Marantz SR8002 A/V Receiver for Hi-Def Era

Marantz SR8002 A/V Receiver for Hi-Def Era

Marantz SR8002 A/V Receiver for Hi-Def Era
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Marantz SR8002
A/V Receiver for Hi-Def Era

 

ผู้ผลิตเครื่องเสียงที่ยังประสบความสำเร็จอยู่ทั้งฝั่งออดิโอ และทั้งโฮมเธียเตอร์นั้น ปัจจุบันมีไม่มากนักครับ ไฮ-เอ็นด์บางเจ้าที่ผันตัวเองจากพื้นฐานที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักเล่นสองแชนแนลนิยม พอจับต้องโฮมเธียเตอร์เพื่อหวังพึ่งใบบุญสองแชนแนลไปไม่ถึงฝั่งก็หลายยี่ห้อ ผมประเมินเล่นๆ ก็มีเหตุผลอยู่สองข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ข้อแรกสินค้าในหมวดโฮมเธียเตอร์ยุคดิจิตอลนี่ไม่ใช่ง่ายๆ ยุ่งวุ่นวายกับเรื่องซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ไม่หยุดหย่อน ถ้าไฮ-เอ็นด์เจ้าไหนที่ไม่มีแบคกราวนด์ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ หรือยุ่งกับซอฟต์แวร์อยู่ก่อนก็ไปต่อลำบาก ส่วนเจ้าไหนที่เชี่ยวชาญอยู่ก่อนแล้วก็ถือว่ายุคดิจิตอลนั้นก็เป็น ‘ขนม’ หรือ ‘ของเล่น’ ไปเลย
 
    
อีกข้อหนึ่งที่ไม่ใช่พฤติกรรมของสินค้าไฮ-เอ็นด์ก็คือ การเปลี่ยนรุ่นของสินค้า ทางฝั่งโฮมเธียเตอร์นั้นนิยมเปลี่ยนรุ่นกันเป็นว่าเล่น ไล่ตามเทคโนโลยีจนแซงหน้าอุตสาหกรรมอื่นไปแล้ว ดูอย่าง Blu-Ray disc นี่ ผมว่ายังมีคนไม่เคยเห็นหน้าตาแผ่นของมันเลย เป็นเราเองหยิบใส่ หยิบใส่ จนเบื่อไปแล้ว ฉะนั้นถ้าไฮ-เอ็นด์คิดจะมาจับสินค้าโฮมเธียเตอร์ล่ะก็ต้องลงทุนกันสูงพอควรเชียวล่ะ
    
มารานทซ์จะว่าไปแล้วก็เข้าข่ายมีชื่อเป็นเครื่องเสียงที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของทั้งสองกลุ่ม อาจจะไม่ถึงกับไฮ-เอ็นด์แบบสุดขั้วจนจับต้องทีไรตัวเลขในบัญชีหายวับไปกับตา แต่ถ้าว่ากันที่เรื่องเสียงกับความคุ้มค่าแล้วล่ะก็ เป็นที่ทราบกันดีว่าอย่างน้อยๆ คนที่ชอบเล่นเครื่องเสียงก็ต้องเคยผ่านมือมาคนละชิ้นสองชิ้นล่ะครับสำหรับเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ ยิ่งทางฝั่งโฮมเธียเตอร์ มารานทซ์ถือว่ามีสินค้าครบทั้งไลน์ ตั้งแต่เครื่องเล่นที่เป็นแหล่งโปรแกรมไปจนถึงโปรเจ็กเตอร์ทางด้านภาพ แต่ไฮไลต์ของมารานทซ์ชั่วโมงนี้ต้องเป็นตัวนี้ครับ
    
เอวีรีซีฟเวอร์รุ่น SR8002 เพื่อเอามาจับกระแส High Definition ที่กำลังร้อนแรง ยุคที่กำลังก้าวไปสู่รหัสเสียงระบบใหม่กำลังมาถึง ยุคที่การเซ็ตอัพการปรับแต่งเสียงอัตโนมัติเข้าสู่จุดสมดุลเพิ่มคุณภาพเสียงได้จริง ยุคที่เอวีรีซีฟเวอร์มี Deinterlacing ในตัวเพื่อจัดการกับสัญญาณภาพที่ผ่านเข้ามา ถ้าใครอยากรู้ว่าเอวีรีซีฟเวอร์ในยุคไฮ-เดฟฯ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรผมกำลังจะสาธยายให้ฟังครับ 
 
 
รูปลักษณ์ และการออกแบบ
มารานทซ์ SR8002 ตัวนี้ใช้พื้นฐานโครงสร้างเดิมของเอวีฯ ในรุ่นก่อนหน้าของตัวเอง ยังเป็นเอวีฯ รุ่นรองท็อปของตระกูล ด้วยการออกแบบที่เน้นหน้าตาให้ดูสะอาดสะอ้าน เป็นสีเงินอะลูมินั่มทั้งตัวเครื่อง ปุ่มที่ดูรกรุงรังสำหรับผู้ใช้เอามาซ่อนไว้ภายใต้หน้าปัดใต้จอแสดงผลเกือบทั้งหมด เหลือทิ้งไว้แต่ลูกบิดขนาดใหญ่สองอันให้บาลานซ์กัน และยังคงไว้ซึ่งช่องต่ออิน-พุต ด้านหน้า ทั้งภาพ และเสียงในแบบง่ายๆ สำหรับต่ออินพุตแบบฉุกเฉิน เช่นกล้องดิจิตอล หรือพวกอุปกรณ์มัลติมีเดียพกพาทั้งหลาย ที่ดูเก๋ก็ต้องเมื่อตอนปิดไฟจะเห็นไฟ LED สีน้ำเงินอยู่เหนือลูกบิดอันใหญ่ทั้งสองอัน ดูสวยดีมีระดับขึ้น หากไม่ชอบก็สามารถสั่งปิดได้ตามอัธยาศัย โลโก้สรรพคุณทั้งหลายสกรีนเรียงรายไว้ด้านล่างตรงกลางเครื่อง ดูสัญลักษณ์ต่างๆ บางตัวอาจไม่คุ้นเคย ไม่เคยพบเห็นที่ไหน เพราะสำหรับ SR8002 ของมารานทซ์แล้วเป็นหนึ่งในสองตัวแรกของเอวีฯ ยุคไฮ-เดฟ ที่มีดีโค้ดเดอร์สำหรับถอดรหัสเสียงแบบ Lossless Audio Compression ทั้งสองระบบ (อีกตัวหนึ่งคือ SR7002 ที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กัน) ทั้ง Dolby True HD กับ DTS-HD Master Audio นี่เป็นเอวีรีซีฟเวอร์ที่ผ่าทางตันของการรองรับระบบเสียงในยุคหน้า นำร่องมาก่อนเครื่องแรกๆ !!!
    
นับเป็นธรรมเนียมของเอวีรีซีฟเวอร์ เมื่อมีระบบเสียงแบบใหม่ๆ มา ผู้บริโภคมักจะคาดหวังกับประสิทธิภาพเสียงเต็มๆ ที่จะได้รับจากเอวีแอมป์มากกว่าถอดที่ตัวเครื่อง นั่นเป็นคำถามที่รอการพิสูจน์อีกไม่กี่อึดใจ
    
โลโก้ที่น่าสนใจอีกตัวเห็นจะเป็นตัวหนังสือที่เขียนว่า ‘Audyssey MultEQ’ ถ้าคุณยังไม่รู้จักไม่เป็นไร เกริ่นเอาไว้ในเบื้องต้นว่า ต่อไปนี้ในโลกของโฮมเธียเตอร์ยุคดิจิตอล คุณไม่ต้องกังวลว่า ลำโพงแต่ละแชนแนลจะทำงานเข้ากันไม่ได้ โทนเสียงไปคนละทาง หรือวางลำโพงชิดผนัง หรือแขวนเซอร์ราวนด์เอาไว้สูงแล้วจะทำให้เสียงบางจางลงไป มารานทซ์จับมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโปรเฟสเซอร์ทางด้านเสียง อย่าง Audyssey Laboratories ชื่อนี้ตัวจริง เสียงจริงแน่นอนครับ ไม่ได้โม้...เป็นผู้ออกแบบซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถปรับแต่งเสียงในแต่ละแชนแนลในออกมากลมกลืนอย่างที่คุณไม่เคยเจอมาก่อน ระบบนี้ทำงานร่วมกับไมค์อันเล็กๆ ที่มาพร้อมกัน
    
หันมาดูด้านหลังกันบ้าง SR8002 ยังคงอัดแน่นด้วยขั้วต่อต่างๆ ทั้งภาพและเสียงอยู่ครบครัน ‘เพียงพอ’ และ ‘เกินเลย’ ไปถึงระบบ Multi Room, Multi Zone อย่างที่เอวีฯ รุ่นใหญ่ๆ นิยมทำกัน ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ควรเอามากล่าวถึงก็ตัวอย่างเช่น ขั้วต่อ HDMI เวอร์ชั่น 1.3a ที่รองรับสัญญาณภาพ 1080p/24Hz มีให้ถึง 4 ชุด แถมยังเป็น Swicther ในตัว มีเอาต์พุต HDMI ออกมาถึงสองชุดด้วยกัน อินพุตภาพ และเสียงแยกกันอยู่เป็นระเบียบ ด้านบนกับด้านล่าง โดยเฉพาะด้านภาพ SR8002 ถูกออกแบบมาให้เป็น ‘video conversion’ ในเครื่องเดียวกัน หมายความว่า มันสามารถแปลงสัญญาณภาพจากขั้วต่อที่ด้อยกว่า เช่นจาก Composit S-Video หรือจาก S-Video-> Component ไม่เพียงแค่นั้น ทั้งหมดของสัญญาณภาพที่เป็นอะนาล็อกยังถูกเลือกให้ไปออกทางช่อง HDMI ก็ยังได้ ถ้าคุณนึกภาพประโยชน์การใช้งานในฟังก์ชันนี้ไม่ออก ลองจินตนาการถึงอุปกรณ์ที่ต้องใช้ภาพทุกชนิดเมื่อเอามาเชื่อมกับ SR8002 แล้วลากสาย HDMI ไปที่ดิสเพลย์เส้นเดียว เท่านั้นจบ!! สะดวกไหมล่ะครับ นี่น้องๆ พวก video processer เลย แถมยังแปลงจากสัญญาณอินเทอร์เลซ ให้เป็นโปรเกรสซีฟสำหรับจอดิจิตอลทั้งหลายได้อีก
    
เมื่อเป็นเอวีรีซีฟเวอร์ก็ต้องมีภาคขยาย SR8002 มีภาคขยายทั้งหมด 7 แชนแนล แชนแนลละ 125 วัตต์ เสมอเหมือนกันหมดที่ 8 โอห์ม แต่คุณอาจแปลกใจเมื่อเห็นขั้วต่อลำโพงด้านหลังถึง 11 ชุด ตามกระแสนิยมครับ ยุคของมัลติรูม ก็อยากให้ห้องอื่นได้ฟังเพลง ฟังข่าวได้โดยไม่ต้องหาวิทยุมาตั้งไว้ห้องละเครื่อง สองเครื่อง ระบบมัลติรูมเป็นทางออกที่ดี SR8002 ก็เปิดโอกาสให้คุณดีไซน์ทั้งระบบภาพ และเสียงเพิ่มได้อีกสองห้องโดยใช้ทรัพยากรที่เป็นแหล่งโปรแกรมร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันนะครับขอโทษ SR8002 ของมารานทซ์ลงทุนแจกรีโมตให้คุณถึงสองตัวก็เพื่องานนี้โดยเฉพาะ
    
และถ้าพูดถึงขุมพลังข้างในทั้งเจ็ดแชนแนลยังเป็นเครื่องยืนยันเรื่องความแตกต่างจากเอวีฯ ของค่ายอื่นอยู่เหมือนเดิม ยกเทคโนโลยีที่ใช้ออกแบบแอมปลิไฟเออร์ของมารานทซ์เองที่ทำขึ้นมาสำหรับนักฟังเพลง เอามาไว้ในภาคขยายของ SR8002 ทั้งกระบิ เป็นวงจรขยายแบบป้อนกลับ (Current-feedback operational amplifier) เป็นหลักการของ electronic amplifier ที่ในวงการยังเชื่อว่าเป็นการออกแบบภาคขยายที่ถ่ายทอดความสุนทรีย์ของความเป็นดนตรีได้เป็นอย่างดี ต่างจากพวก voltage-feedback ใน operational amplifier หรือ op-amp ที่นิยมใช้ไอซีในการขยายสัญญาณ SR8002 จึงต้องมีภาคเพาเวอร์ทรานสฟอร์เมอร์ขนาดใหญ่เป็นที่มาของความหนัก ซึ่งเอาเรื่องถึง 15 ก.ก. อันนี้ส่งผลกับระบบเสียงในฟอร์แมตใหม่ๆ ด้วยนะครับ เพราะเมื่อต้นทางมีรายละเอียดสูงขึ้น ภาคขยายก็ต้องเตรียมอ้าแขนรองรับรายละเอียดสูงๆ พร้อมกันด้วย ดูจะเข้าทางของภาคขยายที่มารานทซ์ใช้กับ SR8002 เพราะคร่ำเคร่งอยู่กับพวกมัลติแชนแนลไฮเลโซลูชั่นมานานสมัยที่คลุกคลีอยู่กับ SACD กับ DVD-Audio และโดยหลักการที่มันสามารถรักษาอิมพีแดนซ์ให้คงที่ได้ดีกว่า ผลลัพธ์ก็คือปัญหาเรื่องเฟสที่เพี้ยนไปจากตอนก่อนขยายก็ลดน้อยลงไป เป็นไงครับ ไส้ในของ SR8002 นี่ ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะ...ขอบอก    
    
มารานทซ์เติมความฝันของคนที่ชอบดูภาพยนตร์ในบ้านให้ถึงที่สุด ด้วยตัวถังรูปทรงเอวีรีซีฟเวอร์รุ่นเดิมๆ ของมารานทซ์ก็ยังดูทันสมัยอยู่ SR8002 จึงดูไม่แปลกตาไปจากเครื่องรุ่นที่แล้วเมื่อหยิบตัวถังเดิมมาใช้ แต่จะคาดการณ์ว่ามันมีประสิทธิภาพเหมือนรุ่นเดิมด้วยตาคงไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกวงการมันอยู่ข้างใน ด้วยการใส่ภาคถอดรหัสมาครบทั้ง Dolby True HD กับ DTS HD Master Audio แบบครบเครื่อง ชิงเปิดตัวออกมาตักตวงในตลาดเอวีรีซีฟเวอร์ระดับบนกันก่อน เลือกให้ฟังก์ชันต่างๆ มาอย่างพิถีพิถันอย่างการปรับแต่งเสียงอัตโนมัติของ Audyssey MuliEQ, ฟังก์ชันมัลติรูม ฯลฯ
 
 
MultEQ เมื่อมือโปรมาเซ็ตเสียงให้ถึงบ้าน
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการเซ็ตอัพเสียงในระบบโฮมเธียเตอร์นี่มันสำคัญ ถึงสำคัญมาก เพราะลำโพงก็หลายตัว (ถ้าเป็นระบบ 7.1 แชนแนลก็ 8 ตัว) ห้องหับบางห้องก็ไม่ได้ตระเตรียมไว้สำหรับวางลำโพงหลายๆ ตัว บางครั้งรู้ตำแหน่งของลำโพงก่อนหน้าที่จะแกะมันออกมาจากกล่องไม่กี่วินาที นั่นยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่ อีแบบนี้ถ้าคุณไปจ้างช่างเซ็ตอัพฝีมือดีขนาดไหนเขาก็อาจส่ายหน้าไม่รับงานได้ครับ ไม่เป็นไรฟังก์ชัน MultEQ ของ SR8002 รับงานนี้ของคุณแน่นอน เพียงแต่คุณเอาไมค์ตัวเล็กๆ ที่ให้มาด้วยถือไปวางไว้ในตำแหน่งที่คิดว่าจะเป็นที่นั่งชมภาพเท่านั้น ข้อจำกัดก็คือตำแหน่งเหล่านั้นต้องไม่มากไปกว่า 6 จุด อย่าลืมว่ามันเป็นโปรแกรมที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มันไม่รู้หลอกว่าคุณชอบนั่งฟังตรงไหนบ่อยกว่ากัน ยิ่งกำหนดจุดมากขึ้นคุณจะได้ค่าเฉลี่ยที่มากขึ้น ก็เหมือนโรงภาพยนตร์ที่เฉลี่ยกันเป็นร้อยๆ ที่นั่ง ผมว่าสัก 2 – 3 จุดก็โอเคแล้วสำหรับในห้องโฮมเธียเตอร์ของเรา หลังจากรอมันทำงานอยู่หลายนาที (ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการวางไมค์)
    
สิ่งที่ MultEQ จัดการให้คุณอย่างแรกก็คือ ระดับความดังเสียงของแต่ละแชนแนล อย่างที่สองเป็นค่าการปรับการหน่วงเวลา หรือดีเลย์ไทม์สำหรับลำโพงทุกตัว สุดท้ายคือการปรับเสียงด้วย อีควอไลเซชั่นทั้ง 9 ช่วง ปรับค่าเตรียมไว้ให้คุณเลือกใช้ตามแต่ชอบ (‘FRONT’ , ‘FLAT’ ,‘AUDYSSEY’, ‘PRESET’, ‘OFF’) ค่า ‘PRESET’ อันหลังนี่มีไว้ให้คุณลองโชว์ฝีมือการปรับด้วยตัวเองนะครับ วิธีเลือกใช้ก็คือ
    
‘FRONT’ นั่นหมายความว่าลำโพงคู่หน้าของคุณเจ๋งจริง ฟังแล้วไม่อยากให้ใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ มาช่วย MultEQ ก็จัดการปรับลำโพงอื่นๆ ของคุณให้เข้าขากับคู่หน้า มันจะวัดค่าลำโพงคู่หน้าเป็นตัวยืนไว้ แล้วปรับเซ็ตแชนแนลอื่นให้มาเข้าใกล้คู่หลัก ถ้าจะเพี้ยนก็เพี้ยนเพราะลำโพงคู่หน้าของคุณละครับงานนี้   
    
‘FLAT’ เป็นการอีควอไลซ์ลำโพงให้เสียงออกมาราบเรียบไม่แหลมจ๋า หรือทุ่มจัด คือบางครั้งการฟังเสียงแบบนี้เขาว่ามีความเป็นดนตรีสูง เท่าที่ลองดูเหมาะกับการเอาไว้ฟังเพลงมากกว่าดูหนังครับ อาจจะจืดชืดไปบ้างแต่ถ้าฟังแบบอื่นเบื่อแล้วอยากล้างหูด้วยเสียงแบบนี้ก็ไม่ว่ากัน
    
‘AUDYSSEY’ นี่ก็เป็นความแตกต่างที่ทำให้การอีควอไลซ์เสียงสำหรับโฮมเธียเตอร์เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักกันอย่างมาก เพราะอาจจะเป็นหนทางเดียวที่พิสูจน์แล้วว่าทำให้เสียงซาวนด์แทร็คในภาพยนตร์ออกมาโลดแล่นให้เราได้ยินกันแบบเน้นๆ เหมือนได้มือโปรฯ มาเซ็ตอัพให้ มันจัดการเสียงความถี่ต่ำๆ ได้อย่างถูกใจมาก อย่างเมื่อก่อนเสียเวลาเซ็ตอัพครึ่งค่อนวันด้วยวิธีเดิมๆ เทียบกับฟังก์ชันนี้ของ SR8002 แค่สิบนาที บางครั้งยังสู้ไม่ได้เลย นับถือ...ครับ...นับถือ
 

รูปแบบการใช้งาน
การใช้งานของผมจึงตรงเป้าไปที่สัญญาณ HD เป็นหลัก ก็ไม่ใช่ใครอื่นเป็นไพโอเนียร์ BDP-LX70A ตัวเดียวที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุดสำหรับระบบเสียง HD ในเวลานี้ เสียงของซาวนด์แทร็คยุคนี้ต้องคุยกันถึงเรื่องไดนามิกกับรายละเอียด ถ้าจะเปรียบเป็นความละเอียดของมาตรวัด ระหว่างนิ้วกับเซนติเมตร นี่ยังน้อยไป เพราะถ้าวัดกันที่ Dolby TrueHD มันต่างกันเกือบ 15 เท่า ( ดีที่สุดของ Dolby Digital เดิม บิตเรตวิ่งอยู่ที่ประมาณ 700kbps) ใกล้เคียงกับ dts HD Master Audio ก็ต่างกับ dts เดิมประมาณ 16 เท่าเหมือนกัน (ดีที่สุดของ dts-HD Master Audio อยู่ที่ 24.5 Mbps ในบลู-เรย์ เทียบกับดีที่สุดของ dts เดิมที่ 1.5Mbps) รู้สึกอย่างแรกเลยก็คือเสียง HD ที่ผ่านการถอดรหัสจาก SR8002 ตัวนี้ไม่คร่ำเคร่งโหมประดังเข้ามา มันค่อยๆ รุกเร้าคุณอย่างละเมียด เสียงทุกเสียงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง เสียงเม้าท์ออร์แกนในแทร็ค Omar Hakim-Listen Up!/2007 DTS-HD Master (DTS-HD Master Audio 7.1) แตกต่างจากฟอร์แมตเสียงเดิมแบบคนละเรื่อง ไม่มีเครียด ไม่มีเกร็ง ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเสียงลมปากที่ออกมาจากคนๆ เดียวกัน

    
ย้อนกลับไปดูหนังแอ็คชั่นคลาสสิกอย่างเรื่อง ‘SPEED’ ที่พอออกมาในเวอร์ชั่นบลูเรย์พ่วงเอาระบบเสียง dts-HD Master Audio 5.1 มาด้วย ที่แน่ๆ คือมันเป็น 5.1 แชนแนลจริงๆ เพราะ  SR8002 ก็ยังไม่มีวิธีใดทำให้เป็น 7.1 ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ไม่ต้องวิตกครับ ถ้าคุณเซ็ตลำโพงเซอร์ราวนด์ด้านข้างเอาไว้ ‘ด้านข้าง’ จริงๆ (สูงจากศีรษะอย่างน้อย 70 ซ.ม.) เสียงวนเวียนรอบตัวมันเรื่อง ‘ขี้ผง’ ครับสำหรับยุคนี้ เสียงมันผุดขึ้นตรงนั้นที ตรงนี้ที แบบมีตัวตนเหมือนมายากล ที่น่าแปลกคือเสียงมันเข้มข้นมีบอดี้ สมกับที่เรียกว่าเป็นเสียงแบบ Lossless ที่คุยว่าสูญเสียรายละเอียดไปน้อยที่สุด รู้สึกได้คราวนี้นี่เอง (แชปเตอร์ที่ 3) ตอนที่พระเอกของเราบึ่งรถเข้ามากอบกู้สถานการณ์ พอออกจากรถมาหยิบของ กล้องก็จะแพนตาม เสียงซาวนด์ของไซเรนวนเวียนอยู่รอบๆ มีทั้งเสียงแตร เสียงไซเรน ทั้งเสียงที่สะท้อนจากตึกสูงๆ เรียกว่าถ่ายทอดรายละเอียดของการบันทึกเสียงออกมาได้อย่างเหนือชั้นครับ ในแชปเตอร์นี้เองผมลองฟังสลับไปมาระหว่างให้ 70A ถอด dts กับให้เอวีฯ ถอด ที่แน่ๆ พอออกมาเป็น PCM 5.1 ผมสามารถให้มารานทซ์บวกเพิ่มอีกสองแชนแนลเป็น 7.1 ได้ด้วยการกดไปที่ ‘EX/ES’ ที่รีโมต แต่เทียบไปเทียบมาผมตัดสินใจ กลับไปฟังแบบ 5.1 เดิมดีกว่า โดยให้ SR8002 รับหน้าที่ดีโค้ดเสียงแทน
    
เราได้ฟังเสียงที่ไม่ถูกบีบอัดในรูปแบบเสียง PCM ก็แล้ว (เหมือนที่บันทึกบน CD แต่ค่าการเข้ารหัสสัญญาณดิจิตอล และการสุ่มความถี่สูงกว่า) ฟังแบบระบบเสียง Dolby True HD กับ DTS-HD Master Audio ก็แล้ว แถมหน้าที่ถอดรหัสยังต้องลองระหว่างเพลเยอร์ กับเอวีรีซีฟเวอร์อีก แหมมันยังไม่จบง่ายๆ ซะที ผมนึกขึ้นมาได้ว่าประเด็นนี้มันเกี่ยวข้องกับภาคถอดรหัสเสียงที่มารานทซ์ตัวนี้ใช้วงจรแบบ 32 บิตแยกกันทั้งในส่วนของบอร์ดการทำงาน และยังชีลด์ป้องกันการกวนกันระหว่างภาคอะนาล็อกกับดิจิตอล รับประกันได้ว่าถ้าเพลเยอร์ที่ไม่ไฮ-เอ็นด์จริงๆ ไม่มีทางละเอียดรอบคอบถึงขนาดนี้ คงเป็นที่มาของการตรึงไดนามิกเสียงที่มารานทซ์ทำได้ดีกว่า เสียงรถที่กระโจนข้ามหัวมีทิศทางได้ช่วงเสียงความถี่ต่ำๆ จากมารานทซ์มีพลังงาน มีความรุนแรง คึกคะนองสะใจมากกว่า ไม่ใช่ ‘ดังกว่า’ นะครับ มันไม่ได้ฟังออกง่ายๆ แบบนั้น และที่ไพโอเนียร์ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเซ็ตค่าอะไรได้เพิ่มเติมเมื่อใช้ดิจิตอลออดิโอเอาต์พุตในแบบ PCM 5.1 คือเสียงเมื่อถอดที่เพลเยอร์ จะเลื่อนกระเถิบไปด้านหน้ามากหน่อยแต่ก็ไม่น่าเกลียด ถ้าว่า SR8002 มันจะเป็นตัวแทนของเอวีรีซีฟเวอร์ที่สร้างขึ้นมาเพิ่มศักยภาพให้ระบบเสียงในระบบ  HD ก็ ‘ได้เลยครับ’ ทั้งภาคถอดรหัส และภาคขยายของแอมป์ที่ชื่อ ‘มารานทซ์’ ยังไงก็ยังไว้ใจได้เสมอ
    
สรุปว่า ถ้าพูดถึงเรื่องเสียงของ SR8002 ตัวนี้แล้วพอที่ทำให้เสียงในยุคของ HD มีความหมายกับผมขึ้นมาทันที มันไม่ได้หมายถึงความสมจริงอย่างเดียว มันหมายถึงมาตรฐานของเสียงในยุค HD ด้วยก็ว่าได้ ที่เอวีฯ ไม่ได้มีสาระเรื่องการถอดรหัส แต่ควรเอาใจใส่เรื่องการเซ็ตอัพคุณภาพเสียงพร้อมกัน         
    
จริงๆ หน้าที่ของเจ้า SR8002 มันยังไม่จบแค่นี้หรอกครับ แต่ตัวล่อให้คุณอยากสัมผัสเจ้า SR8002 คงเรื่องระบบเสียง HD ผมก็สนองให้สมความตั้งใจ มารานทซ์เพิ่มตำนานความเป็นโปรฯ ด้านเสียงในยุค HD ได้ก่อนเพื่อน ก็ไม่ได้ทำขึ้นมาแบบขัดตาทัพ คือพร้อมที่จะให้คุณใช้งานไปอีกนานเพราะนี่คือสุดทางของระบบเสียงในแบบดิจิตอลของโฮมเธียเตอร์ที่โลกใบนี้คิดค้นขึ้นได้ การใช้งานก็ลดความยุ่งยาก จากตัวช่วยที่ชื่อ ‘Audyssey’ ชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อที่ติดปากในวงการแน่นอน
    
ขาด ‘เสียง’ น่ะคุณรู้สึกแน่ เพราะมัน ‘เงียบ’ แต่ถ้าขาด ‘Marantz SR8002’ ที่มี ‘Audyssey’ ด้วยแล้ว ‘ขาดเสียง’ เสียดีกว่า มันจะเกินไปไหมเนี่ย... 
....................................................
 
 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอ็ม อาร์ แซท สแตนดาร์ด จำกัด โทร.0-2222-9181
ราคา  93,000 บาท
....................................................
 
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
โปรเจ็กเตอร์ Optoma HD-81
บลู-เรย์ เพลเยอร์ Pioneer BDP-LX70A
สายลำโพง Kimber Kable 4 TC
สายดิจิตอล HDMI Wirewizard, Furutech xxx
ชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์
 Wharfedale EVO2 30 Floor Standing (Front)
 Wharfedale EVO2 C (Center)
 Wharfedale EVO2 8 (Rear/Back)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook