ถอดรหัส พิธีกรรมความเชื่อสุดหลอน จากหนัง "ร่างทรง"

ถอดรหัส พิธีกรรมความเชื่อสุดหลอน จากหนัง "ร่างทรง"

ถอดรหัส พิธีกรรมความเชื่อสุดหลอน จากหนัง "ร่างทรง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ร่างทรง (The Medium) ภาพยนตร์สยองขวัญร่วมทุนไทย-เกาหลี ผลงานผู้กำกับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่เคยทำให้เราขนหัวลุกจากภาพยนตร์สยองขวัญอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และ แฝด ร่วมกับโปรดิวเซอร์ นาฮงจิน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ กับหนังทั้ง 3 เรื่องที่เขาเป็นคนกำกับอย่าง The Chaser, The Yellow Sea และ The Wailing ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นี้ทุกเรื่อง  

ร่างทรง กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไฮไลต์สำคัญของไทยปีนี้ หลังจากปล่อยตัวอย่างก็เกิดกระแสพูดถึงเป็นอย่างมากกับความหลอนและสมจริงจนแฮชแท็ก #ร่างทรง ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ เรียกได้ว่าสมกับที่ผู้กำกับชื่อดัง โต้ง บรรจง และนักแสดงหนุ่มมากความสามารถ เต๋อ ฉันทวิชช์ ที่เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท ลงพื้นที่ศึกษารวบรวมข้อมูลร่างทรงกว่า 30 คนทั่วประเทศมาตลอด 1 ปีเต็ม 

 

ร่างทรง เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่เล่าถึงพื้นฐานความเชื่อ และเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มาดูกันว่า พิธีกรรม ความเชื่อที่ปรากฏในตัวอย่างฉบับใหม่ของ ร่างทรง มีอะไรบ้างที่ให้เราได้ทำความรู้จัก ก่อนจะได้ดูจริงในโรงภาพยนตร์

ร่างทรง

การบูชาผีและติดต่อกับวิญญาณผ่านร่างทรง มีรากเหง้ามาจากการนับถือผี ในอดีตเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมากมายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่าง ฟ้าผ่า ฝนตก ภัยแล้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น มนุษย์เลยต้องบูชา อ้อนวอน ผ่านพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาจากเหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน แต่เพียงแค่การบูชาและอ้อนวอนไม่เพียงพอที่ทำให้มนุษย์คลายความวิตกกังวลได้ จึงเกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผี ผ่าน ร่างทรง เพื่อให้วิญญาณชี้แนะ แก้ไขปัญหา รักษาอาการเจ็บป่วยที่มนุษย์กำลังเผชิญให้ผ่านพ้นไปได้ จากในตัวอย่างหนัง เราจะเห็นพ่อแม่ของ มิ้ง พาลูกที่มีอาการประหลาด สะลึมสะลือ พูดจาผิดแปลก ต่างจากปกติ คล้ายคนโดนสิง ไปหาหมอผีหรือร่างทรง โดยในสถานที่นั้นเต็มไปด้วยชาวบ้านที่พนมมือแสดงความนับถืออยู่มากมาย

ประกอบพิธีกรรมแสดงความเคารพบูชา                                                                                                            

ฉากแรกของตัวอย่างภาพยนตร์ จะเห็นชาวบ้านกำลังเดินขึ้นไปพร้อมกับประกอบพิธีร่ายรำ ร้องเพลง บทสวด เล่นดนตรี ต่อหน้ารูปปั้น ย่าบาหยัน ซึ่งมาจากความเชื่อเรื่องผีของชาวอีสานเกี่ยวกับพิธีกรรมถวายบูชา ที่ต้องร้อง เล่น เต้นรำ เพื่อแสดงให้เห็นถึง ความเคารพ ความเชื่อ และความศรัทธา

ปักธูปกลับหัว

การปักธูปกลับหัวเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งทางไสยศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่การกระทำที่ดีนัก เพราะถือเป็นการทำร้ายวิญญาณหรือเป็นการทำให้วิญญาณไม่ได้ไปอย่างสงบสุข ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธศาสนา ความหมายของการปักธูปกลับหัวมีอยู่ 3 ความหมาย คือ เป็นการทำให้ศพฟื้นคืนชีพ, เป็นการอัญเชิญวิญญาณเร่ร่อน และ เป็นการสะกดวิญญาณไม่ให้มาทำร้ายผู้ปักธูปกลับหัว

ใครเรียก...ห้ามขานรับ                                                                                               

เคยได้ยินไหม โบราณเขากล่าวว่า เวลากลางคืนได้ยินเสียงเรียกทัก ห้ามขานรับเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าเป็นเสียงเรียกของดวงวิญญาณที่อาจจะมาหลอกมาหลอน หากเราขานรับ จะถือเป็นการอนุญาตให้วิญญาณเข้ามา ของจะเข้าตัว หรือเป็นการเชิญวิญญาณเข้าบ้าน จากตัวอย่างหนัง จะเห็นฉากที่ มิ้ง ขานรับเสียงที่ทักเธอตอนกลางคืน หลังจากนั้นเธอก็ถูกสิง

ลากไข่ถอนคุณไสย                                                                                                   

เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่งของชาวเขมร หรือที่เรียกในภาษาเขมรว่า “เลียกดอก” ซึ่งแปลว่า ลากถอน เป็นวิธีรักษาอาการของคนถูกคุณไสย โดยการนำไข่ลากถูไปมาตามร่างกายของคนที่ถูกคุณไสย จากนั้นจึงนำไข่ไปวางในกระทงกาบแก้ว ไข่ที่โดนคุณไสย เมื่อตอกออกมาจะมีสีดำ กลิ่นเหม็นเน่า เลือด หรือ สิ่งของที่ถูกทำใส่ เช่น เส้นผม ตะปู เข็ม

สังเวยเนื้อควายสด

จากฉากที่หมอผีและลูกศิษย์กำลังจูงควายเข้าไปยังสถานที่หนึ่ง และฉากหมอผีที่จับเขาควายที่ถูกชำแหละแล้ว คาดว่าผู้เขียนบทน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อทางภาคเหนืออย่าง ประเพณีเลี้ยงดง ซึ่งจัดก่อนฤดูทำนาทุกปี โดยอาศัยร่างทรงอัญเชิญวิญญาณ ปู่แสะ ย่าแสะ มารับเครื่องเซ่นสังเวย ซึ่งในอดีตปู่แสะ ย่าแสะ เป็นยักษ์ที่จับมนุษย์และสัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร แต่หลังจากได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า จึงละเว้นจากการกินเนื้อ แต่มันผิดวิสัยยักษ์ จึงไม่สามารถทำได้ เลยขอต่อพระพุทธเจ้าว่า ขอให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ปีละตัวแลกกับการดูแลบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น ชาวบ้านจึงสังเวยควายหนุ่มสดๆ ให้กับปู่แสะ ย่าแสะทุกปี 

อาบน้ำมนต์ไล่มนต์ดำ                                                                                           

น้ำมนต์ ถือเป็นน้ำอาคม ที่ถูกเสกคาถาไว้ นำมาใช้เพื่อชำระร่างกาย ขับไล่มนต์ดำ คุณไสย สิ่งสกปรกชั่วร้ายให้ออกไปจากร่างกาย โดยผู้ที่ทำพิธีขับไล่คุณไสย คือ ร่างทรง หรือ หมอผี นั่นเอง

         

อาการของคนโดนคุณไสย                                                                                        

 จากตัวอย่างใหม่ของภาพยนตร์ร่างทรง อาการของมิ้งเปลี่ยนไปจากปกติ ซึ่งกลุ่มคนที่เชื่อเรื่อง ผีสาง จะเชื่อว่า คนที่โดนผีสิงหรือของเข้าจะมีลักษณะ ดังนี้

  • เหม่อลอย ไม่มีสมาธิ ขี้หลงขี้ลืม
  • ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย มีอาการใจสั่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ปวดเนื้อปวดตัว เมื่อยและชาตามบริเวณต่างๆ
  • มีอาการทางร่างกายที่ผิดปกติ เช่น ร้อนๆ หนาวๆ ตลอดเวลา
  • จุก เสียด แน่นบริเวณหน้าอก และบริเวณอื่นๆ แต่เมื่อไปหาหมอแล้วไม่สามารถหาสาเหตุของอาการเหล่านี้ได้
  • ใต้ตาดำคล้ำเหมือนคนไม่ได้นอน
  • แววตาดูแข็งกร้าว ตาขวาง ตาดุแบบไร้แววตาหรือไร้อารมณ์
  • มักโมโหร้าย อารมณ์แปรปรวน ไม่เป็นตัวของตัวเองแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนอาจจะใช้อารมณ์และคำพูดที่รุนแรง ทั้งที่ปกติแล้วเป็นคนใจดีใจเย็น
  • มีอาการคล้ายประสาทหลอน มักได้ยินเสียงแปลกๆ หรือเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน
  • เชื่อฟังหรือหลงใหลคนบางคนมากเป็นพิเศษทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคย จนไม่สนใจความคิดเห็นของคนรอบข้าง

อาการขณะโดนขับคุณไสย                                                                                       

จากตัวอย่างภาพยนตร์ จะเห็นว่า มิ้ง มีอาการกรีดร้องขณะที่มีการสวดมนต์และมีสายสิญจน์วางไว้บนหัว พร้อมอาเจียนออกมาเป็นสีดำ หรือมีท่าทางแข็งกร้าวจนใครต่อใครก็หวาดกลัว ขณะกำลังทำพิธีขับคุณไสย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นอาการของคนโดนคุณไสย มนต์ดำ หรือ ถูกสิง และแสดงอาการต่อต้านจากการถูกขับไล่                                                   

Story: Pornnapat W. 

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ ถอดรหัส พิธีกรรมความเชื่อสุดหลอน จากหนัง "ร่างทรง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook