้ากันจริง แต่ถึงกระนั้น นักธุรกิจฝั่งยุโรปดูจะคึกคัก และตลาดเริ่มฟื้นตัวมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้โรงหนังฝั่งยุโรป เริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

  1. ไม่มี Cannes cluster!

นี่อาจจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ก่อนหน้าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม หลายคนจับจ้องและไม่เชื่อว่า งานใหญ่ขนาดนี้ มีผู้เข้าร่วมถึงกว่าสองหมื่นคน และมีการจัดฉายหนังกันไม่หยุดหย่อนตลอด 12 วัน จะผ่านพ้นไปได้โดยไม่กลายเป็น superspreader event หรืองานที่แพร่กระจายเชื้อโรค แต่ปรากฏว่า คานส์ทำได้สำเร็จ ไม่มี Cannes cluster ไม่มีการติดโควิดกันยกโรง ไม่มีข่าวอื้อฉาวทางสาธารณสุข ถึงภาพจากพรมแดงที่เราเห็นกันตลอดเกือบสองสัปดาห์ จะแทบไม่มีดารา หรือคนดัง ใส่หน้ากาก แต่จริงๆ แล้วคานส์ออกกฎบังคับให้ผู้ชมทุกคนรวมทั้งสื่อมวลชน  ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ภายในโรงหนัง นอกจากนี้ ทุกคนยังต้องรายงานตัวเพื่อตรวจโควิดทุก 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ ถึงแม้จะมีคนติดโควิดบ้าง แต่ไม่ใช่ในจำนวนที่น่าตระหนก และไม่มีการแพร่เชื้อขนานใหญ่ ความสำเร็จครั้งนี้ ลั่นกระดิ่งให้โลกเห็นว่า ภาพยนตร์ และการฉายภาพยนตร์ในโรง กำลังจะกลับมาทวงพื้นที่ที่สูญเสียไปให้กับบริการสตรีมมิ่งตลอดหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา

คำถามต่อไปคือ แล้วคนดูหนังในประเทศไทยล่ะ เมื่อไหร่จะสามารถกลับไปนั่งดูหนังในโรงกันโดยไม่ต้องหวาดระแวง เห็นงานที่คานส์สนุกสนานแบบนั้นแล้วสะท้อนใจว่า การบริหารงานสาธารณสุขที่ดีเท่านั้น ถึงจะทำให้วงการศิลปะ-วัฒนธรรม-บันเทิง มีเสถียรภาพและแข่งกันคนอื่นในโลกได้ เรารอนานกว่านี้ไม่ได้ เพราะโลกทั้งใบ พร้อมจะเดินไปข้างหน้าอีกครั้งแล้ว

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ 5 ประเด็นหลัก หลังเทศกาลหนังเมืองคานส์จบลง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook