The Death of Mr. Lazarescu ความตายของนาย ลาซาเรสคู และคนป่วยในระบบที่ป่วยกว่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Death of Mr. Lazarescu ความตายของนาย ลาซาเรสคู และคนป่วยในระบบที่ป่วยกว่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Death of Mr. Lazarescu ความตายของนาย ลาซาเรสคู และคนป่วยในระบบที่ป่วยกว่า โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสังคมที่ไม่เท่าเทียม ที่สิทธิของประชาชนไม่เท่ากัน ที่การเข้าถึงบริการของรัฐไม่ทั่วถึง สังคมที่คนใจดีถูกกลืนโดยระบบอันไร้หัวใจ สังคมเช่นนี้อาจทำร้ายคนสุขภาพดีและถึงขั้นฆ่าคนป่วยไข้ให้ตายได้ ผู้เขียนพูดถึงประเทศโรมาเนีย แต่ถ้าจะคิดเลยไปถึงประเทศอื่นด้วยก็คงไม่เป็นไร

สถานการณ์ทางสาธารณสุขของบ้านเราทำให้นึกถึงหนังเรื่อง The Death of Mr. Lazarescu หนังดังของโรมาเนียเมื่อปี 2005 โดยผู้กำกับคริสตี้ ปิว ออกฉายครั้งแรกที่เทศกาลเมืองคานส์ท่ามกลางความตื่นเต้นของนักวิจารณ์ ที่ต่างยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังจากกลุ่ม Romanian New Wave ที่ดีที่สุด (ตอนนี้สามารถชมได้ใน Netflix)

The Death of Mr. Lazarescu เล่าพลอตได้ง่ายๆ แต่เป็นพลอตที่ฟังแล้วจี้ใจดำในช่วงเวลานี้มาก หนังพูดถึงนายลาซาเรสคู คนแก่ที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในอพาร์ทเมนท์ในกรุงบูคาเรสท์ นายลาซาเรสคูล้มป่วยและเรียกรถพยาบาลมารับ เมื่อรถมาถึงตอนดึก บุรุษพยาบาลพาเขาตระเวนไปตามโรงพยาบาลในเมืองหลวง แต่ทุกโรงพยาบาลไม่ยอมรับเขาเข้ารักษา นายลาซาเรสคูต้องทำตามระเบียบ ต้องกรอกฟอร์ม ต้องเซ็นชื่อ ต้องฟังพยาบาลบ่น ก่อนจะถูกปฏิเสธว่ารับเขาเป็นคนไข้ไม่ได้ด้วยสาเหตุอันลึกลับซับซ้อนต่างๆ และเขาต้องกลับขึ้นรถพยาบาลไปหาโรงพยาบาลอื่น เป็นเช่นนี้เรื่อยไปเป็นวังวนแห่งความทุกข์ยากจนเวลาล่วงเลยและอาการของเขาแย่ลงๆ

หนังเรื่องนี้มีความยาวเกือบสี่ชั่วโมง (แต่คนดูคงไม่สะเทือน เพราะเดี๋ยวนี้เราดูซีรีส์กันสิบกว่าชั่วโมงในหนึ่งวันยังไม่ยี่หระ) ทุกนาทีในหนังเราเห็นนายลาซาเรสคู (แสดงโดยอิออน เฟสคิวเทนู) ค่อยๆ สูญเสียพลังชีวิต หลุดลอยออกจากโลกของความเป็นจริง ราวกับการเดินทางตระเวนและอ้อนวอนหาโรงพยาบาลของเขาคือการดำดิ่งสู่นรก โดยมีบุรุษพยาบาลเป็นไกด์ ซอกซอนไปตามถนนยามดึกและเข้าไปในโรงพยาบาลที่ดูซอมซ่อ เต็มไปด้วยพยาบาลสาวท่าทางใจดีแต่ไม่สามารถช่วยคนป่วยได้เพราะระบบที่พวกเขาทำงานอยู่นั้นป่วยเสียยิ่งกว่านายลาซาเรสคู

หนังไม่ได้วิจารณ์หรือด่าบุคลากรทางสาธารณสุข แต่วิจารณ์ระบบอันทับถมไปด้วยระเบียบราชการและความใจแคบ จนแม้แต่คนทำงานก็แทบหายใจไม่ออก อย่าว่าแต่คนป่วยเลย (เมื่อหนังออกฉาย มีหมอคนหนึ่งในโรมาเนีย เขียนโพสต์ออนไลน์ว่า ความเป็นจริงในโรงพยาบาลย่ำแย่กว่าที่หนังแสดงให้เห็นหลายเท่านัก)
ยิ่งฟังยิ่งคุ้นทีเดียว

The Death of Mr. Lazarescu อ้างอิงจากเรื่องจริงที่คนไข้ถูกปฏิเสธโดยโรงพยาบาลหลายแห่ง จนกระทั่งถูกทิ้งไว้ริมถนนจนเสียชีวิต หนังเรื่องนี้หากเพียงแค่ฟังเรื่อง ดูเหมือนเป็นหนังหดหู่ไร้ความหวัง ซึ่งก็มีส่วนจริง แต่หนังโรมาเนีย (และหนังยุโรปตะวันออกหลายๆ เรื่อง) เคลือบความหดหู่และการวิพากษ์วิจารณ์ระบบรัฐไว้ภายใต้ลีลาตลกร้าย ความ absurd หรือความไร้สาระของการมีชีวิตภายใต้ระบบราชการเป็นเชื้อชั้นดีต่อมุขตลกที่ไม่ต้องพยายามทำให้ตลก ความขำขื่นที่ทั้งชวนหัวเราะและน่ากลัวเพราะมีชีวิตเป็นเดิมพัน หัวเราะเสร็จก็อาจจะตายได้เลยอะไรแบบนั้น ผู้กำกับคริสตี้ ปิว ไม่ได้เน้นสร้างดราม่า ไม่เร่งเร้า ไม่พยายามขับเน้นความไร้ประสิทธิภาพของระบบโรงพยาบาล ไม่ทำให้ใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เขาเพียงแค่จ้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่วางตา และปล่อยให้นายลาซาเรสคู พาคนดูไปเห็นสภาพความจริงที่ทำให้เราต้องแค่นหัวเราะและขนลุกขนพองไปพร้อมกัน

คริสตี้ ปิว เป็นหนึ่งในผู้กำกับโรมาเนียที่ก้าวขึ้นมาโด่งดังในวงการหนังโลกช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ผู้กำกับเหล่านี้เติบโตขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวก่อนและหลังระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ล่มสลาย และมักทำหนังที่พูดถึงมรดกทางความคิด การเมือง และวัฒนธรรมที่ระบอบอันกดขี่ดังกล่าวยังคงส่งผลต่อเนื่องในการใช้ชีวิตของประชาชน สไตล์ของคนทำหนังโรมาเนียรุ่นนี้เป็นแบบ realism คือการแสดงภาพความจริงแบบตรงไปตรงมา (โดยไม่ใช่สารคดี) และปล่อยให้ความแปลกประหลาด ความย้อนแย้ง และความไร้สาระของระบบแสดงตัวตนของมันออกมาเอง หนังโรมาเนียดังๆ ในยุคนี้มีเรื่องอื่นเช่น 4 Months 3 Weeks and 2 Days ที่พูดถึงผู้หญิงที่พยายามหาทางทำแท้งนอกกฎหมาย และ 12:08 East of Bucharest ที่พูดถึงการลุกฮือโค่นล้มเผด็จการนิโคไล เชาเชสคู

The Death of Mr. Lazarescu เคยดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนในประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ที่ราวกับจะไม่เชื่อมโยงกับคนดูที่อื่น ไม่น่าเชื่อว่าสิบกว่าปีผ่านไป หนังเรื่องนี้กลับเล่าเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากเหลือเกิน จนแทบจะเอามารีเมคเป็นหนังไทยได้เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook