Pioneer 5.1 Ch. Surround System

Pioneer 5.1 Ch. Surround System

Pioneer 5.1 Ch. Surround System
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Pioneer
5.1 Ch. Surround System

 

HTP-LX70

SSP-LX70ST Setellite Speaker

SX-LX70W audio muti-channel receiver subwoofer

AS-LX70 accessory box

 
‘Mini Dynamite’
 
ผมเคยสงสัยว่าเทคโนโลยีของเสียงเซอร์ราวนด์ซาวนด์สำหรับโฮมเธียเตอร์มันจะไป หยุดอยู่ตรงไหน แต่ก่อนเราเคยพอใจกับเสียงเซอร์ราวนด์ในยุคของดอลบี้โปรโลจิก พอฟอร์แมตดีวีดีเข้ามา เอาแบบอุ่นใจหน่อยอย่างน้อยก็ต้องดอลบี้ดิจิตอล 5.1 ถ้าจะโชว์วิสัยทัศน์ให้รู้ว่าคร่ำหวอดในวงการนี้มากขึ้นก็ต้อง DTS พอมาปัจจุบันอะไรๆ ก็เป็นไฮ-เดฟหมด ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งระบบเสียง ผมถึงเป็นห่วงว่าการพัฒนาชุดระบบเสียงที่จะเอามาใช้ในโฮมเธียเตอร์นี่มันจะ ไปจบอยู่ที่ไหน ความยุ่งยากก็ตรงที่เหมือนกับว่า DTS กำลังนำเสนอระบบเสียงของเขาที่ใช้จำนวนลำโพงมากกว่า 5.1 แชนแนลยิ่งเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับบางคนเพิ่มขึ้นอีก

ผมพบวิธีง่ายๆ ที่จะเล่นโฮมเธียเตอร์ในระบบเสียงใหม่ๆ ในแผ่นบลู-เรย์ แบบที่ไม่ยุ่งยาก แค่แกะกล่องออกมาแล้วหาที่วางลำโพงเล็กๆ ทั้งสี่ตัว คุณก็ดื่มด่ำกับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ได้อย่างไม่ตกยุค ไม่ต้องไปขนขวายหาเอวีรีซีฟเวอร์รุ่นใหม่ๆ ให้ยุ่งยาก ไม่ต้องไปควานหาสายลำโพงดีๆ เมตรละสาม-สี่พันให้ปวดหัว (เพราะมันเอามาใช้กับลำโพงชุดนี้ไม่ได้) สวยหรูแบบโชว์เป็นเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างไม่เคอะเขิน แถมยังต้องทำให้เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมอึ้งกับคุณภาพเสียงที่เข้าขั้น ‘แปลกแต่จริง’ ที่พูดมาทั้งหมดนี้หาได้ใน Pioneer HTP-LX70 ชุดลำโพง 5.1 แชนแนลพร้อมภาคถอดรหัสเพียงตัวเดียวครับ น่าสนใจไหมล่ะ
 
 สวยจนไม่เชื่อว่านี่คือลำโพง
หนึ่ง ชุดของ HTP-LX70 ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่บรรจุแยกมา 3 กล่องใหญ่ กล่องแรกเป็นลำโพงรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูทั้ง 4 ตัว ทำจากพลาสติก ABS สีดำเงาวับ เป็นพลาสติกที่ใช้ในอุปกรณ์ที่ต้องการความสวยงาม และแข็งแกร่งเป็นพิเศษ อย่างหัวไม้กอล์ฟบางรุ่นก็ทำขึ้นมาจากวัสดุชนิดนี้ จึงไม่ต้องกลัวว่าความรู้สึกต่างๆ จะไปเหมือนกับลำโพงเล็กๆ ทั่วๆ ไป ตัวลำโพงแต่ละแชนแนลประกอบด้วยดอกลำโพงจำนวนไม่เท่ากัน (แชนแนลด้านหน้ามีแชนแนลละ 3 ดอก) ที่เหมือนกันคือลำโพงแต่ละดอกทำงานเป็นฟูลเรนจ์เหมือนกันหมด ขนาด 5.2 ซ.ม. เท่านั้น ขั้วต่อลำโพงก็เป็นแบบกดหนีบขนาดเล็ก ทุกตัวมีฐานอย่างหรู ทำขึ้นมาจากวัสดุชนิดเดียวกันรองด้านใต้ลำโพง มีนอตยึดแน่นหนาด้านหลัง ทีแรกผมไม่เห็นเหตุผลที่ต้องมีฐานของลำโพงแยกมาประกอบกันทีหลัง แต่คิดอีกทีน้ำหนักของตัวฐานมันก็สร้างความมั่นคงให้กับลำโพงแต่ละตัวอีกไม่ น้อย (พอถึงช่วงที่ลองฟังเสียงถึงรู้ประโยชน์ของมัน) ด้านหลังมีตัวหนังสือระบุตำแหน่งว่าเป็นลำโพงแชนแนลไหนไวแล้วลำโพงเซ็นเตอร์มันหายไปไหน!!!

 มันไม่ได้หายหรอกครับ ชุดลำโพงของ HTP-LX70 นี่ มันฝากเซ็นเตอร์แชนแนลไว้กับลำโพงหลักทั้ง ซ้าย-ขวา ไม่ต้องตกใจครับ ไม่เหมือนกับการจำลองเสียงเซ็นเตอร์แบบเทียมๆ จากลำโพงคู่หลักอย่างที่คุณเล่นแบบไม่มีเซ็นเตอร์แชนแนล ในกรณีนี้ต้องต่อสายลำโพงที่ระบุว่าเป็นเซ็นเตอร์แชนแนลซ้าย หรือขวาให้ถูก HTP-LX70 จะให้เสียงสนทนาจากเซ็นเตอร์แชนแนลให้ออกมาอยู่ตรงกลางจอแป๊ะ เห็นไหมครับไม่ต้องมีลำโพงเซ็นเตอร์มาเกะกะ มีเสียงมาอยู่กลางจอได้เหมือนกัน ลำโพงสามารถจัดวางได้เหมือนกับลำโพงเซอร์ราวนด์ทั่วไป หรือถ้าใครขี้เกียจ ไม่สะดวก เขาก็มีทางเลือกให้ เดี๋ยวเราค่อยมาว่ากันต่อเรื่องการวางลำโพง

ชิ้นส่วนที่สำคัญอีกชิ้น เป็นชิ้นใหญ่กว่าชาวบ้านเขา ไพโอเนียร์เรียกว่า ‘audio muti-channel receiver subwoofer’ เป็นแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ดูรูปทรงหน่วยก้านแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับแอคทีฟซับวูฟเฟอร์สำหรับใช้ในโฮมเธียเตอร์ แต่ถ้าเปิดฝาด้านข้างออกมาก็จะเห็นทั้งขั้วต่อออพติคัล, ขั้วต่อลำโพงที่แบ่งเป็นสีเฉพาะแต่ละแชนแนล, ขั้วต่อเสาอากาศ และ RCA แจ๊คสำหรับรับอินพุตเสียงในแบบอะนาล็อกดั้งเดิม ที่ฝามีคำอธิบายไว้ชัดเจนครับไม่ต้องกลัวต่อผิดต่อถูก ด้านหลังของซับฯ ตัวนี้มีช่อง HDMI ให้พร้อมรองรับภาคถอดรหัสในตัวที่มีครบทั้ง Dolby TrueHD และ DTS HD Master Audio ไม่ให้เสียชื่อไพโอเนียร์ เป็น HDMI IN 3 ชุด และ OUT หนึ่งชุด ยังครับ อุปกรณ์อีกชิ้นสำหรับชุดนี้ที่ขาดไม่ได้คือ ส่วนแสดงผลที่แยกออกมาต่างหาก แสดงผลเป็นตัวอักษรหนึ่งแถวที่ขนาดใหญ่ชัดเจนดี ยังเอาไว้รับสัญญาณรีโมตด้วยในตัว และเป็นช่องเสียบอินพุตออดิโอง่ายๆ อีกสองชุด และที่สำคัญมันเป็นตัวกลางในการปรับแต่งเสียงแบบอัตโนมัติด้วยฟังก์ชัน ‘Auto MCACC’ ของไพโอเนียร์ที่ให้มาอีก

ยังไม่หมดครับ อุปกรณ์ต่างๆ ประเภทสายสัญญาณสายลำโพงเหมือนจะรู้ว่าคนที่เล่น HTP-LX70 นี่ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่าต้องมีอะไรอีกบ้าง อย่างสายลำโพงก็มีให้ทั้ง 4 แชนแนลแยกเป็นสีแต่ละสี ขนาดความยาวของสายใช้กับห้อง 4x6 ได้สบาย หน้าตาของฉนวนหุ้มอาจไปละม้ายคล้ายสายไฟสักหน่อย สายออพติคัลก็ให้มาหนึ่งเส้น เอาไว้ต่อกับเครื่องเล่นที่ไม่มีช่อง HDMI ถึงแม้ว่าคุณมีดีวีดี หรือแหล่งโปรแกรมอื่นที่มีช่อง HDMI เค้าก็เตรียมสาย HDMI เอาไว้ให้อีกหนึ่งเส้นเป็นสายหน้าตาธรรมดาๆ ที่ผมทดสอบเองกับมือแล้วว่าเป็นสเปคของ HDMI 1.3 ชัวร์ และก็ยังมีสายที่ต่อเชื่อมกับ iPod อีกหนึ่งเส้น เป็นธรรมเนียมของเครื่องเสียงจากค่ายนี้ที่รู้ความต้องการของลูกค้าของเค้า รีโมตคอนโทรลที่ให้มาด้วยก็ดูดี น่าลูบ น่าคลำมาก สีดำทั้งตัวหน้าปัดเป็นทัชสกรีนตัวหนังสือสีส้ม ควบคุมอุปกรณ์อื่นๆ ที่คุยกันผ่านทางสาย HDMI ได้ 
     ตัวเครื่องน่าสนใจตรงเป็นชุดลำโพง 5.1 แชนแนลพร้อมภาคถอดรหัสที่ทันสมัยทุกชนิด แต่ต้องอาศัยสาย HDMI พ่วงมาจากแหล่งโปรแกรมของคุณด้วย ความสวยไม่ต้องพูดถึง ผมยังคิดเลยว่าถ้ามีสีขาวให้เลือกด้วยก็แจ่มเลย และชุดนี้ไม่ต้องหาที่วางลำโพงเซ็นเตอร์ให้ยุ่งยาก ซึ่งก็เข้ากับบุคลิกของจอแบนเดี๋ยวนี้ที่ไม่มีที่เหลือสำหรับวางลำโพงเซ็น เตอร์อีกแล้ว เสียดายตรงลำโพงทั้งหมดดูเหมือนไม่ได้ออกแบบมาให้ติดผนัง จึงต้องการที่วางที่เหมาะสมด้วย
 
 การเชื่อมต่อ+ติดตั้ง
การ ติดตั้งสำหรับลำโพงชุดนี้ คุณอาจจะงงหน่อยเหมือนผมเรื่องการวางลำโพง เพราะในคู่มือก็เป็นแค่รูปขนาดเล็กๆ สำหรับชุดนี้คุณมีทางเลือกได้สองอย่างคือ วางแยกเป็นชุดโฮมฯ 5.1 ธรรมดาเหมือนที่ผมใช้  หรือพลิกแพลง เอาลำโพงเซอร์ราวนด์มาวางไว้ด้านหน้าคู่กับแชนแนลหลักได้ด้วย โดยใช้ร่วมกับฟังก์ชัน ‘Front Stage Surround Advance’ ที่รีโมต แน่นอนว่านั่นเป็นทางเลือกที่จำเป็นจริงๆ นะครับ เสียงเซอร์ราวนด์จากการวางลำโพงแยกออกมาตามฟอร์แมต ยังไงก็ได้อรรถรสสมจริงกว่า ลำโพงระบุตำแหน่งเรียบร้อยว่า ตัวไหนของแชนแนลไหน แต่จะหันรี หันขวางอย่างไรนี่สิผมพิจารณาอยู่พักหนึ่ง จะสังเกตเห็นว่าลำโพงมันมีโลโก้คำว่า ‘Pioneer’ สกรีนอยู่ แชนแนลหน้าก็หันโลโก้มาให้มองเห็น แต่ถ้าเป็นแชนแนลหลังหันโลโก้ไปยังจอ อย่าเพิ่ง นะครับ ถ้าเซ็ตได้แบบนี้ลำโพงทุกแชนแนลจะมีอย่างน้อยหนึ่งดอกที่ทำมุมยิงเสียงเข้า ผนัง นั้นแหละเป็นเคล็ดที่ไม่ลับของเสียงจากลำโพงชุดนี้เลย
     พอเซ็ตเสร็จแล้วอย่าลืมเสียบไมค์แบนๆ ตัวเล็กๆ ที่ให้มาเข้ากับด้านหลังจอดิสเพลย์ด้วยครับ เสียงเซอร์ราวนด์เดี๋ยวนี้จะดีได้ไม่ต้องปวดหัวเซ็ตเองแล้ว กดที่รีโมตบนหน้าจอที่เขียนว่า ‘MCACC’ เท่านั้นแล้วเดินออกจากห้องไปเลยก็ได้ เพราะมันไม่ต้องการเสียงอื่นนอกจากเสียงของลำโพง ใช้เวลาประมาณเกือบสิบนาทีเหมือนกัน เหมือนจัดการเซ็ตเสียงทั้งหมดทุกแชนแนลให้เข้ากับห้อง ทั้งระดับเสียง, ไทม์ดีเลย์ และแถมยังอีควอไลซ์เสียงอีกด้วย อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของนักบริสุทธิ์นิยมเท่าไหร่นัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันน่าฟังกว่าก็ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นให้รกสมองแล้วผมว่า
 
ประสิทธิภาพ
คุณสมบัติ ของลำโพงที่มีขนาดเล็กเมื่อเอามาใช้ในโฮมเธียเตอร์ บางครั้งด้วยขนาดของมันก็ทำให้เราเชื่อยากว่ามันจะทำได้ดี เพราะขนาดไดรเวอร์ถูกจำกัดอยู่เพียง 2 นิ้ว แต่สำหรับวิศวกรของไพโอเนียร์คงจะถือเป็นเรื่องความท้าทายมากกว่า อย่าลืมว่าตัวแปรของมันทุกตัวบั่นทอนคุณภาพเสียงได้ทั้งนั้น ทำเอาบางครั้งผมออกอาการใจอ่อนลงไปบ้างก็มีถ้าถามว่าเมื่อเทียบชุดโฮมเธียเตอร์ในระดับเดียวกัน บางสิ่งที่ HTP-LX70 มี และชุดอื่นไม่มีคืออะไร ?ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องเป็นเรื่องภาคถอดรหัสที่ไพโอเนียร์ใส่ลงมาในสินค้าหมวดนี้ก่อนเจ้าอื่น แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ตรงนั้นครับ HTP-LX70 ที่ผมได้ยินมันคือความพยายามที่ลงตัวของพื้นที่การใช้สอย กับประสิทธิภาพของเสียงที่ยอมหัก แต่ไม่ยอมงอมากกว่า’ผมกำลังจะหมายความว่าด้วยขนาดที่จำกัดของมัน มันแสดงคุณภาพออกมาอย่างคงเส้นคงวา ไม่โอ้อวด ไม่ได้ต้องการให้คุณเอาไปลงสนามเปรียบเทียบกับลำโพงที่ขนาดใหญ่กว่ามัน แต่คุณสามารถเร่งวอลุ่มได้จนสุดโดยที่มันยอมให้ความเพี้ยนออกมาเจือปนน้อย มาก น้อยกว่าลำโพงขนาดเล็กทั่วๆ ไปที่ผมเคยทดสอบ ผมเร่งความดังขึ้นไปจนคิดว่า น่าจะได้อารมณ์ของหนังสงคราม อย่างแผ่นบลู-เรย์ เรื่อง Black Hawk Down ถ้าจะดูให้สนุก เสียงปืน เสียงระเบิดที่ได้ยินก็ต้องไม่ให้เป็นที่อึดอัด เรื่องนี้ยอมกันไม่ได้อยู่แล้วกับการบันทึกเสียงที่ได้ออสการ์มาการันตี เสียงฉากที่เฮลิคอร์ปเตอร์ถูกยิงตก เป็นจุดเริ่มต้นการวางแผนที่ไม่เป็นไปตามแผน ความสบสน การตัดสินใจแก้ปัญหา อยู่ในสภาวะเสียงที่สบสนอลหม่านไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มีแต่เสียงปืนเสียงระเบิดรอบตัว HTP-LX70 ผ่านฉากนี้อย่างไม่ยี่หระ โดยเฉพาะเสียงกระสุนปืนที่กระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ต้องขอยกย่องคุณภาพของซับวูฟเฟอร์ในชุดนี้ว่า คุณภาพเกินกว่าที่ประเมินเอาไว้ในตอนแรก...มาก!!! มันไม่แสดงอาการว่าเป็นซับฯ ของชุดลำโพงขนาดเล็กให้ได้ยินเลยแม้แต่น้อย และถึงกับทำเอาผมลืมซับฯ 10 นิ้วตัวเก่งของเราไปเลย โดยเฉพาะจากเซ็นเตอร์แชนแนลที่ปรับเปลี่ยนให้ไปฝากไว้กับแชนแนลอื่นก็ไม่ได้ ทำให้ ลำโพงชุดนี้บกพร่องแต่ประการใด ผมเพียงแต่รู้สึกว่าเครื่องเซ็ตอัพเสียงของแชนแนลนี้มาน้อยไปนิดทำให้บท สนทนาเบาไป ก็เข้าไปเร่งเพิ่มได้ไม่มีปัญหา

ความเป็นเซอร์ราวนด์ของชุดนี้พูดได้ว่าดูจะตอบสนองถึงจุดสูงสุดของความเป็น เซอร์ราวนด์ คือ ‘ไม่มีเสียงที่มาจากลำโพงเซอร์ราวนด์’ เพราะด้วยว่าลำโพงถูกออกแบบมาให้เสียงเซอร์ราวนด์เป็นเสียงที่สะท้อนก้อง น้อยครั้ง ที่ตั้งใจให้ระบุถึงที่มาของเสียง การเซ็ตอัพก็คงจะถูกโน้มไปในทางนั้น เสียงเซอร์ราวนด์ที่ได้จึงเต็มห้อง แต่ก็ยังไม่ทิ้งทิศทาง การแพนเสียงที่ยังรับรู้ได้ จากเรื่องเดียวกัน ฉากคนท้องถิ่นที่ติดอาวุธ ยิงอาร์พีจีวิ่งผ่านไหล่จากข้างหลังพุ่งตรงไปหน้าจอตามภาพที่ตาเห็น ถึงตรงนี้ผมไม่ห่วงเลยว่า ประสิทธิภาพของลำโพงชุดนี้มันจะรับเอาหนังสไตล์อื่น อย่างที่คุณชอบไม่ได้    
 
สรุป
ไพโอเนียร์ เลือกจับกลุ่มลูกค้าที่เน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ยังไม่ทิ้งการออกแบบในสไตล์ เรียบ หรู คลาสสิกมากขึ้น สินค้าโฮมเธียเตอร์แบบที่รวมอุปกรณ์ต่างๆ สำเร็จรูปเข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่เพิ่งจะมี ในวงการนี้อาจมีคนทำได้ไม่ยากนัก ซึ่งคนที่ทำได้ ก็หาแบบที่ลงตัว คุณภาพเสียงดีๆ น้อยมากครับ เพราะมันมีปัจจัยเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ต้องระดมความรู้ความเชี่ยวชาญในอุปกรณ์สาม สี่ชิ้น ถึงจะจับต้นชนปลายถูก แต่หลังจากได้ขลุกกับ HTP-LX70 อยู่พักใหญ่ ผมจึงคิดว่าถ้าจะแนะนำเครื่องเสียงสำเร็จรูปสักชุด แบบที่เทคโนโลยีกับดีไซน์มาบรรจบกัน หากเอาแต่เพียงราคาค่าตัวในการตัดสินก็ทำได้ แต่ยังไงซะ สุดท้ายก็ต้องมาจบที่คุณภาพเสียง เรื่องนี้สิ...ไพโอเนียร์เขาเคยประนีประนอมซะที่ไหน
 
 ตัวแทนจำหน่าย : บริษัท ไพโอเนียร์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร : 0-2643-9444
ราคา : 69,990 บาท/ตัว

 
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ :
เครื่องเล่นบลู-เรย์ : Pioneer BDP-LX70A
ดีแอลพีโปรเจ็กเตอร์ Infocus IN82
จอภาพ  :  Stewart FireHawk
สายสัญญาณภาพ : Furutech Alpha Process (HDMI), WireWizard (HDMI)
สายลำโพง : Kimber Kable 4 TC (single-wire)
สายไฟเอซี : Virtual Dynamic David 2.0
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์  : Clef PowerBRIDGE-8
ชั้นวางเครื่อง : Rezet

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook