รู้จักกับระบบกล้องแบบ Full Focus (Fixed Focus) มีดีอย่างไร มือถือ หลายรุ่นจึงเลือกใช้

รู้จักกับระบบกล้องแบบ Full Focus (Fixed Focus) มีดีอย่างไร มือถือ หลายรุ่นจึงเลือกใช้

รู้จักกับระบบกล้องแบบ Full Focus (Fixed Focus) มีดีอย่างไร มือถือ หลายรุ่นจึงเลือกใช้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จักกับระบบกล้องแบบ Full Focus (Fixed Focus) มีดีอย่างไร มือถือ หลายรุ่นจึงเลือกใช้

เป็นคำถามที่ค้างคาใจใครหลายคนเลยทีเดียว โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์ สมาร์ทโฟน แบรนด์ โนเกีย ว่าเหตุใด โนเกีย จึงไม่ใส่ ระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ (Auto Focus) มาให้กับกล้องดิจิตอลของ สมาร์ทโฟน รุ่นใหม่หลายๆ รุ่น ทั้งๆ ที่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของ โนเกีย ซึ่งรุ่นเหล่านี้ก็มักจะถูกยกไปเปรียบเทียบกับ สมาร์ทโฟน รุ่นขึ้นหิ้งอย่าง Nokia N8 ซึ่งได้รับการลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้ใช้ส่วนใหญ่ว่าเป็น โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้ถ่ายรูปได้ยอดเยี่ยมมากที่สุดรุ่นหนึ่งในวงการ และแม้ว่า Nokia N8 เองจะเปิดตัวและวางจำหน่ายมาแล้วกว่า 1 ปี แต่ในปัจจุบันเอง ก็ยังยากที่จะหา โทรศัพท์มือถือ รุ่นใดมาเทียบความสามารถในเรื่องนี้กับ Nokia N8 ซึ่งนั่นเองก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้หลายคนรู้สึกขัดใจกับระบบกล้องดิจิตอลที่มีมาให้บน สมาร์ทโฟน รุ่นใหม่ๆ ว่าเหตุใดทาง โนเกีย จึงไม่นำระบบกล้องที่ยอดเยี่ยมเช่น Nokia N8 ใส่มาให้ด้วย แต่กลับไปนำระบบกล้องอีกรูปแบบหนึ่งที่ โนเกีย เรียกว่าระบบกล้องแบบ Full Focus มาใส่ไว้แทน ระบบนี้มีดีอย่างไร เพราะเหตุใด โนเกีย จึงนำมาใช้งานอย่างจริงจัง

ตัวอย่างของการที่ โนเกีย นำระบบกล้องแบบ Full Focus หรือ Fixed Focus ของตัวเองมาใช้งานอย่างจริงจังที่เห็นได้ชัดล่าสุดก็คือ สมาร์ทโฟน ที่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่าง Symbian Belle ทั้ง 4 รุ่น ได้แก่ Nokia 701, Nokia 700, Nokia 603 และ Nokia 600 ทุกรุ่นนั้นใช้ระบบกล้องแบบ Full Focus ทั้งหมด ดังนั้น จากภาพที่เห็น ก็บอกได้อย่างชัดเจนว่า โนเกีย นั้นมั่นใจในประสิทธิภาพของระบบกล้องแบบ Full Focus เป็นอย่างมาก ซึ่งแต่เดิมโดยส่วนตัวแล้วก็ยังไม่ค่อยมั่นใจนักกับระบบกล้องแบบ Full Focus เฉกเช่นเดียวกับผู้ใช้อีกจำนวนมาก ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะแวะไปศึกษาข้อมูลโดยละเอียดของระบบกล้องแบบ Full Focus และนำมาเผยแพร่ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

ระบบ Full Focus นั้นเป็นชื่อที่ทาง โนเกีย เรียก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะเรียกกันว่าระบบ Fixed Focus นั่นเอง โดยหลักการก็คือ ชิ้นเลนส์และชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบ Full Focus นั้นก็จะถูกล็อกตำแหน่งให้อยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของการโฟกัสภาพได้ โดยในกระบวนการผลิตนั้นชิ้นเลนส์นั้นได้ถูกวิเคราะห์และปรับแต่งตำแหน่งของเลนส์และชิ้นส่วนต่างๆ ไว้ให้เป็นอย่างดี และเหมาะสมที่สุดแล้ว ซึ่งนี่จะไม่เหมือนกับระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ หรือ Auto Focus ที่ชิ้นเลนส์ภายในจะมีการเคลื่อนไหวได้ เพื่อปรับความคมชัดของภาพไปตามตำแหน่งที่ผู้ใช้ต้องการโฟกัส

ภาพชัดทั่วทั้งภาพ ตั้งแต่ระยะใกล้ ไปจนถึงระยะไกลสุดลูกหูลูกตา (ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)

เทคโนโลยีหนึ่งที่ โนเกีย พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า EDoF (Extended Depth of Field) ที่หากแปลให้ตรงตัวก็คือ การขยายขอบเขตของความชัดลึก ซึ่งหากใครที่พอจะคุ้นเคยกับเนื้อหาสาระในวงการกล้องดิจิตอลมาบ้าง ก็น่าจะนึกภาพออก เพราะในวงการกล้องดิจิตอลก็มักจะมีศัพท์เฉพาะว่า ชัดตื้น และ ชัดลึก ให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง คำว่า ชัดตื้น ว่ากันง่ายๆ ก็คือระยะชัดของภาพนั้นจะมีขอบเขตแค่ระยะใกล้ๆ หรือระยะสั้นๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายของนางแบบสาวสวยคนหนึ่งที่มายืนอยู่ใกล้ๆ กับช่างภาพ ซึ่งใบหน้าและตัวแบบนั้นจะมีความคมชัด แต่ในทางตรงกันข้ามรายละเอียดของฉากหลังที่อยู่ห่างออกไปนั้นจะเบลอและมัวกว่ามาก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นข้อดี เพราะการถ่ายภาพในลักษณะนี้ต้องการความ ชัดตื้น เนื่องจากเราต้องการมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบมากเป็นพิเศษนั่นเอง ซึ่งการถ่ายภาพในลักษณะนี้ ระบบกล้องแบบ Auto Focus ก็จะได้เปรียบมากกว่า ส่วนคำว่า ชัดลึก ก็จะแตกต่างออกไป ซึ่งก็มีความหมายตรงตัวเช่นกัน คือระยะชัดของภาพนั้นจะมีขอบเขตมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น รูปภาพของถนนร้างที่มีเสาไฟฟ้าเรียงไปจนสุดลูกหูลูกตา ซึ่งภาพในลักษณะนี้ต้องการให้เสาไฟทุกต้นตั้งแต่เสาไฟที่อยู่ใกล้ ไปจนถึงเสาไฟที่อยู่ไกล มีความชัดเจนทุกต้น ดังนั้นในกรณีนี้ ระบบกล้องแบบ Full Focus หรือ Fixed Focus ซึ่งมีเทคโนโลยี EDoF ก็จะได้เปรียบ โดยสรุปแล้วก็อาจจะถือได้ว่าระบบกล้องแบบ Full Focus กับระบบกล้องแบบ Auto Focus นั้นก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการที่ โนเกีย นำระบบกล้องแบบ Full Focus มาใส่ไว้ใน สมาร์ทโฟน รุ่นใหม่ๆ ก็จะมีข้อดีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเท่าที่ได้ไปสำรวจข้อมูลมาก็สามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้

หมดปัญหาการหลุดโฟกัส และการเบลอ

(ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)

ข้อดีประการแรกของระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือผู้ใช้ไม่ต้องห่วงหรือกังวลว่าในขณะที่ถ่ายภาพ หรือวิดีโอยู่นั้น จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการหลุดโฟกัส โฟกัสไม่เข้าเป้า หรือการเบลอของภาพ เพราะรายละเอียดทุกอย่างจะยังคงชัดเจนเสมอ ตราบใดที่องค์ประกอบต่างๆ ที่เราต้องการในภาพนั้น อยู่ในระยะห่างจากเลนส์กล้องตั้งแต่ 50 เซนติเมตร โดยประมาณ ไปจนถึงระยะอนันต์ โดยไม่ต้องสนใจว่าสภาพแสงจะเป็นอย่างไร หรือองค์ประกอบต่างๆ ภายในภาพจะอยู่ ณ ตำแหน่งไหน หรือใกล้ไกลขนาดไหนก็ตาม ภายในระยะดังกล่าว และสำหรับเทคโนโลยี EDoF ใน สมาร์ทโฟน Symbian รุ่นล่าสุดอย่าง Nokia 701 นั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยี EDoF ยุคที่สองที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกขั้นจากเทคโนโลยี EDoF ยุคแรก เช่น มีความสามารถในการถ่ายภาพระยะใกล้ได้ใกล้มากขึ้น มีความคมชัดขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงประสิทธิภาพโดยรวมในด้านอื่นๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

เทคโนโลยี EDoF ในยุคที่สอง ที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้ถ่ายระยะใกล้ได้คมชัดมากขึ้น (ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)

เทคโนโลยี EDoF ในยุคที่สอง ที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้ถ่ายระยะใกล้ได้คมชัดมากขึ้น (ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)


ชัตเตอร์ไร้ซึ่งการหน่วงเวลา ถ่ายภาพต่อเนื่องได้แบบทันทีทันใด

ข้อดีประการที่สองของระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือไม่มีอาการหน่วงเวลาของการจับภาพแต่ละภาพ สามารถถ่ายภาพถัดไปได้แบบทันทีทันใด ซึ่งแตกต่างจากระบบกล้องแบบ Auto Focus ที่เมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปแล้ว ก็ต้องใช้เวลาประมวลผลมากน้อยแตกต่างกันไป จึงจะสามารถกดชัตเตอร์ถ่ายภาพถัดไปได้ ซึ่งแม้กระทั่งกล้องของ Nokia N8 เอง ที่เป็นระบบ Auto Focus ที่ถือว่าประมวลผลได้เร็วมากๆ แล้ว ก็ยังต้องอาศัยเวลาประมาณ 350 มิลลิวินาที ในการประมวลผล ซึ่งหากให้มาแข่งกันว่าใครจับภาพได้จำนวนมากกว่ากัน หรือใครจับภาพได้เร็วกว่ากัน ฝั่งที่เป็นระบบ Full Focus ก็ย่อมชนะอย่างแน่นอน

รายละเอียดคมชัดทั่วทั้งภาพ ไม่ว่าอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล

ทดสอบการถ่าย ณ สถานที่ซึ่งมีสภาพแสงที่แตกต่างกัน ทั้งสว่างและมืด ก็ถือว่าทำได้ดี (ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)

ข้อดีประการที่สามของระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือ หากนำไปเทียบกับกล้องดิจิตอลทั่วไปที่เป็นระบบ Auto Focus เมื่อจับภาพในมุมมองเดียวกัน แล้วนำภาพที่ได้มาเปรียบเทียบเทียบกัน ก็จะพบว่าสำหรับวัตถุที่อยู่ออกไปไกลๆ นั้น หากเป็นกล้องทั่วไปที่ใช้ระบบ Auto Focus วัตถุที่อยู่ไกลๆ จะเบลอมากกว่าภาพที่ได้จากกล้องแบบ Full Focus ซึ่งแม้ว่าในมุมมองผู้ใช้ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ต้องการให้วัตถุที่อยู่ไกลๆ นั้นชัดเจนมากอยู่แล้ว แต่ทาง โนเกีย ก็เชื่อว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่นั้นต้องการให้รายละเอียดต่างๆ มีความคมชัดทั่วทั้งภาพ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกล

ออกแบบตัวเครื่องได้บางเฉียบมากกว่า


ข้อดีประการที่สี่ของระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือ ผู้ผลิตสามารถออกแบบให้ตัวเครื่องมีความบางเฉียบได้มากกว่า ที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะว่า ชิ้นส่วนต่างๆ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบกล้องแบบ Full Focus นั้นจะมีขนาดที่เล็ก และบางกว่าชิ้นส่วนของระบบกล้องแบบทั่วไป ดังนั้นหากต้องการให้ตัวเครื่องมีดีไซน์ที่บางเฉียบ ซึ่งในปัจจุบันต้องถือว่าตัวเครื่องยิ่งบางก็ยิ่งดี ก็สามารถทำได้ง่ายกว่า

ต้นทุนในการผลิตที่น้อยกว่า ราคาย่อมเยามากขึ้น


ข้อดีประการที่ห้าของระบบกล้องแบบ Full Focus ก็คือ มีต้นทุนในการผลิตน้อยกว่าระบบกล้องแบบ Auto Focus ซึ่งนั่นก็ทำให้ตัวเครื่องนั้นมีราคาที่ย่อมเยามากขึ้น มีราคาที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้ หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ในต้นทุนเท่ากัน แทนที่จะมีต้นทุนจำนวนมากในเรื่องของกล้องดิจิตอล ผู้ผลิตก็จะสามารถประหยัดต้นทุนในเรื่องของกล้องดิจิตอล และใส่ความสามารถในด้านอื่นๆ เข้าไปทดแทนในครื่องรุ่นนั้นๆ ให้ดีขึ้นได้

การถ่ายภาพในเวลากลางคืนก็ถือว่ามีจุดรบกวน (Noise) ไม่มากนัก (ขอบคุณภาพจาก allaboutsymbian.com)

นับข้อดีหลักๆ ได้ถึง 5 ประการ ก็นับว่าไม่ใช่น้อย สำหรับระบบกล้องแบบ Full Focus หรือ Fixed Focus ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไม โนเกีย จึงเลือกใช้ระบบกล้องแบบนี้กับ โทรศัพท์มือถือ หลายๆ รุ่น แทนที่จะใช้ระบบกล้องแบบ Auto Focus ตามกระแสนิยม ดังจะเห็นได้จาก สมาร์ทโฟน Symbian Belle รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่นต่างก็เลือกใช้ระบบกล้องแบบ Full Focus แต่อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานก็ต้องพิจารณา และตัดสินใจกันเองว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีแบบใดระหว่าง Full Focus กับ Auto Focus จึงจะเหมาะสมกับสไตล์การใช้งานของตนเองมากที่สุด เพราะระบบกล้องทั้งสองรูปแบบนี้ต่างๆ ก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน สามารถตอบสนองความต้องการได้แตกต่างกัน และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ สำหรับการถ่ายภาพให้ออกมาสวยนั้น เทคโนโลยีก็เป็นเพียงแค่ตัวช่วยอันดับรองเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองของคนหลังกล้อง หรือตัวท่านนั่นเองครับ

นำเสนอบทความโดย : TMC Editor

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook