กสทฯ เตรียมจุดบริการหลังขายคอมพ์ไอซีที 110 จุด

กสทฯ เตรียมจุดบริการหลังขายคอมพ์ไอซีที 110 จุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักข่าวไทย : ไปรษณีย์เตรียมจุดบริการคอมพิวเตอร์ไอซีที 110 จุด หลังจากส่งมอบไปแล้วครึ่งหนึ่ง พบปัญหาการติดตั้งผิดวิธี และมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสียหายไปบ้างแล้ว ขณะที่สมาคมอุตสากรรมคอมพิวเตอร์ไทย ระบุปัญหาส่งมอบเครื่องช้า เพราะปัญหาการสั่งวัตถุดิบ นายโกวิท สูรพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านศูนย์บริการหลังการขาย สำหรับคอมพิวเตอร์ไอซีทีแล้ว 110 แห่ง โดยใช้ศูนย์บริการโทรคมนาคมของกสทฯ เป็นจุดให้บริการ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด 30 อำเภอ และภายในกรุงเทพฯ อีก 4 แห่ง ซึ่งได้อบรมพนักงานให้ทำหน้าที่ซ่อมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 300 กว่าคน เฉลี่ยแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคประจำศูนย์แห่งละ 5-6 คน ทั้งนี้ ภายหลังส่งมอบเครื่องไอซีทีรุ่นสินสมุทรไปบางส่วนแล้ว พบว่า มีประชาชนนำเครื่องเข้ามาซ่อมบ้างแล้ว แต่อุปกรณ์ที่เสียหายส่วนใหญ่มาจากการติดตั้งเครื่องผิดวิธีของผู้ใช้ ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนให้ใหม่ตามการรับประกันเป็นเวลา 1 ปี โดยขณะนี้ได้มีการสำรองชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ครบตามจำนวนร้อยละ 2 ของยอดจองคอมพิวเตอร์ในโครงการแล้ว ด้านนายพิสิษฐ์ พฤกษานุศักดิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในโครงการไอซีทีทั้ง 14 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมกัน 15,000 เครื่องต่อสัปดาห์ ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลาส่งมอบเครื่องนานเกือบ 3 เดือนหลังจากสิ้นสุดการจองเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องมาจากปัญหาของวัตถุดิบที่ต้องมีการทำสัญญาในรูปแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งโครงการนี้ยังถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงทำให้มีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง สำหรับตัวอย่างปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาเรื่องหลอดภาพ ที่โรงงานผลิตส่วนใหญ่ได้ยกเลิกสายการผลิตหลอดภาพขนาด 15 นิ้วที่นำมาใช้ในโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีไปแล้ว โดยหันมาผลิตหลอดภาพขนาด 17 นิ้วแทน ส่วนขั้นตอนการประกอบเครื่องของโรงงานในไทยนั้น ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด โดยมีเนคเทคเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ส่งมอบถึงมือประชาชนไปแล้ว 40,000 เครื่อง และอยู่ระหว่างการส่งมอบอีก 30,000 เครื่องนั้น พบว่า ผู้จองเครื่องส่วนใหญ่แจ้งความจำนงในการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการจากลีนุกซ์ทะเล มาเป็นโปรแกรมวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ถึง 30,000 เครื่อง ซึ่งจะต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์เพิ่มอีกประมาณ 1,400 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook