รีวิว Nokia E50
โทรศัพท์มือถือในกลุ่มของนักธุรกิจยุคใหม่นั้น ถือเป็นกลุ่มโทรศัพท์ที่มีตลาดรองรับด้วยผู้ใช้ที่เป็นนักธุรกิจ เป็นกลุ่มใหญ่ และคนรุ่นใหม่ที่สนใจในเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารไร้สายเป็นกลุ่มรอง ด้วยโครงสร้างของเครือข่ายในบ้านเราที่ทุกวันนี้ถือว่าค่อนข้างพร้อมกับการบริการแบบกลุ่มองค์กร ให้ผู้ใช้สามารถบริหารงานได้ในระยะไกลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อข้อมูลอีกด้วย
โดยเฉพาะกับ Nokia E50 นั้นถือเป็นโทรศัพท์มือถือในตระกูล Eseries ที่ถูกจัดให้เป็นรุ่นเล็กที่สุดในตระกูล แต่ด้วยความสามารถที่ถึงพร้อมสำหรับรองรับกับมือของนักธุรกิจ หรือกลุ่มคนยุคใหม่ ครบเครื่องทั้งความสามารถด้านการเชื่อมต่อไร้สาย ไม่ว่าจะอีเมล์ รวมถึงเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการบริหารงานในระยะไกลได้ดีที่สุด ทำให้ความน่าสนใจของมันนั้นไม่อาจรอดพ้นสายตาของทางทีมงาน mobilemag เราไปได้ จนต้องจับมาแกะกล่องลองเครื่องเพื่อทดสอบกันในฉบับนี้ยังไงละครับ
แกะกล่องลองเครื่อง
สัมผัสแรก ให้ความรู้สึกของบิซิเนสโฟนได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด โดยหากนำไปเปรียบเทียบกับ E60 ที่เป็นมือถือในกลุ่มของ Eseries ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถือว่าทาง E50 เครื่องนี้ดูจะลงตัวกว่าด้วยรูปทรงที่กะทัดรัด เพรียวบางทำให้การพกพาจับถือ หรือใช้งานได้ smooth กว่า ด้วยมิติตัวเครื่องขนาด 113 x 43.5 x 15.5 มิลลิเมตร น้ำหนักจะอยู่ที่ 104 กรัม กับสีสันและวัสดุตัวเครื่องที่ทันสมัยด้วยวัสดุโลหะที่ด้านหน้าและฝาหลังซึ่งโทนสีหลักก็จะเน้นที่สีบรอนซ์เงินเป็นหลักตามสไตล์ของ Eseries อยู่แล้ว ส่วนการรองรับระบบเครือข่ายนั้นจะเป็นแบบ GSM Quadband ทั้งกับความถี่ EGSM 850/900/1800/1900MHz
ด้านหน้า ยังคงความโดดเด่นด้วยสไตล์ของโนเกียอย่างแท้จริง ด้วยด้านหน้าที่ยังคงรูปแบบของการจัดวางปุ่มกดต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนทั้งปุ่มเข้าเมนูหลัก, ซ็อพท์คีย์ซ้าย-ขวา, ปุ่มรับสายและโทรออกสีเขียว, ปุ่มวางสายและยกเลิกสีแดง, ปุ่ม c สำหรับการเคลียร์หรือยกเลิกคำสั่งต่างๆ, ปุ่มกดตัวเลขและตัวอักษร รวมถึงปุ่ม Joystick แบบ 5 ทิศทางสำหรับใช้ควบคุมและเลือกเมนูต่างๆ ในเครื่องนั่นเอง โดยลักษณะของตัวปุ่มกดต่างๆแล้วค่อนข้างจะใหญ่ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายสมกับเป็นบิซิเนสโฟนจริงๆ และส่วนที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือส่วนของหน้าจอสีนั้นมาด้วยขนาดที่ใหญ่ใช้ได้กับขนาดความกว้างโดยประมาณ 2.2 นิ้ว
ด้านหลัง เมื่อพลิกมาดูส่วนของด้านหลัง จะเป็นรูปแบบของความเรียบง่ายโดยจะมีส่วนของกล้องถ่ายรูปพร้อมกรอบกระจกป้องกันตัวเลนส์ติดตั้งอยู่กับตัวเครื่อง ถัดลงมาจะเป็นฝาหลังโลหะสีบรอนซ์เงินมาพร้อมกับสลักล็อกที่แยกไปอยู่กับตัวเครื่องเลย โดยจะไม่เหมือนรุ่นก่อนๆ ที่จะทำปุ่มสลักให้ติดไว้กับตัวฝาหลัง
ด้านข้าง (ซ้ายมือ) มี ปุ่มกดขึ้น-ลง สำหรับใช้ควบคุม Volume เพื่อลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง ถัดลงมาจะเป็นช่องอินฟราเรด (IrDA Port) ที่อยู่ติดกัน
ด้านข้าง (ขวา) จะมีทั้งช่องลำโพงแสดงเสียงเพลงและเสียงเตือนเรียกเข้า ถัดลงมาเล็กน้อยก็จะมีปุ่มกดเข้าใช้งานโทรออกด้วยเสียง และปุ่ม edit รูปดินสอตามลำดับลงมาครับ
ด้านบน มีเพียงปุ่ม พาวเวอร์สวิทช์ สำหรับใช้เปิด หรือปิดการทำงานของเครื่องโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งลักษณะของตัวปุ่มนั้นจะเป็นยางนุ่มๆ
ด้านล่าง จะมีทั้งช่องเสียบต่อสายชาร์จแบตเตอรี่ขนาดเล็ก และช่องเสียบต่อสายดาต้าและหูฟังแบบ Pop-port
เปิดฝาหลัง/ใส่ซิมการ์ด อาจจะแปลกไปมือไปสักหน่อยสำหรับการถอดฝาหลังของเครื่อง E50 นี้ต้องทำด้วยสองมือนะครับ โดยให้มือข้างหนึ่งจับลงไประหว่างแถบซ้าย-ขวาของตัวฝาหลัง แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งกดลงไปที่ปุ่มปลดล็อกพร้อมกับใช้มือข้างที่จับตัวฝาหลังดันขึ้นบนเล็กน้อย ตัวฝาหลังก็จะหลุดออกมาอย่างง่ายดายแล้วจะเห็นตัวแบตเตอรี่อยู่ด้านใน
ถอดและใส่ microSD อันนี้ไม่ต้องใช้วิธียุ่งยากอย่างใดเลยครับ คือหากตองการเปดชองใสการดหนวยความจำนั้นให้สังเกตที่ทางด้านซ้าย เมื่อถอดฝาหลังออกจะเผยให้เห็นช่องรองรับ microSD ส่วนวิธีการใส่นั้นให้สังเกตรอยปั้มที่อยู่ใกล้ๆ กับตัวแบตเตอรี่นะครับจะได้ใส่ได้ถูกด้าน
ทดสอบการใช้งาน
เริ่มการใช้งาน โดยการกดไปที่ปุ่มพาวเวอร์สวิทช์ที่อยู่ตรงส่วนหัวด้านบนตัวเครื่อง กดค้างไว้สักครู่เครื่องก็จะเริ่มทำงานโดยแสดงการเริ่มทำงานมาตรฐานด้วยโลโก้และเสียงของ Nokia สักครู่ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลัก โดยทั้งหมดนี้จะกินเวลาประมาณ 10 วินาทีในกระบวนการ เปิดเครื่อง
หน้าจอ เป็นจอชนิด TFT-LCD 262,144 สีที่ให้ความละเอียด และความคมชัดของสีได้ค่อนข้างชัดเจนตามมาตรฐานทุกอย่าง ส่วนความกว้างนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 นิ้ว (240 x 320 พิกเซล) ซึ่งก็ถือว่าเป็นจอที่ค่อนข้างใหญ่และกว้างทีเดียว จนสามารถตอบสนองต่อการแสดงภาพและข้อมูลต่างๆ ให้เห็นได้ชัดเจนดี นอกจากนี้แล้วส่วนของการปรับตั้งค่าการใช้งานหน้าจอนั้นจะมีรูปแบบและการตั้งค่าการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลายอีกเช่นเคยครับ ตั้งแต่การเลือกตั้งภาพพื้นหลังแบบสี (Wallpaper), เลือกรูปแบบสีเมนู (Theme), แสดงโลโก้หรือข้อความต้นรับ (Welcome note/logo), ตั้งค่าโหมด สแตนด์บายเมนู (Standby mode), โหมดเวลาประหยัดพลังงาน (Power saver time-out), เลือกตั้งการแสดงเวลาและวันที่ (Date and time), ไฟแสดงการแจ้ง (Notification light) เพื่อการแสดงไฟกระพริบ (Blink light for) หรือเหตุการณ์ที่แจ้ง (Notification event) และยังสามารถตั้งเวลาแสงสว่าง (Brightness) ได้นานสูงสุด 60 วินาที
รูปแบบเมนู สำหรับรูปแบบเมนูใน E50 นั้นจะเป็น UI ซีรี่ย์ 60 3rd Edition แพล็ตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ Symbian OS เวอร์ชั่น 9.1 ที่ถือว่าเป็นรูปแบบ UI ที่ค่อนข้างจะตอบสนองต่อการสั่งงานเมนูที่ได้ทั้งความสวยงาม พร้อมกับเพิ่มความสะดวกด้วย Active Standby Menu ซึ่งเป็นรูปแบบการแสดงเมนูแบบพิเศษด้วยการสร้างแถบบาร์เมนูที่สามารถให้ผู้ใช้เรียกดูข้อมูลพวก ข้อความ, สมุดโทรศัพท์,Email, Application, ปฏิทินรวมถึงการเรียกเข้าฟังเพลงบนหน้าจอหลักได้ทันทีอีกด้วย (สามารถปิดการสแตนด์บายเมนูได้ด้วย) ส่วนหน้าตาของเมนูนั้นจะเป็นแบบ Active Icon แยกออกเป็นหลายเมนูหลัก และเมนูย่อยในตัว แถมสามารถเลือกใช้งานเมนูไทยและอ่านพิมพ์ไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษเท่าใดนักโดยเมนูหลักๆนั้นก็จะมีทั้งเมนูอย่าง
- Contact เมนูรายชื่อ สำหรับการเลือกใช้สมุดบันทึกเบอร์โทร ทั้งในเครื่องและซิมการ์ดพร้อมการตั้งค่าการใช้งานรูปแบบต่างๆ
- Calendar เมนูปฏิทิน สำหรับการใช้งานปฏิทินที่สามารถตั้งค่าการแสดงพร้อมการเตือน รวมถึงการใช้งานบันทึกประจำวันได้ด้วย
- Log เมนูบันทึก สำหรับการเลือกดูรายการใช้สายต่างๆ ตั้งแต่ บันทึกการโทรล่าสุด (Recent calls), เบอร์ทีไม่ได้รับสาย (Missed calls), เบอร์ที่ได้รับสาย (Recived calls), เบอร์ที่โทรออก Dialled nos.), เวลาการโทร (Call duration) รวมถึงตัวนับข้อมูลแพคเก็ต (packet data) ด้วย
- Clock เมนูสำหรับการจัดการกับการตั้งค่านาฬิกา หรือวันเดือนปี รวมไปถึงนาฬิกาปลุกและนาฬิกาทั่วโลก
- Messaging เมนูข้อความ เป็นเมนูสำหรับการใช้งานจัดการเกี่ยวกับข้อความต่างๆโดยจะมีเมนูย่อยๆ ด้านในทั้ง การสร้างข้อความใหม่ (New message), ถาดเข้า (Inbox), ฉบับร่าง (My folders), ถาดออก (Outbox), ส่ง (Sent), รายงานการส่ง (Reports), อีเมลทั้ง Hotmail และ Yahoo.com และเครื่องมือสำหรับการใช้ข้อความแชทต่างๆ อีกมากมาย
- Tools เมนูสำหรับการเข้าใช้งานเครื่องมือส่วนตัวต่างๆไม่ว่าจะเป็น เมนูเสียง (Voice mail), ลักษณะ (Theme), เสียงช่วย (Voice aid) สำหรับการเลือกแสดงเสียงบอกเมนูที่สำคัญในเครื่อง, รูปแบบ (Profiles), การตั้งค่า (Settings), (การ์ด) ความจำ (Memory), เสียงพูด (Speech), ตัวจัดการ (App.mgr.),คำสั่งเสียง (Voice cm.), ถ่ายโอน (Transfer), โทรด่วน (Speed dial), ตัวตั้งคำ (Sett.wiz.), ตำแหน่ง (Position GPS), ตัวสำรวจ (Navigator GPS), สถานที่ (Landmarks GPS), วิธีใช้ (Help), บทแนะนำ (Tutorial) และเกี่ยวกับ (About)
- Connect เมนูเชื่อมต่อ สำหรับการใช้งานกับเครื่องมือเชื่อมต่อต่างๆทั้ง โมเด็ม (Modem), ซิงค์ (Sync.), สาย USB (data cbl.), ตัวเชื่อม (Conn.mgr.), Bluetooth, อินฟราเรด (Infrared), ตัวจัดการอุปกรณ์ (Dev.mgr.), การสนทนา (PTT), สนทนา (Chat IM)
- Office เมนูที่ทำงาน สำหรับการเข้าใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานออฟฟิซอย่าง ตัวจัดการไฟล์ (File mgr.), ค้นหาไฟล์เอกสารในเครื่อง (Search), เครื่องคิดเลข (Calculator), จัดกลุ่มชุดทีมทำงาน (Teams), Quickoffice, สมุดบันทึก (Notes), ตัวแปลง (Converter), ตัวอ่าน สำหรับอ่านออกเสียงข้อความ (Msg.reader), Adobe PDF, Zip, BizSW
- Media เมนูสื่อ สำหรับการเลือกใช้เครื่องมือมีเดียต่างทั้ง คลังภาพ (Gallery), เครื่องเล่นเพลง (MusicPlayer), RealPlayer, เครื่องบันทึกเสียง (Recorder), ตัวเล่น Flash (Flash Player), กล้อง (Camera) และ บริการ (Services) สำหรับการเลือกใช้งาน และตั้งค่าการเชื่อมต่อทั้งอินเตอร์เน็ต, GPRS รวมถึงการเลือกค่าดาวน์โหลดต่างๆด้วย
- Web เมนูสำหรับการเลือกใช้งาน และตั้งค่าการเชื่อมต่อทั้งอินเตอร์เน็ต, GPRS รวมถึงการเลือกค่าดาวน์โหลดต่างๆด้วย
- Cattalogs สำหรับการเชื่อมต่อผ่านผู้ให้บริการบน GPRS เพื่อการดาวน์โหลดแอ็ปพลิเคชั่นบนแคดตาล็อกที่จัดมาให้ของโนเกียโดยเฉพาะได้ทันที
- Installations เมนูการติดตั้ง สำหรับการเลือกเข้าใช้งาน หรือตั้งค่าต่างๆ ทั้งค่าการดาวน์โหลดและลงโปรแกรมเพิ่มเติมที่สามารถเลือกดูพื้นที่หน่วยความจำ รวมถึง การเลือกตั้งค่ารูปแบบการแสดงของเมนูทั้งแบบ Grid และ List ที่อยู่ในหมวดของการเปลี่ยนมุมมอง (Change View) ในเมนูนี้ก็ได้ด้วย
เสียงเรียกเข้า รองรับเสียงเรียกเข้าได้แบบ MIDI, MP3 และ Truetone ในระดับ 64 โพลีโฟนิกอีกด้วยและยังมีเสียงแบบ Monophonic มาให้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเลือกรูปแบบการเตือนต่างๆได้มากมายตั้งแต่ชนิดของเสียงเรียกเข้า (Ringing type) แบบดังต่อเนื่อง/ดังขึ้นเรื่อยๆ/ดังหนึ่งครั้ง/บี๊บหนึ่งครั้ง/เงียบ, ตั้งระดับความดัง (Ringing volume), เลือกแบบเสียงเตือนข้อความ (Message alert tone), แบบเสียงเตือนอีเมล (E-mail alert tone), เตือนแบบสั่น (Vibrating alert), เสียงปุ่มกด (Keypad tones), เสียงเตือน (Warning tones), ปลุกสำหรับ (Alert for) ทุกสาย/กลุ่มใหม่/ทีมใหม่ และเสียงพูดสายเข้า (Say callers name) ส่วนการเซ็ตเพลงเรียกเข้านั้นก็เลือกเข้าไปได้ที่เมนู Media > Gallery หรือ จะเข้าไปตั้งค่าเสียงรวมถึงค่าอื่นๆ ในเครื่องด้วยการเข้าไปที่เมนู Tools > Profiles > แล้วเลือกรูปแบบใดๆ ก็ได้เช่น General > แล้วกดเลือก Option > Personalise แล้วตั้งค่าได้ตามใจชอบ
สมุดรายชื่อ สามารถลงบันทึกรายการสร้างรายชื่อใหม่ (New contact) เพื่อทำรายการเพิ่มเบอร์และเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ได้ทั้งในตัวเครื่อง หรือจะเลือกบันทึกลงในซิมการ์ดก็ได้ รวมถึงเลือกคัดลอกข้อมูลทั้งหมดในซิมลงเครื่อง (Copy to contact) และจากเครื่องลงซิม (Copy to SIM directory) ก็ได้ด้วย ส่วนการบันทึกลงรายการเบอร์โทรใหม่ลงเครื่องนั้นสามารถลงรายการได้มากมายทั้ง ชื่อ, นามสกุล, บริษัท, ตำแหน่ง หรือหน้าที่การงาน,เบอร์มือถือ, เบอร์บ้าน, ใส่ภาพวีดีโอคอล, ลง Internet telephone, Fax, Email, Pager ได้เป็นต้น และยังสามารถให้คุณได้เพิ่มรายละเอียด (Add detail) หรือจะแก้ไข (Edit lable) ได้เองตามความต้องการอีกด้วย ทั้งนี้แต่ละรายการสามารถตั้งกลุ่ม (Add to group) และเสียงเรียกเข้าเฉพาะบุคคลได้ด้วย รวมไปถึงตั้งการโทรด่วน (Speed dials) และการสั่งงานโทรออกด้วยเสียง (Voice command)ได้อีกด้วย
การเชื่อมต่อ ส่วนของการเชื่อมต่อต่างๆ นั้นมีมาให้อย่างครบถ้วน ทั้งระบบไร้สาย และใช้สายต่างๆ โดยแบบไร้สายนั้นก็จะรองรับระบบเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลได้หลายรูปแบบตั้งแต่การเชื่อมต่อโอนถ่ายผ่านช่องอินฟราเรด (IrDA port) และ แบบผ่านบลูทูธ (Bluetooth) เวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งนอกจากจะรองรับการเชื่อมต่อโอนถ่ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยระบบไร้สายแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อด้วยสาย Data Cable ผ่านช่อง USB กับเครื่อง PC ก็ได้อีกเช่นกัน หรือหากต้องการจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ไม่มีปัญหาอีกเช่นกันด้วยระบบ Browsing ที่มีให้ครบทั้ง xHTML/HTML/WAP 2.0 และสามารถรองรับการรับ-ส่งข้อความทั้งแบบ SMS, MMS, Email ทั้ง POP3, SMTP, IMAP4 และเทคโนโลยีสุดยอดโซลูชั่นอีเมลไร้สาย Intellisync Wireless Email ของโนเกียอันได้แก่ Blackberry connect, Visto Mobile, Altexia และ Microsoft ActiveSync รวมถึงการสนทนาข้อความรูปแบบ Chat IM และสนทนาด้วยเสียงรูปแบบ PTT ผ่าน EDGE class 10 และ GPRS Class 10 หรือ HSCSD ก็ได้ด้วย ทั้งยังติดตั้ง Modem ในตัว เรียกเอามาให้ใช้งานกันแบบครบถ้วนทุกการเชื่อมต่อเลยทีเดียว ซึ่งก็ถือเป็นจุดเด่นที่ ไม่ควรมองข้ามทีเดียวสำหรับน้องเล็กในกลุ่มของ Eseries เครื่องนี้
กล้องถ่ายรูป กับคุณภาพระดับ 1.3 ล้านพิกเซล ซึ่งรองรับการบันทึกได้ทั้งวิดีโอเคลื่อนไหวพร้อมเสียง (Video) และแบบภาพนิ่ง (Image) โดยจะมาพร้อมโหมดปรับตั้งค่ามากมายโดยการถ่ายภาพนิ่งนั้นจะมีทั้งโหมดปรับตั้งอย่าง โหมดกลางคืน (Night mode), โหมดต่อเนื่อง (Sequence mode), ตัวจับเวลาภายใน (Self-timer) ตั้งแต่ 10/20/30 วินาที, สามารถเลือกการปรับ (Adjust) สำหรับการตั้งค่าสมดุลแสงสีขาว (White balance) แบบ อัตโนมัติ/แสงจ้า/แสงไฟทั้งสเตน/แสงไฟนีออน หรือจะปรับ โทนสี (Colour tone) แบบ ปกติ/ซีเปีย/ขาวดำ/เนกาทีฟ หรือหากต้องการตั้งค่าภาพ (Image setings) ก็ทำได้ทั้งการการเลือกคุณภาพของภาพถ่าย (Image quality) แบบสูง/ปกติ/พื้นฐาน, ตั้งแสดงภาพที่จับก่อนการบันทึก (Show capture img.), เลือกขนาดภาพ (Image resolution) ขนาดตั้งแต่ 640x480/1280x960, ตั้งชื่อรูปภาพตามค่าเริ่มต้น (Default image name) แบบแสดงเป็น วันที่/ข้อความ, เลือกหน่วยความจำบันทึก (Memory in use) ทั้งในความจำโทรศัพท์ (Phone memory) และการ์ดความจำ (Memory card) ส่วนการตั้งค่าการบันทึกวิดีโอนั้นก็จะคล้ายๆ กับการตั้งค่าภาพถ่ายแต่จะมีการตั้งค่า ความยาว (Length), ความคมชัดของวิดีโอ (Video resolution) ขนาด 128x96/176x144, ชื่อวิดีโอที่ตั้งไว้ (Default video name) ที่ต่างไปจากการตั้งค่าการถ่ายภาพนิ่งเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น
เครื่องเล่นมีเดีย มีทั้งเครื่องเล่นเพลง (MusicPlayer) ที่รองรับการเล่นเพลงในไฟล์ MP3, WMA, M4A, AAC และ eAAC+ นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าการเล่นเพลงต่างๆได้มากมายทั้งการเล่นแบบสุ่ม (Random play), การเล่นซ้ำ (Loop) แบบทั้งหมด/หนึ่งครั้ง, ตั้งค่าอีควอไลเซอร์ (Equaliser) ได้หลากหลายรูปแบบทั้งแบบ ค่าที่ตั้งไว้/Acoustic/ขยายเสียงเบส/Hip Hop/ป๊อป/R&B/ร็อค ซึ่งนอกจากเครื่องเล่นเพลงแล้วในเครื่องของ E50 นั้นยังมีการรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอคลิปต่างๆ ด้วยเครื่องเล่นRealPlayer ที่รองรับได้ทั้ง MPEG4,3GP, H.264 รวมถึงการรองรับไฟล์เสียงต่างๆได้มากมายด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังมีการใส่เครื่องเล่นไฟล์แฟลชอย่าง FlashPlayer รวมถึงเครื่องบันทึกเสียง (Recorder) มาไว้ใช้งานด้วย
หน่วยความจำรองรับ นอกจากจะมีพื้นที่ของหน่วยความจำในเครื่องอยู่ 70 MB แบบใช้ร่วมกัน นอกจากนี้แล้วยังสามารถเพิ่มการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD หรือ TransFlash ก็ได้ *ด้วยรูปแบบการถอดเปลี่ยนการ์ดความจำแบบทันใจแบบ Hotswap เรียกว่ารองรับการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลได้ทั้งไฟล์ภาพและเสียง หรือข้อมูลเอกสารอื่นๆ ได้อย่างครบถ้วนแบบเหลือเฟือทีเดียวครับ
เครื่องมือออฟฟิซและผู้ช่วย ในเครื่อง E50 นี้จับเอาเครื่องมือผู้ช่วยงานต่างๆ ทั้งงานออฟฟิซ และงานเอกสารต่างๆ มาใส่ไว้ในตัวเพื่อให้ใช้งานได้แบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือออกาไนเซอร์ ทั้งปฏิทิน (Calendar) ที่ช่วยจดบันทึกเตือนความจำได้ พร้อมอ็อปชั่นตั้งค่าการแสดงเตือนได้อย่างละเอียด, เครื่องคิดเลข (Calculator), ตัวแปลง (Converter) สำหรับช่วยในการเปรียบเทียบแปลงค่าทั้งสกุลเงิน/พื้นที่/พลังงาน/ความยาว/มวล/กำลังไฟฟ้า/ความดัน/อุณหภูมิ/เวลา/ความเร็ว/ปริมาตร, ชุดทีมทำงาน (Teams) เป็นแอ็ปพลิเคชั่นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานที่ช่วยสำหรับการประชุมทางไกล หรือใช้งานประชุมแบบ push-to-talk กับพนักงานในกลุ่มที่กำหนดได้, ตัวอ่านข้อความ (Msg.Reader) สำหรับการช่วยอ่านข้อความต่างๆ ในเครื่องแบบออกเสียง, Zip โปรแกรมหรือเครื่องมือสำหรับบีบอัดไฟล์หรือโฟลเดอร์ในเครื่องได้, AdobePDF โปรแกรมอ่านเอกสารแบบ PDF, BizSW เมนูสำหรับเข้าใช้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยจะมาพร้อมกับ Option การตั้งค่าที่หลากหลายช่วยให้ใช้งานได้คล่องตัว, Quickoffice สำหรับใช้อ่านงานเอกสาร, ค้นหา, ตัวจัดไฟล์ (File mgr.) สำหรับเข้าไปจัดไฟล์หรือโฟลเดอร์ต่างๆ ในเครื่องหรือในการ์ด และ Voice mail ส่วนพวกเครื่องมือหรืองานออฟฟิซต่างๆ นั้นก็จะมีทั้ง Microsoft Outlook, Lotus Notes, E-Mail, เชื่อมต่อกับเครื่อง Printer ต่างๆ ได้หลากหลายยี่ห้อทีเดียว
ข้อสังเกต
แม้ว่าคุณสมบัติด้านการสื่อสารไร้สายใน Nokia E50 นั้นจะมีมาให้อย่างเต็มสูบก็ตาม ที่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือการใช้งานจริงที่บางครั้งเครื่องอาจจะทำงานช้าได้บ้างเหมือนกัน จนบางครั้งเครื่องค้างไปเลยก็มี ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะพบได้ไม่ยากนักกับโทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติในแบบมัลติฟังก์ชั่นเช่นนี้ และปัญหาเช่นนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับปัญหาแบบนี้ ที่ผู้ใช้จะต้องเจอ ส่วนที่ดูจะยังไม่เข้าตานักสำหรับรูปลักษณ์ของ E50 ก็คือความเรียบง่ายและสีสันที่ดูแล้วจะเรียบง่ายจนเกินไปด้วยซ้ำ และยิ่งรวมเข้ากับตัววัสดุตัวเครื่องที่เราต่างก็รู้ว่าดูจะไม่ค่อยสวยหรูไฮโซสักเท่าใดนัก จึงทำให้รูปโฉมภายนอกของมันดูจะไม่เตะตานัก แต่กลับกันหากมองในเรื่องคุณสมบัติฟังก์ชั่นเครื่องที่ถูกออกแบบมาเพื่องานสื่อสารแบบนักธุรกิจแล้วละก็ยกให้เป็นที่หนึ่งในกลุ่มโทรศัพท์มือถือที่มีราคาหมื่นต้นๆ เช่นนี้
สรุปผลการทดสอบ
โดยรวมแล้วถือว่า Nokia E50 เครื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ความสามารถในการเชื่อมต่อ และการรองรับกับการสื่อสารในรูปแบบของนักธุรกิจได้ดีทั้งแบบกลุ่มองค์กร และส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ขนมาลงเครื่องจนล้นเชียวละครับ ซึ่งขัดกับการออกแบบที่ค่อนข้างจะเรียบง่ายจนเกินไปจนแว่บแรกที่เห็นนั้นดูช่างไม่มีความโดดเด่นเตะตาอย่างที่ควรจะเป็นสำหรับโทรศัพท์มือถือในกลุ่มนักธุรกิจที่ส่วนใหญ่แล้วจะมาพร้อมกับความสวยหรูภูมิฐานน่าจับต้อง แต่หากถามเรื่องการใช้งาน และคุณภาพแล้วละก็ต้องขอบอกว่าใช้งานได้ค่อนข้างถูกใจผู้ทดสอบเลยทีเดียวโดยเฉพาะกับฟังก์ชั่นและแอ็ปพลิเคชั่นเสริมที่มีให้เลือกใช้มากมาย รวมกับเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆ รองรับได้ครบถ้วนสำหรับนักธุรกิจมืออาชีพเลยทีเดียว แล้วยิ่งเมื่อเทียบกับราคาแล้วต้องยกให้เลยกับความคุ้มค่าที่เข้าขั้นจนคุณจะไม่นึกเสียดายกับเงินที่เสียไปเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับนักธุรกิจ และคนรุ่นใหม่ที่ชอบและสนใจโทรศัพท์มือถือกลุ่มนี้อยู่แล้ว
เอื้อเฟื้อเครื่องทดสอบ : Nokia (Thailand) & OGILVY (Thailand)
ราคาประมาณ 11,420 บาท
>> รายละเอียดคุณสมบัติมือถือ Nokia E50
**************************************
รีวิว Sony Ericsson P990i
รีวิว Motorola ROKR E2
รีวิว Nokia 2310
รีวิว Nokia N73
รีวิว i-mobile 610
สนับสนุนเนื้อหาโดยนิตยสาร