รวมเทคนิควิธีการขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่น

รวมเทคนิควิธีการขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่น

รวมเทคนิควิธีการขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครขึ้นรถไฟญี่ปุ่นเป็นแล้ว แต่อยากฝึกฝีมือ เพิ่มความสามารถ มาดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการนั่งรถไฟแบบคนญี่ปุ่นกัน ทั้งเรื่องการดูป้าย การอ่านตารางเวลา สิ่งต่างๆ ที่รู้แล้วทำให้เราถึงที่หมายได้เร็วและง่ายขึ้นเยอะอีกนะ

ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งรถไฟเลยก็ว่าได้ เพราะมีหลายสายครอบคลุมทั้งประเทศ มีหลากหลายแบบ ผสมผสานกับความเป็นคนละเอียดอ่อนและใส่ใจรายละเอียดของคนญี่ปุ่น จึงทำให้ภายในความธรรมดามีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ ให้เราได้ทึ่งอยู่เรื่อยๆ 

เชื่อว่าหลายคนขึ้นรถไฟเป็นแล้ว สามารถเดินทางไปจุดหมายได้ไม่ยาก แต่หากใครสามารถนำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สถานีรถไฟของญี่ปุ่นได้ออกแบบไว้มาใช้ประโยชน์ได้ล่ะก็ จะทำให้เปลี่ยนรถ ขึ้นลงได้เป๊ะยิ่งขึ้น การตกรถหรือไปสายจะเป็นอดีตแน่นอน ติดตามอ่านกัน

วิธีการอ่านหมายเลขตู้รถไฟ

วิธีการอ่านหมายเลขตู้รถไฟ

หลายคนคงเคยดูอนิเมะหรือละครญี่ปุ่น ที่พระเอกนางเอกนัดกันบนรถไฟ พอถึงสถานีปุ๊บ ประตูรถไฟเปิดมา พระเอกก็จ๊ะเอ๋มาเจอนางเอกในขบวนรถไฟได้พอดี ตอนมาแลกเปลี่ยนก็อึ้งมากเพื่อนหาเราเจอในโบกี้พอดีได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วง่ายนิดเดียว เพียงอ่านป้ายด้านบนเราก็จะรู้ว่าเราอยู่ตู้ไหน ประตูที่เท่าไหร่

เช่นจากภาพด้านบน
1号車 หมายถึง รถตู้แรก หมายเลข1
2番ドア หมายถึงประตูที่ 2 ของตู้นั้นๆ นั่นเอง 

ทีนี้ใครจะนัดหนุ่มๆ ให้เปิดประตูรถไฟมาเจอกันเลยเหมือนในละคร ก็รู้วิธีทำแล้วนะ 

ถ้าอ่านป้ายนี้เป็น จะไม่ต้องเดินไกล!

ถ้าอ่านป้ายนี้เป็น จะไม่ต้องเดินไกล!

มาญี่ปุ่น เราก็ต้องเดิน เดิน เดิน หลายคนที่เคยมาคงเคยบ่นอุบว่าเมื่อยเท้าไปหมด แต่ไม่เป็นไรครั้งนี้เรามีเคล็ดลับ ป้ายนี้คือป้ายที่แสดงว่าตอนนี้เราอยู่ที่สถานีไหน ตู้ที่เท่าไร และถ้าเราจะไปยังสถานีที่เป็นจุดหมายเราควรขึ้นตู้ไหนถึงจะเดินใกล้ที่สุด บรรยายไปก็ดูงงใช่ไหม เราไปดูตัวอย่างกันเลย 

เช่นจากภาพ กรอบและเครื่องหมายคำพูดสีน้ำเงินแสดงให้เห็นว่าตอนนี้เรากำลังอยู่สถานี Wakamatsu-kawada E03 ตู้ที่ 1 

ถ้าเราต้องการไปช้อปปิ้งที่สถานี Shinjuku-nichiguchi หรือ สถานี E01 โดยที่อยากจะออกทางออก A5 และเดินขึ้นบันไดเลื่อนไม่ไกล ก็ให้เราเลือกนั่งตู้ที่ 2 เพราะมันใกล้บันไดเลื่อนและใกล้ทางออก A5 มากที่สุด (มีสัญลักษณ์บันไดเลื่อน ห้องน้ำ และหมายเลขทางออกกำกับอยู่) เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราประหยัดเวลาในการเดิน ไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องหลง เหลือเวลาไปช้อปปิ้งเพลินๆ ได้สบายๆ

การอ่านตารางเวลา นัดใครไว้ไม่พลาดแน่นอน

การอ่านตารางเวลา นัดใครไว้ไม่พลาดแน่นอน

คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ตรงเวลามากๆ เผื่อมีนัดกับเพื่อนคนญี่ปุ่น เช็คเวลาเดินรถไฟไว้ก่อนก็อุ่นใจดี 

วิธีการอ่านเวลาก็ง่ายๆ ด้านซ้าย (สีน้ำเงิน) เป็นเวลาทำการของวันธรรมดา ส่วนด้านขวา (สีแดง) เป็นเวลาทำการในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยแถบสีดำตรงกลางหมายถึงชั่วโมง ส่วนเลขตัวเล็กๆ สองข้างตาราง หมายถึงนาที

ตัวอย่างเช่น หากอยากรู้รถขบวนแรกและสุดท้าย เราจะทราบว่ารถไฟเที่ยวแรกของทั้งวันธรรมดาและวันหยุดคือเวลา 05.18 น. และเที่ยวสุดท้ายของวัน (เลข 0 แถวล่างสุด) ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดคือเวลา 00.35 น. 

ส่วนถ้าอยากดูเวลาว่าคันต่อไปมาเมื่อไหร่ ก็ลองหาดูตามเวลานั้นๆ เช่นถ้าตอนนี้เป็นวันจันทร์เวลา 08.00 น. ให้ลองดูบรรทัดที่สี่ด้านซ้าย จะเห็นได้ว่าคันต่อไปที่จะมาคือเวลา 08.02 น. นั่นเอง

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้อง และคนป่วย

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย

ตู้นี้จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปผู้สูงอายุ คนท้องหรือผู้ป่วย หรือรถไฟบางสายก็จะมีสัญลักษณ์สีฟ้าหรือหัวใจสีแดงเหมือนดังภาพด้านบน ตู้โบกี้นี้เป็นที่นั่งเฉพาะที่จัดให้คุณตาคุณยาย ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเด็กเล็ก มีรถเข็น หลายคนที่เคยมาเที่ยวญี่ปุ่นคงแปลกใจและสงสัยว่า ทำไมที่ญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยเห็นคนลุกยืนให้ผู้สูงอายุ เพราะว่าคนญี่ปุ่นถือว่าทางรถไฟได้จัดที่นั่งให้ไว้แล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องไปนั่งในที่ของตนเอง นี่ก็เป็นวิธีคิดอีกแบบที่ไม่เหมือนบ้านเรา วิธีการสังเกตง่ายๆ ก็คือ การดูที่ป้ายตรงฉากกั้นประตูรถไฟแบบดังภาพนั่นเอง

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้อง และคนป่วย (ต่อ)

การสังเกตที่นั่งผู้สูงอายุ คนท้องและคนป่วย (ต่อ)

หรือถ้าสถานีรถไฟนั้นไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าวตรงที่กั้นประตู ก็ให้สังเกตที่พื้นบริเวณที่เราต่อแถวจะมีสัญลักษณ์ผู้สูงอายุ คนท้อง คนป่วยอยู่ ดังนั้นใครมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วพาคุณพ่อคุณแม่หรือมีรถเข็นเด็กก็สามารถเลือกนั่งโบกี้นี้ได้ตั้งแต่ต่อแถวรอรถไฟเลย จะช่วยให้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเดินหาที่นั่งภายในตู้ที่คนเบียดเสียด (และอาจจะไม่มีที่นั่งสำหรับคนท้อง)

โบกี้ผู้หญิง

โบกี้ผู้หญิง

รถไฟในโตเกียวอัดแน่นเหมือนปลากระป๋อง โดยเฉพาะตอนเช้า เหล่าลุงๆ ซาลารี่แมน (พนักงานบริษัท) ก็เพียบ อาจทำให้ผู้หญิงไม่สะดวกในการนั่งรถไฟ ดังนั้นวิธีจัดการกับปัญหาง่ายๆ ที่ญี่ปุ่น เขาก็เลยจัดโบกี้พิเศษสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะไปเลย แต่เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเท่านั้นนะ เช่นเวลา 7-9 โมงเช้า (แล้วแต่สายรถไฟ แตกต่างกันไป) 

นักท่องเที่ยวอย่างเรา กระเป๋าสัมภาระมากมาย ทางที่ดีหลีกเลี่ยงการเดินทางชั่วโมงเร่งด่วน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ (โดยเฉพาะหนุ่มๆ) ก็สังเกตป้ายชมพูๆ ดังกล่าว จะได้ไม่หลงไปโบกี้ผู้หญิงนะ

ปุ่มฉุกเฉิน

ปุ่มฉุกเฉิน

หลายคนคงได้ยินข่าว คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายโดยการโดดรถไฟกันเยอะ เผื่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เกิดแจ็คพอตอยู่ในเหตุการณ์ระทึกขวัญดังกล่าวหรือเกิดมีใครหน้ามืดเป็นลม ก็ให้กดปุ่มแดง ปุ่มฉุกเฉินแล้วรถไฟก็จะหยุดวิ่งเพื่อความปลอดภัยในเวลาฉุกเฉินนั่นเอง

เพลงแต่ละสถานี

หากใครสังเกตดีๆ แต่ละสถานี จะมีเพลงที่เปิดเป็นสัญญาณเตือนก่อนประตูรถไฟปิดที่แตกต่างกัน ฟังไปฟังมามันก็เพราะเหมือนกันนะ ลองสังเกตดู หลายคนเห็นลุงญี่ปุ่นนั่งสัปหงกบนรถไฟ แต่ไหนตื่น ลุกขึ้นเด้งออกจากรถไฟเมื่อถึงสถานีเป้าหมายได้อย่างมหัศจรรย์ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าลุงๆ เขาจำเสียงสถานีที่เขาอยากลงได้ยังไงล่ะ (นับถือ สกิลสูงจริงๆ) ลองฟังกันดู มีเพลงต่างๆ กันไป เกือบจะทุกสถานีเลย ละเอียดจริงๆ คนญี่ปุ่นเนี่ย

เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ยกับเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของรถไฟญี่ปุ่นในครั้งนี้ ใครมาญี่ปุ่นก็ลองสังเกตดู เพราะทำให้สามารถนั่งรถไฟได้สะดวกขึ้น และถึงที่หมายได้โดยเหนื่อยน้อยลง แต่จริงๆ แล้วรถไฟญี่ปุ่นยังมีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจที่คนญี่ปุ่นได้ออกแบบไว้มากมายนะ เอาไว้เป็นไอเดียดีๆ เผื่อสักวันเมืองไทยเราจะเอาไปปรับใช้บ้างเนอะ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook