วิธีแยกขยะที่ญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยว

วิธีแยกขยะที่ญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยว

วิธีแยกขยะที่ญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้แม่บ้านเมกุโระมีวิธีทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นในกรณีที่พัก AirBnB หรือบ้านโฮสท์มาฝาก นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ คงจะปวดหัวมึนตึ้บเป็นแน่แท้เมื่อโฮสท์เจ้าของห้องพักบอกว่า “ทิ้งขยะด้วยนะ” แล้วต้องทำอย่างไรล่ะเนี่ย? ระบบการทิ้งขยะแบบไทยเหมือนญี่ปุ่นไหม? ไปดูกันเลย


ทิ้งสุ่ม ๆ ไม่ได้นะเออ

ทิ้งสุ่ม ๆ ไม่ได้นะเออ

การทิ้งขยะในญี่ปุ่นต้องมีการแยกประเภทของขยะ จัดการขยะให้เรียบร้อย คนเก็บไปแล้วพร้อมรีไซเคิลเลย และต้องทิ้งให้ถูกวันด้วย แถมยังต้องทิ้งก่อนเวลาที่รถเก็บขยะมาเก็บด้วย หากเอามาทิ้งผิดวัน ขยะก็จะถูกกองไว้ตรงนั้น นอกจากจะโดนผู้ดูแลหอพักด่าแล้ว ยังอาจโดนเพื่อนบ้านสาปแช่งลับหลังอีกด้วย 

จำนวนประเภทของการแยกขยะแต่ละเมืองของญี่ปุ่นนั้นมีระบบไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ 

ขยะเผาได้ (เช่น เศษอาหาร)
ขยะเผาไม่ได้
ขยะรีไซเคิล
(เช่น ขวดเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ) 
ขยะที่มีขนาดใหญ่
(เช่น เฟอร์นิเจอร์) 

มีบางเมืองต้องแยกขยะถึง 22 ประเภทด้วยกัน! แต่เอาเป็นว่าวันนี้ เราไปดูประเภทของขยะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องพบเจอกันก็พอ อย่างในรูปคือเวลาทิ้งขยะผิดวันจะโดนใบเตือนแบบนี้ และโฮสท์คงจะสาปแช่งคุณอย่างแน่นอน (แปลว่า ขยะเผาไม่ได้ ไม่สามารถเก็บได้ กรุณาทิ้งตรงตามวัน)

① ขยะเผาได้ (燃やすごみ)

① ขยะเผาได้ (燃やすごみ)

คือขยะทั่วไป มักจะเป็น เศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหาร ถุงพลาสติก เศษกระดาษชิ้นเล็ก ที่คัดของที่รีไซเคิลได้ออกไปแล้ว 

วิธีกำจัดขยะ : ขยะประเภทนี้สามารถใส่ถุงรวมกันแล้วมัดให้สนิทได้เลย ในกรณีที่เป็นเศษอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนผสมให้กรองเนื้อกับน้ำออกจากกัน แล้วนำเศษอาหารที่กรองได้ใส่ถุงซ้อน 2 ชั้นเพื่อกันน้ำไหลหกออกจากถุง

② ขยะเผาไม่ได้ (燃やさないごみ)

② ขยะเผาไม่ได้ (燃やさないごみ)

คือขยะที่ต้องใช้ความร้อนในการเผาที่สูงมาก หรือเป็นขยะมีพิษ และขยะที่ต้องมีวิธีกำจัดแบบพิเศษที่ไม่ใช่การเผา เช่น ถ่านหรือแบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก โลหะ เศษแก้วแตก หรือเซรามิก

วิธีกำจัดขยะ : 
1 ) ถ่านหรือแบตเตอรี่ใส่ถุงเล็กแยกต่างหาก 
2 ) เศษแก้วแตกควรหากระดาษห่อและติดเทปให้แน่นหนา เขียนบนห่อเตือนไว้ด้วยว่า Glass / Ceramic หรือถ้าสามารถเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ให้เขียนคำว่า キケン (อันตราย) ガラス (แก้ว) セラミック (เซรามิก)
3 ) ส่วนขยะที่เหลืออื่นๆ ใส่ถุงเดียวกันและมัดให้เรียบร้อย

③ ขยะรีไซเคิล (資源)

③ ขยะรีไซเคิล (資源)

ขยะแบบนี้คนญี่ปุ่นเรียกอีกอย่างว่า Shigen (資源) แปลว่าทรัพยากร เพราะเป็นทรัพยากรมีค่าที่นำไปหลอมเพื่อใช้ใหม่ได้ไม่ยาก เช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มหรือขวดเครื่องปรุงต่างๆ กระป๋องอลูมิเนียม (缶) ขวดแก้ว (びん) ขวดพลาสติก (ペットボトル) เป็นต้น

วิธีกำจัดขยะ :
1 ) แยกฝาพลาสติกและแกะฉลากพลาสติกออกจากขวด (ตามประเภทขวด)
2 ) เทน้ำที่กินเหลือทิ้งให้หมด ล้างด้านในขวดหรือกระป๋องด้วยน้ำสะอาด
3 ) บีบหรือเหยียบให้แบน เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะของทางเขต (ประเภทกระป๋องและขวดพลาสติก)
4 ) ใส่ถุงแยกเป็น 3 ถุง กระป๋องอลูมิเนียม / ขวดแก้ว / ขวดพลาสติก มัดให้เรียบร้อย

④ กระดาษหรือกล่องใช้แล้ว (古紙)

④ กระดาษหรือกล่องใช้แล้ว (古紙)

ขยะอย่างกระดาษ หนังสือพิมพ์ โบรชัวร์ นิตยสาร กล่องรองเท้า กล่องขนม กล่องทิชชู่ กล่องนม

วิธีกำจัดขยะ : 
1 ) กระดาษอย่างหนังสือพิมพ์ โบรชัวร์ นิตยสาร นำมารวบรวมเป็นกองเดียวและมัดด้วยเชือกฟางหรือใส่ถุงพลาสติก
2 ) กล่องกระดาษต่างๆ รวมถึงลูกฟูก อย่างกล่องรองเท้า กล่องขนม กล่องทิชชู่ ให้คลี่กล่องออกมาจนเป็นแผ่น มัดรวมกันแยกเป็นอีกกอง 
3 ) สำหรับกล่องนม น้ำผลไม้ หรือกล่องที่ใส่ของเหลว ต้องล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตากให้แห้ง และมัดรวมกันแยกเป็นอีกกอง

ควรทิ้งขยะตรงไหน?

ควรทิ้งขยะตรงไหน?

ในกรณีที่ห้องพักเป็นแบบอพาร์ตเมนต์ ส่วนใหญ่ด้านหน้าตึกหรือชั้น 1 ของอพาร์ตเมนต์จะมีที่สำหรับวางถุงขยะ หรือเป็นถังเหล็กแสตนเลสขนาดใหญ่มีฝาเปิดปิดได้ ในกรณีถ้าเป็นบ้านพักสามารถวางไว้บนถนนหน้าบ้านได้เลย ถ้าวันทิ้งขยะเห็นแต่ละบ้านมีถังขยะใหญ่บ้างเล็กบ้างวางไว้ตามหน้าบ้านอย่านำขยะไปทิ้งนะ เพราะเป็นถังขยะส่วนตัวของบ้านนั้นๆ เพื่อรอรถขยะมาเก็บ แต่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อความสวยงาม คนญี่ปุ่นบางบ้านจึงใส่ขยะในถังใหญ่ (ทั้งที่จริงวางเป็นถุงๆ คนเก็บขยะเก็บง่ายกว่านะ)

วันและเวลาที่ทิ้งขยะสังเกตอย่างไร?

วันและเวลาที่ทิ้งขยะสังเกตอย่างไร?

ทุกๆ ละแวกพื้นที่มีการกำหนดวันและเวลาในการเก็บขยะไม่เหมือนกัน ให้สังเกตป้ายบริเวณโถงกลางของอาคาร หรือป้ายตามเสาไฟบริเวณใกล้ๆ ที่พัก โดยวันภาษาญี่ปุ่นแปลเป็นภาษาไทยดังนี้

月 วันจันทร์
火 วันอังคาร
水 วันพุธ
木 วันพฤหัสบดี
金 วันศุกร์
土 วันเสาร์
日 วันอาทิตย์

ส่วนเวลาจะเป็นเวลาที่รถขยะมาเก็บโดยคร่าวๆ ควรวางก่อนรถขยะมา 1 ชั่วโมง หรือถ้าต้องออกจากที่พักก่อนก็สามารถวางในตอนเช้าๆ ของวันนั้นได้เลย

ถาม-ตอบข้อสงสัย

Q : แล้วหากต้องย้ายหรือออกจากที่พักก่อนวันทิ้งขยะล่ะ?
A : บางคนอาจจะอยู่ไม่ถึงวันที่ทิ้งขยะ ข้อนี้ความเห็นส่วนตัวคิดว่าถ้าจัดการแยกขยะไว้ในห้องพักให้เรียบร้อยก่อนที่จะเช็คเอาท์หรือออกจากที่พัก โฮสท์หรือเจ้าของห้องคงจะปลาบปลื้มใจอยากให้คนไทยมาพักอีกแน่นอน

Q : ถังทิ้งขยะตามร้านสะดวกซื้อ สถานที่ท่องเที่ยว หรือจุดพักรถ ให้ทิ้งอย่างไร?
A : ทิ้งได้เลยโดยไม่ต้องแกะฉลาก แต่ให้แยกวัสดุตามถังที่ระบุไว้

สามารถเข้าไปดูข้อมูลการทิ้งขยะของแต่ละท้องที่ในโตเกียวได้ตามลิงค์ jptips.itp.ne.jp (เป็นภาษาอังกฤษ)


ระบบกำจัดขยะในประเทศญี่ปุ่นดูยุ่งยากซับซ้อนก็จริง แต่ทั้งนี้ก็เพื่อลดมลภาวะทางขยะ โดยการนำขยะที่รีไซเคิลได้ไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้สามารถลดการเกิดขยะได้มากมหาศาล และช่วยลดภาวะโลกร้อน แถมเป็นการฝึกระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงๆ ใครติดใจวิธีการแยกขยะจากประเทศญี่ปุ่นลองนำไปทำที่ไทยกันดู ขยะรีไซเคิลสามารถนำไปชั่งกิโลขายได้เงินด้วยนะ ช่วยรักษาโลกใบนี้โดยเริ่มทีละเล็กทีละน้อยด้วยมือเรานี่แหละ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook