บีเอสเอ ผนึกสศก.เดินเครื่องปราบซอฟต์แวร์เถื่อน

บีเอสเอ ผนึกสศก.เดินเครื่องปราบซอฟต์แวร์เถื่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฐานเศรษฐกิจ : บีเอสเอหวั่นกระแสบรอดแบนด์ไทย บูม ทำธุรกิจขายซอฟต์แวร์ผีผ่านเน็ตเฟื่อง ประกาศขานรับนโยบายรัฐ เร่งปราบปรามต่อเนื่อง ล่าสุดผนึก สศก.ทลายแหล่งค้าซอฟต์แวร์/ซีดีเพลงละเมิดลิขสิทธิ์แห่งที่ 2 คิดมูลค่าความเสียหายรวม 1 ล้านบาท นายทารุน ซอว์นีย์ ผู้จัดการฝ่ายปราบปราม ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มพันธมิตรธุร-กิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ของประเทศไทยในปี 2547 จะทำให้รูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ขายซอฟต์แวร์ และเพลงผ่านอินเตอร์เน็ต มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีการเปิดให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ และเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ทันทีซึ่งบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จะช่วยให้การละเมิดสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเพลง สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยลูกค้าสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์หรือเพลง ไปติดตั้งบนเครื่องคอม- พิวเตอร์ภายในเวลา 1 นาที "ปัจจุบันรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเพลง ผ่านอินเตอร์เน็ตของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ยังคงใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการโฆษณาขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเมื่อมีคำสั่งซื้อพร้อมชำระเงินจากลูกค้า ก็จะทำการส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ ให้กับลูกค้า แต่ในปีหน้าเทคโนโลยีบรอดแบนด์กำลังเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่กังวลคือ จะทำให้รูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในลักษณะของการเปิดให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีเพิ่มขึ้น" นายซอว์นีย์ กล่าวว่าล่าสุดบีเอสเอ ได้ร่วมกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (บก.สศก.) เข้าตรวจค้นแหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย โดยนับเป็นครั้งที่ 2 ของบีเอสเอและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย โดยกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตในครั้งนี้บีเอสเอได้ใช้เวลาในการสืบค้นหาหลักฐาน เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งผู้ละเมิดได้ใช้ที่อยู่ของตนเองเป็นสถานที่ทำการโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และรับคำสั่งซื้อไปจนถึงการชำระเงินจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ ก่อนที่จะส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ไทยให้กับผู้ซื้อต่อไป โดยผู้ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถทำรายได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในการตรวจค้นครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลางเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 ชุด พร้อมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เปล่าจำนวน 3 ชุด แผ่น ซีดีก๊อบปี้จำนวน 31 แผ่น ซึ่งเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของสมาชิกบีเอสเอ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ อะโดบี ออโตเดสก์ แมค-โครมีเดียและไซแมนเทค โดยมีมูลค่ารวม 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอื่นๆ ด้วย เช่น ใบเสร็จรับเงินและหมายเลขบัญชีของ ลูกค้า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ละเมิดแล้ว เนื่องจากในระหว่างการเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ละเมิดไม่ได้อยู่ ณ สถานที่เกิดเหตุ นายซอว์นีย์ กล่าวต่อไปอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการดำเนินปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องและตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในปี 2537 มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถึง 87% และได้ มีการดำเนินมาตรการต่างๆ จนสามารถลดอัตรา การละเมิดให้เหลือเพียง 77% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จากผลการศึกษาของไอดีซีพบว่าอุตสาหกรรม ไอทีของประเทศไทยสามารถสร้างรายได้ถึง 1,745 ล้านดอลลาร์ให้กับระบบเศรษฐกิจ สามารถสร้างงาน 29,520 อัตราและทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีในส่วนนี้ถึง 92.2 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมาด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook