รีวิว Nokia 3250
สัดส่วนภายนอก
ดูเหมือนว่ารุ่นนี้จะไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่ จะว่าเพราะเป็นซีรี่ยส์สามก็ไม่ใช่ เห็นลูกเล่นแล้วไม่แพ้ซิมเบียนโฟนของโนเกียตัวไหนเลย รูปร่างก็ดูเป็นเอกลักษณ์ ประมาณว่าเหมาะกับคนชอบฟังเพลงมาก จะเป็นอย่างไรเรามาดูกันครับ
ตัวเครื่องที่มีลักษณะเป็นแท่งเหมือนอิฐนั้นสามารถบิดหมุนตรงส่วนของแผงปุ่มกดด้านล่างให้พลิกกลับมาได้ โดยจะแบ่งเป็นสองจังหวะด้วยกันคือจังหวะแรกหมุนมาเพียงครึ่งเดียว และหมุนต่อไปเพื่อให้แผงควบคุมเครื่องเล่นเพลงมาอยู่ด้านหน้าแทน และอย่าลืมว่ามาทางไหนให้กลับไปทางนั้น ไม่งั้นบิดแรงในทิศทางตรงข้ามมีโอกาสหักได้แน่ ส่วนเรื่องการทำงานขอยกยอดไปไว้ในหัวข้อการชำแหละแล้วกัน
ฮั่นแน่ ยังไม่หมดนะครับ เห็นผู้ผลิตแจ้งว่าช่องเสียบการ์ดของรุ่นนี้เป็นแบบฮ็อท สแว็ป นั่นหมายความว่าเราจะถอดเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องปิดเครื่องแกะแบต แต่ช่องเสียบมันหายากเหลือเกิน สุดท้ายมาเจออยู่ตรงข้อต่อนั่นแหละ รูปร่างและหน้าตาของปุ่มกดแทบจะถอดแบบมาจาก 3230 เป๊ะเลย ซึ่งไม่มีปัญหากับการกดใช้งานอยู่แล้ว ของเดิมเป็นอย่างไรของใหม่ทำได้อย่างนั้น อย่างไรก็ดี ปุ่มที่อยู่ด้านหลังจะมีอยู่ปุ่มนึงที่ใช้เป็นชัตเตอร์ด้วย ดูแล้วก็ทำงานได้ตามปกติ
เลนส์กล้องยังคงทำงานร่วมกับการหมุนแผงปุ่มกดที่กล่าวไปแล้ว เนื่องจากตำแหน่งของมันอยู่ด้านข้าง ในฝั่งตรงข้ามจะเป็นป๊อป พอร์ทและรูเสียบสายชาร์จแบบหัวใหม่ ปิดไว้ด้วยยางยาวๆ และมีตัวยึดไม่ให้หลุดไปไหนอีกด้วย
ส่วนที่เหลือเห็นจะเป็นด้านบน ตรงนั้นมีปุ่มเปิดปิดอยู่ ด้านล่างเป็นลำโพงมัลติมีเดียที่ทำงานหลากหลาย ด้านหลังตรงฝาครอบแบตจะใช้ตัวล็อคสองฝั่ง บีบลงไปเบาๆ ก็แกะออกมาได้แล้ว
ชำแหละเครื่องใน
3250 ถือได้ว่าเป็นมิวสิคโฟนอีกตัวหนึ่งที่แฝงด้วยความอัจฉริยะ เนื่องจากฝังระบบปฏิบัติการซิมเบียน เวอร์ชั่น 9.1 เอาไว้ จะบอกว่าเป็นมิวสิค-สมาร์ทโฟนก็คงได้ล่ะมั้ง รูปแบบเมนูจะไปคล้ายคลึงกับเอ็น 70 แต่ฟอนท์จะแปลกออกไป ซึ่งผมว่ามันดูบางๆ ยังไงไม่รู้ อาจจะไม่คุ้นเคยกันมากนัก
เมนูที่เพิ่มมาใหม่สำหรับ 3250 โดยเฉพาะคืภายในประกอบไปด้วยเครื่องเล่นเพลงและวิทยุแบบวิชวลเรดิโอ โปรแกรมแรกจะมีหน้าตาต่างจากเครื่องเล่นแบบเดิม ซึ่งสามารถแยกประเภทของข้อมูลในตัวเพลงได้ อย่างเช่น ตามนักร้อง ตามชื่ออัลบั้ม ตามชนิดของเพลง ฯลฯ ทำให้เราค้นหาเพลงจำนวนมากในเครื่องได้อย่างง่ายดาย
ส่วนวิทยุจะฟังแบบธรรมดาไม่ต้องมีวิชวลมันของตายอยู่แล้ว รายละเอียดลองไปดูในตารางสเป็กด้านซ้ายเอานะ
กล้องนี่ใช้ได้เลยแฮะ ไม่นึกว่าโนเกียจะกล้ายัดความละเอียด 2 ล้านพิกเซลมาให้ ตบด้วยลูกเล่นแบบพอไปวัดไปวาได้ ผมว่ามันไม่จำเป็นนักหรอก เพราะปกติตัวผมเองหรือผู้ใช้ทั่วไปมักจะชอบที่ความคมชัดของภาพมากกว่า เรื่องของเล่นที่ติดมามาให้ถือว่าแถมไปแล้วกัน
เมมโมรี่ถือว่าเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นมากในตัวของมิวสิคโฟน ลองคิดดูว่าถ้าเก็บเพลงได้น้อยแล้วจะมีค่าอะไร ทว่าปกติแล้วเกียที่มีระบบปฏิบัติการซิมเบียนในตัวมักจะเพิ่มหน่วยความจำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง โดยรุ่นนี้เลือกใช้เป็นไมโครเอสดี การ์ดที่หาซื้อได้ยากในตอนนี้ครับ
โปรแกรมตัวนึงที่น่าสนใจคือมาโครมีเดีย แฟลช เพลเยอร์ ไลท์ ทำหน้าที่เล่นไฟล์แฟลชที่อยู่ในเครื่อง และเอาไว้เปิดเว็บที่ประกอบไปด้วยไฟล์ชนิดนี้ได้ เรียกว่าเป็นการพัฒนาให้มือถือสามารถเทียบเคียงเบราเซอร์ที่อยู่ในคอมเข้าไปทุกทีๆ
สุดท้ายเรื่องโปรแกรมที่เอาไว้จัดการเพลงในคอมพิวเตอร์ ตรงนี้ค่อนข้างจำเป็น ไม่ใช่ว่าเราจะโยนไฟล์ลงเครื่องอย่างเดียว ต้องอย่าลืมว่าพวกไฟล์เพลงจะมีไอดีแท็กที่บรรจุรายละเอียดของเพลงนั้นเอาไว้ เพื่อการแสดงผลที่ถูกต้องจึงอาศัยโปรแกรมนี้เข้ามาช่วยอีกแรงครับ
กูรูฟันธง
รวมแล้วถือว่าน่าประทับใจเดียวสำหรับรุ่นนี้ นี่อาจจะเป็นคำที่ซ้ำซากที่นักเขียนหลายคนชอบใช้ ซึ่งผมก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงขอใช้บ้างแล้วกัน โนเกียจับเอาความเป็นมิวสิคขสมาร์ทโฟนยัดใส่ 3250 เพื่อซัดกับค่ายจากญี่ปุ่นให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย แต่ด้วยความที่รองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นและลงตัวกว่า ใครจะไปรู้ว่าอาจจะถึงทีโนเกียบ้างแล้ว แหะๆ
ข้อดี
ซิมเบียน 9.1 เวอร์ชั่นใหม่สุด
กล้องดิจิตอล 2 เมกะพิกเซล พร้อมการบิดเลนส์เพื่อถ่ายตัวเอง
รองรับการเล่นเพลงอย่างสมบูรณ์
วิทยุเอฟเอ็มรองรับวิชวล เรดิโอในอนาคต
เพิ่มหน่วยความจำได้
รองรับเอดจ์ระดับ 10
ข้อเสีย
ตัวเครื่องหนาเอาการ
ช่องเสียบการ์ดอยู่ลึกลับและแกะเปลี่ยนได้ยาก
ไม่มีหัวแปลงเป็นแจ็คขนาดมาตรฐาน
สนับสนุนเนื้อหาโดย