Tokyo Monogatari: ลำนำโตเกียว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Tokyo Monogatari: ลำนำโตเกียว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Tokyo Monogatari: ลำนำโตเกียว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พ่อแม่วัยชราเดินทางมาเยี่ยมลูกๆ ในกรุงโตเกียว แต่เพราะลูกๆ มีชีวิตอันวุ่นวายด้วยการงานและภาระ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ ไม่ช้าสองผู้เฒ่าเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และอีกไม่นานผู้เป็นแม่เสียชีวิต ทำให้ถึงคราวที่ลูกๆ ต้องเดินทางไปหาบุพการีบ้าง แต่เป็นการเดินทางเพื่อไปร่วมงานศพ บอกลาแม่เป็นครั้งสุดท้าย

เนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีดรามาพลุ่งพล่าน ไม่มีการบีบคั้นอารมณ์ Tokyo Monogatari หรือ Tokyo Story ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งตลอดกาล (ในโพลของนิตยสาร Sight & Sound ที่ทำทุก 10 ปี และถือว่าเป็นโพลที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลกเพราะทำติดต่อกันมาหลายทศวรรษ Tokyo Story ถูกโหวตอยู่ในอันดับ 3) หนังญี่ปุ่นคลาสสิกโดยผู้กำกับ ยาสึจิโร โอสุ เรื่องนี้จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งที่ผู้ชมในกรุงเทพฯ จะได้ชมงานอมตะเรื่องนี้บนจอใหญ่

ความดีงามของ Tokyo Story ถูกพูดถึง ซึมซับ วิเคราะห์ และถอดส่วนประกอบ โดยผู้ชม นักวิจารณ์ และนักวิชาการภาพยนตร์ มาหลายสิบปี ตั้งแต่หนังออกฉายครั้งแรกในปี 1953 จนผู้เขียนคงไม่สามารถทบทวนได้หมดภายในเนื้อที่อันจำกัด ในช่วงแรกที่หนังออกฉาย คนในแวดวงภาพยนตร์ญี่ปุ่นไม่เชื่อว่าหนังของ โอสุ เรื่องนี้จะถูกใจผู้ชมนอกประเทศตัวเอง เพราะเชื่อว่านี่เป็นหนังที่ “มีความญี่ปุ่น” แบบที่คนต่างวัฒนธรรมคงไม่อาจเข้าใจเข้าถึง แต่สุดท้ายด้วยการผลักดันของนักวิจารณ์ที่ศรัทธาในไฮกุของภาพยนตร์เช่นนี้ โดยเฉพาะนักวิจารณ์อเมริกัน โดนัลด์ ริทชี่ Tokyo Story จึงถูกเผยแพร่และกลายเป็นหนังญี่ปุ่นที่กลายเป็นตัวแทนของความรู้สึกสากลที่เข้าถึงคนทั้งโลก ด้วยประเด็นความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว ความเปราะบางของชีวิตยุคใหม่ และความรัก ความผูกพันธ์ที่ไม่อาจถูกแสดงออกได้เต็มที่ด้วยเงื่อนไขของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

ในแง่รูปแบบสุนทรียศาสตร์ Tokyo Story ทำให้คนดูต่างชาติสัมผัสความเรียบง่ายของศิลปะญี่ปุ่น (จะบอกว่าความ Zen หรือความไฮกุ ก็พอได้ ถ้าเปรียบเทียบแบบคนสมัยใหม่ ก็ต้องบอกว่าคล้ายๆ “ความมูจิ”) โอสุใช้ภาษาหนังที่ไม่หวือหวา กล้องที่แช่นิ่งๆ จับภาพตัวละครในระดับสายตา เหมือนคนนั่งคุยกันในบ้านแบบญี่ปุ่น และมักใช้ภาพสิ่งของ บ้านเรือน หรือสิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่มีความหมายในเชิงศัญลักษณ์ใดๆ เพื่อแบ่งจังหวะ เปลี่ยนฉาก หรือพักสายตาคนดู ส่วนการแสดงก็ไม่จัดจ้าน ตัวละครพูดสนทนากันปกติแต่ภายในกลับซุกซ่อนความกังวล ว้าวุ่น และความผิดหวังเอาไว้ (แน่นอนว่าโอสุใช้วิธีการนี้ไม่ใช่แค่แต่ในเรื่อง Tokyo Story แต่ในหนังแทบทุกเรื่องของเขา บางเรื่องอาจจะทำให้ซาบซึ้งกว่า Tokyo Story ด้วยซ้ำ)

Tokyo Story อยู่ในใจคนดูมากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความโด่งดังของหนังที่แพร่กระจายไปทั่วโลกมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของโอสุ  อีกส่วนหนึ่งเพราะผู้เขียนเชื่อว่า ถึงแม้หนังของโอสุแทบทุกเรื่อง พูดถึงประเด็นครอบครัวและความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ลูกสะใภ้ Tokyo Story กินใจตรงที่หนังว่าด้วยสังคมที่กำลังพลิกโฉมหลังสงครามโลก ภาวะใหม่ทำให้ลูกๆ ต้องทำงาน ต้องออกนอกบ้าน ต้องพุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่นๆ นอกจากพ่อแม่ตัวเอง จนโครงสร้างของครอบครัวแบบญี่ปุ่น (หรือแบบเอเชีย) ดั้งเดิมที่มีมาก่อนหน้าต้องถูกสั่นคลอน และอาจถึงขั้นล่มสลาย โอสุไม่ได้โหยหาภาพครอบครัวสุขสันต์แบบประเพณีนิยม ไม่ได้ก่นด่าโลกชนชั้นกลางสมัยใหม่ที่คนต้องทำงาน ไม่เลย ตรงกันข้าม การแสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานเข้ามาแบบที่คนในสังคมเองก็แทบไม่รู้สึก และความพยายามของคนที่จะรักษาเส้นใยความสัมพันธ์เอาไว้ กลายเป็นสิ่งที่สะเทือนใจ เศร้าสร้อยเจือด้วยความหวังลึกๆ และถึงแม้ว่าจะผ่านไปเกือบ 70 ปีหลังหนังออกฉาย ความรู้สึกเช่นนั้นยังคงมีอยู่ในหนัง

ผู้ชมชาวไทยอาจคุ้นเคยกับหนังคลาสสิกญี่ปุ่นของ อาคิระ คูโรซาว่า อย่าง Seven Samurai หรือ Yojimbo แต่หากไม่เคยดูหนังของ โอสุ นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะได้สัมผัสหนังญี่ปุ่นที่ละเอียดอ่อนในความรู้สึก และคงความอมตะไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ Tokyo Monogatari: ลำนำโตเกียว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook