รีวิว Motorola E6
แรกเห็น
Motorola เปิดตัวพีดีเอความบันเทิงต้นแบบใหม่รุ่น MOTOROKR E6 ซึ่งเป็นการปรับวิสัยทัศน์เดิมๆของอุปกรณ์พีดีเอและดนตรีดั้งเดิม โดยรุ่น E6 ได้รับการออกแบบให้เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่แห่งความบันเทิงที่หรูหรา รวมทั้งได้รับการสร้างสรรค์เพื่อยกระดับไลฟ์สไตล์ของมืออาชีพ และยังคงเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในตลาด PDA Phone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Open Source นั่นก็คือ Linux OS
รูปทรงของ Motorola E6 เป็นแบบ Bar Type โดดเด่นที่ขนาดของตัวเครื่องโดยมีขนาดความหนาเพียง 14.5 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์พีดีเอความบันเทิงที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้านดีไซน์ได้รับการออกแบบภายนอกอย่างมีสไตล์มาพร้อมกับจอวินโดว์สัมผัส (Touch Window(R) screen) ขนาด 2.4 นิ้ว TFT 262,144 สี ความละเอียด 240x320 พิกเซล และปุ่มกดที่ดีไซน์แบบตระกูล MOTOKRZR และ MOTOSLVR
พลิกดูหลังเครื่องจะเห็นเลนส์ของกล้องดิจิทัล พร้อมปุ่มปรับใช้งาน Macro Mode กระจกเงาสำหรับถ่ายรูปตัวเอง และช่องลำโพงสำหรับฟังเพลง ที่ด้านข้างเครื่องเริ่มที่ด้านขวามีปุ่มใช้งานกล้องดิจิทัลกับปุ่ม Hold สำหรับล็อคหน้าจอ ส่วนด้านซ้ายมีปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียง ช่องใส่การ์ดหน่วยความจำภายนอก และปุ่ม Music Key ด้านบนมีช่องสำหรับเสียบชุดหูฟังแบบแจ๊คต่อสเตอริโอขนาด 3.5 มิลลิเมตร
และด้านท้ายช่องสำหรับเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่หรือสายดาต้าลิงค์แบบ mini USB ในช่องเดียวกัน
ทดลองใช้งาน
การใส่ SIM CARD
เริ่มต้นด้วยการถอดฝาครอบแบตเตอรี่ออกมาก่อน โดยใช้มือจับตัวเครื่องไว้แล้วพลิกมาด้านหลัง จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดดันเลื่อนที่ปุ่มที่อยู่ตรงกลางท้ายเครื่องลงตามลูกศรแล้วใช้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่งดันเลื่อนฝาลงและหยิบออกจากเครื่อง จากนั้นถอดแบตเตอรี่ออกโดยใช้นิ้วงัดตรงช่องที่อยู่ตรงด้านขวาข้างช่องใส่แบตเตอรี่ แล้วหยิบแบตเตอรี่ออกจากเครื่อง สำหรับช่องใส่ SIM Card ของเครื่องรุ่นนี้จะอยู่ตรงกลางด้านบนเหนือช่องใส่แบตเตอรี่ ให้เลื่อนแถบเหล็กลงมาแล้วนำ SIM Card ใส่เข้าไปในช่องนี้ ซึ่งจะมีเหล็กยึดตัว SIM Card ทั้ง 2 ข้างไว้ หลังจากนั้นให้ใส่แบตเตอรี่และฝาครอบแบตเตอรี่กลับเข้าไปตามเดิม
การเปิด-ปิดเครื่อง
สำหรับปุ่มเปิด-ปิดเครื่องใช้ปุ่มเดียวกันกับปุ่มวางสายที่มีรูปสัญลักษณ์วงกลมขีดกลางสีแดงอยู่ด้านบนของปุ่มใช้งาน Real Player ด้านขวามือให้กดค้างไว้ประมาณ 2 วินาที จากนั้นเครื่องจะแสดงโลโก้ของ Motorola พร้อมกับเสียงดนตรีสั้นขึ้นมา แล้วเครื่องก็จะทำการค้นหาสัญญาณเครือข่ายก่อนเข้าสู่หน้าจอปกติ
เมื่อเข้าสู่หน้าจอปกติแล้ว ภายในหน้าจอนี้ประกอบด้วยแถบเมนูการใช้งานหลักอยู่ด้านบนสุด ถัดลงมาเป็นสัญลักษณ์ของสัญญาณเครือข่าย ใกล้กันจะเป็นสัญลักษณ์แสดงการ Activate ของระบบ GPRS ส่วนมุมขวาจะเป็นสัญลักษณ์แสดงระดับแบตเตอรี่และนาฬิกาบอกเวลา ถัดลงมาอีกจะเป็นไอคอนปฏิทินแสดงนัดหมาย ถัดไปด้านล่างตรงกลางจะมีชื่อเครือข่ายกับวันที่ และด้านล่างสุดจะเป็นไอคอนเมนูที่ใช้งานบ่อยๆ
ปุ่มกดและความเหมาะมือ
ปุ่มกดของ Motorola E6 มีเฉพาะปุ่มกดใช้งานหลักของเครื่องเท่านั้น ไม่มีปุ่มกดตัวเลข หรือ Key Pad เหมือนโทรศัพท์มือถือทั่วไป โดยออกแบบให้คล้ายกับเครื่อง PDA ที่เน้นการใช้ปากกา Stylus เป็นหลัก ดังนั้นปุ่มกดตัวเลขจึงอยู่บนหน้าจอ Touch Screen แทน สำหรับปุ่มกดที่มีอยู่นั้นประกอบด้วยปุ่มโทรออก/รับสาย, ปุ่ม Navigator Key แบบ 5 ทิศทาง, ปุ่มวางสาย/เปิดปิดเครื่อง, ปุ่มใช้งาน WAP และปุ่มใช้งาน Real Player
นอกจากนี้ยังมีปุ่มที่อยู่ด้านข้างของเครื่องทั้ง 2 ด้าน โดยด้านซ้ายมีปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียง กับปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลงอีก 3 ปุ่ม ส่วนด้านขวามีปุ่มใช้งานกล้องดิจิทัล กับปุ่ม Hold สำหรับล็อคหน้าจอ ส่วนความเหมาะมือนั้นเมื่อลองใช้งานกดปุ่มต่างๆ ดูก็สนองตอบรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่การใช้งานจริงนั้นจะเน้นไปที่การใช้ปากกา Stylus เป็นหลักมากกว่า
การใช้งานปุ่มกด
เมนูการใช้งาน
สำหรับหน้าตาเมนูใช้งานของเครื่อง Motorola E6 จะเป็นแถบเมนูที่อยู่ด้านบนสุดของหน้าจอ ซึ่งเป็นรูปไอคอน 4 อันเรียงกัน วิธีเข้าไปใช้งานเมนูของเครื่อง Motorola E6 ให้ใช้ปากกา Stylus แตะที่ไอคอนทั้ง 4 อัน โดยเมนูแรกเป็น
เมนูรูปไอคอนสี่เหลี่ยม 4 ช่อง เป็นเมนูที่เข้าสู่การใช้งานเมนูต่างๆ ในเครื่องประกอบด้วย Calls, Real Player, FM Radio, BCR, Browser, Camera, Photo Editor, Search, Setup, Video, Calculate, File Manager, Tasks, Notes, Email, Modem, Recorder, Alarm, Calendar, Time, Bluetooth, Sync, STK, Viewer, Platinum Sudoku และ Asphalt2
เมนูรูปไอคอนสัญลักษณ์คนคู่ เป็นเมนูใช้งานสมุดโทรศัพท์ สำหรับบันทึกเบอร์ผู้ติดต่อ, ค้นหาเบอร์, ข้อมูลเจ้าของเครื่อง, คัดลอกจาก SIM Card ลงในเครื่อง และดูสถานะหน่วยความจำ
เมนูรูปไอคอนซองจดหมาย เป็นเมนูสำหรับรับส่งข้อความ โดยรองรับทั้ง SMS และ MMS
เมนูรูปไอคอนหูโทรศัพท์ เป็นเมนูใช้งานโทรศัพท์ เมื่อกดเข้าไปจะเป็นหน้าจอแบบ Virtual Keypad ซึ่งจะเป็นปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่ และในส่วนนี้จะมีเมนูที่ตั้งค่าเกี่ยวกับการโทรต่างๆ เช่น การตั้งค่าระบบที่เลือกใช้ การตั้งค่าการโอนสาย การตั้งสายเรียกซ้อน รวมถึงการตรวจสอบเวลาในการใช้งานทั้งหมดของโทรศัพท์ได้ด้วย
คุณสมบัติการใช้งาน
ด้านการโทร
ในส่วนของการใช้งานโทรศัพท์ เริ่มที่ Phonebook หรือ สมุดโทรศัพท์ บันทึกหมายเลขลงในหน่วยความจำของเครื่องได้ 1,000 ตำแหน่ง โดยใน 1 ชื่อใส่รายละเอียดได้ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล เบอร์มือถือ เบอร์บ้าน เบอร์ที่ทำงาน เบอร์แฟกซ์ อีเมล์ กลุ่มผู้โทร รูปถ่ายแสดงเวลาสายเข้า ที่อยู่ ชื่อเว็บไซต์ เสียงเรียกเข้าเฉพาะ รวมทั้งรายละเอียดส่วนตัวต่างๆ และยังเพิ่มข้อมูลต่างๆ ได้อีกตามต้องการ
ด้านการดูรายละเอียดเกี่ยวกับการโทรต่างๆ สามารถดูรายการเบอร์ที่รับสาย เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย และเบอร์ที่โทรออก ที่อยู่ในเมนู Calls ในเมนูรูปไอคอนสี่เหลี่ยม 4 ช่อง โดยแบ่งเป็น Answered Calls เบอร์ที่ได้รับสาย, Missed Calls เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย และ Dialed Calls เบอร์ที่โทรออก ซึ่งในแต่ละเบอร์จะแสดงรายละเอียดหมายเลข เวลาที่โทร วันที่ และระยะเวลาที่ใช้งาน
สำหรับการตั้งค่าเครือข่ายเพื่อใช้งานนั้น เครื่อง E6 นี้รองรับระบบ Tri Band (GSM 900/1800/1900 MHz) เมื่อใส่ SIM Card เข้าไปเครื่องจะทำการค้นหาเครือข่ายโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าโทรซ้ำอัตโนมัติ, สายเรียกซ้อน, การโอนสาย, ตั้งค่าเบอร์โทรด่วนได้ตั้งแต่หมายเลข 1-9 และยังมีฟังก์ชันสั่งงานด้วยเสียงได้ (Voice Command)
ด้านการรับ-ส่งข้อความ
การรับส่งข้อความรองรับทั้ง SMS, MMS และ E-mail ในส่วนของ SMS สามารถส่งข้อความได้ครั้งละหลายๆ คน มีลายเซ็นอัตโนมัติให้ใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว สำหรับ MMS ทำได้ทั้งส่งภาพพร้อมเสียง หรือไฟล์วิดีโอคลิปได้ และ E-mail รองรับ mail ทั้งแบบ POP3, IMAP4, SMTP และ CMCC Mail ส่วนการพิมพ์ข้อความนั้นเลือกวิธีป้อนข้อความได้ 2 วิธีคือ การใช้คีย์บอร์ดเสมือน และการเขียนข้อความด้วยลายมือ
ด้านออร์แกไนเซอร์
ส่วนของออร์แกไนเซอร์นั้นก็มีให้ใช้งานอย่างครบถ้วน ทั้งปฏิทินแบบดูรายเดือน รายสัปดาห์และรายวันสำหรับบันทึกนัดหมาย สมุดบันทึก บันทึกงาน นาฬิกาปลุก ดูเวลาโลก และเครื่องคิดเลข นอกจากนี้ยังสามารถเปิดอ่านไฟล์เอกสารต่างๆ ได้ เช่น ไฟล์ Word, Excel และ Powerpoint ผ่านทางโปรแกรม Picsel และมีโปรแกรมอ่านนามบัตร (Business Card Reader) สำหรับถ่ายนามบัตรแล้วบันทึกลงในสมุดโทรศัพท์
ด้านมัลติมีเดีย
ด้านคุณสมบัติมัลติมีเดียเริ่มด้วย กล้องดิจิทัลความละเอียด 2 ล้านพิกเซล พร้อมโหมดมาโคร ซูมแบบดิจิทัล ถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ โดยภาพนิ่งเลือกขนาดของภาพได้สูงสุดในขนาด 1600x1200 พิกเซล ซูมดิจิทัล 8 เท่า เลือกระดับแสงได้ 4 แบบ ได้แก่ ปกติ แสงแดด หลอดไฟ และฟลูออเรสเซนต์ เลือกสีของรูปถ่ายได้ 5 สีคือ แบบปกติ, Black/Write, Sepia, Solarize และ Neg.Art เลือกโหมดการถ่ายได้ทั้งแบบ Normal และ Night ตั้งคุณภาพของภาพได้สูงสุดในระดับ High
ส่วนการถ่ายวิดีโอ เลือกขนาดภาพได้สูงสุดคือ 352x288 พิกเซล ตั้งคุณภาพของภาพได้สูงสุดในระดับ High โดยบันทึกไฟล์วิดีโอในรูปแบบ H.263 และ MPEG4 ซึ่งสามารถบันทึกไฟล์วิดีโอ MPEG4 ได้นานต่อเนื่องสูงสุด 5 ชั่วโมง ในส่วนของมัลติมีเดียอื่นๆ นั้น มีโปรแกรม Real Player ซึ่งรองรับการเล่นไฟล์เสียงในรูปแบบต่างๆ เช่น RA v10, AMR NB, MP3, XMF, AMR WB, AAC, WMA v9, AAC+, WAV และยังรองรับการเล่นไฟล์วิดีโออย่าง H.263, MPEG4 และ RV รวมถึงรองรับการเล่น Video Streaming ได้ พร้อมด้วยฟังก์ชันวิทยุ FM Radio ที่บันทึกสถานีได้ถึง 30 สถานีในระบบ Stereo
ด้านการเชื่อมต่อ
ในส่วนของการเชื่อมต่อประกอบด้วย การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ทำได้ด้วย WAP Browser เวอร์ชัน 2.0 ผ่าน GPRS Class 10 รองรับการเปิดเว็บไซต์ด้วยโปรแกรม Opera Web Browser ตัวเครื่องยังรองรับ Java Application สำหรับเรื่องของหน่วยความจำนั้นมีหน่วยความจำภายในแบบ Shared Memory ขนาด 8 MB สามารถเพิ่มหน่วยความจำภายนอกแบบ SD Card ได้สูงสุด 2 GB
ส่วนการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นเพื่อรับส่งข้อมูลและไฟล์ต่างๆ นั้นรองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายอย่าง Bluetooth ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับชุดหูฟังแบบ Stereo Bluetooth ซึ่งรองรับเทคโนโลยี A2DP หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่มีฟังก์ชัน Bluetooth ได้เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อผ่านทางสายดาต้าลิงค์แบบ mini USB เพื่อโอนถ่ายข้อมูลหรือลงโปรแกรมต่างๆ และใช้เป็น Web Cam ได้อีกด้วย
เชิงเทคนิค
การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง
การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง Motorola E6 ได้ทำการทดสอบถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลความละเอียด 2.0 ล้านพิกเซล เริ่มจากการถ่ายภาพนิ่งในโหมดปกติ เลือกคุณภาพของภาพที่ระดับ High และเลือกขนาดของภาพสูงสุด 1200 x 1600 พิกเซล โดยใช้โหมดมาโครถ่ายในระยะใกล้ที่สุดในการ Focus กับวัตถุที่ถ่ายประมาณ 0.6 เมตร ผลปรากฏว่าภาพที่ถ่ายมามีความชัดเจนดี ส่วนการถ่ายภาพทั่วไปโดยรวมแล้วภาพที่ถ่ายมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการถ่ายวิดีโอนั้น ได้ทำการทดสอบโดยเลือกตั้งค่าขนาดของภาพสูงสุดคือ 352x288 พิกเซล และเลือกคุณภาพของภาพสูงสุดคือ High ผลจากการทดสอบปรากฏว่าความสามารถในการบันทึกวิดีโออยู่ในระดับดีด้วยเช่นเดียวกัน
ระยะเวลาในการเปิดเครื่อง
ตามสเปคระบุไว้ว่าสามารถเปิดเครื่องรอรับสายได้นานสูงสุด 235 ชั่วโมง และสนทนาได้นานต่อเนื่องสูงสุด 7 ชั่วโมง สำหรับ Motorola E6 มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 1,000 แบบ Li-Ion ซึ่งจากที่ได้ทดลองใช้งานนั้นการชาร์จแบตเตอรี่เต็มครั้งหนึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยสามารถใช้งานได้ประมาณวันกว่าๆ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะไม่ได้หมดเร็วมากไปกว่ารุ่นอื่นๆ เมื่อเทียบกับ Smart Phone ด้วยกัน
อุปกรณ์เสริม
สิ่งที่จะได้รับเมื่อเปิดกล่องออกมาก็จะมีตัวเครื่อง Motorola E6, แบตเตอรี่ Li-on 1,000 mAh จำนวน 1 ก้อน, การ์ดหน่วยความจำแบบภายนอก SD Card, ปากกา Stylus, สายชาร์จแบตเตอรี่ ,ชุดหูฟังสมอลล์ทอล์ค, สาย Data Link แบบ mini USB พร้อมแผ่น CD Rom และคู่มือการใช้งาน
Motorola E6 นับเป็นโทรศัพท์มือถือ PDA Phone รุ่นล่าสุดที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Linux OS ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเครื่องพีดีเอต้นแบบใหม่ของโมโตโรล่า โดยใช้การดีไซน์แบบบางเฉียบที่โมโตโรล่าเป็นต้นแบบมาใช้ในเครื่องรุ่นนี้ นอกจากดีไซน์ที่เป็นจุดเด่นแล้ว E6 ยังเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติการใช้งานทั้งด้านการโทร ออร์แกไนเซอร์ และมัลติมีเดียที่ครบครันอีกด้วย
สนับสนุนเนื้อหาโดย