อินเดียนำยานอวกาศลงจอดขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

อินเดียนำยานอวกาศลงจอดขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

อินเดียนำยานอวกาศลงจอดขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยานอวกาศ “จันทรายาน-3” ของอินเดีย สามารถลงจอดบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มุ่งเดินหน้าค้นคว้าดาวบริวารของโลกตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงาน

รอยเตอร์รายงานว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ตะโกนโห่ร้องและกอดกันเมื่อจันทรายาน-3 ลงจอดได้สำเร็จ นอกจากนั้น รัฐบาลอินเดียเริ่มยังได้คิดถึงการกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจการปล่อยยานอวกาศและธุรกิจที่เกี่ยวกับดาวเทียมของภาคเอกชนด้วย

นายกรัฐมนตรีของอินเดีย นเรนทรา โมดี กล่าวขณะชมการลงจอดอยู่ที่งานประชุมกลุ่มประเทศ BRICS ที่ประเทศแอฟริกาใต้ว่า ความสำเร็จของจันทรายาน-3 คือการกู่ร้องแห่งชัยชนะของอินเดียยุคใหม่

จันทรายาน-3 เป็นความพยายามครั้งที่สองของอินเดียในการลงจอดบนขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ และข่าวความสำเร็จของอินเดียมีขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากรัสเซียประสบความล้มเหลวในการลงจอดของยานอวกาศลูนาร์-25 ที่สูญเสียการควบคุมและตกลงบนดวงจันทร์เมื่อ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

รอยเตอร์รายงานว่า จันทรายาน-3 จะมีเวลาปฏิบัติการบนดวงจันทร์เป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยจะทำการค้นคว้าหลายอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์ส่วนประกอบสเปคตรัมขององค์ประกอบของแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์

คาร์ลา ฟิโลติโก หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการบริษัทให้คำปรึกษา สเปซเทค พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า การลงจอดบริเวณขั้วด้านใต้ของดวงจันทร์ ทำให้อินเดียมีโอกาสในการหาคำตอบว่ามีน้ำอยู่ในน้ำแข็งของดวงจันทร์หรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการศึกษาด้านธรณีวิทยาของดวงจันทร์ต่อไป

ความเป็นไปของจันทรายาน-3 ได้รับความสนใจอย่างมากในอินเดีย โดยสื่อหนังสือพิมพ์ต่างให้พื้นที่พาดหัวหน้าหนึ่งขนาดใหญ่ และสื่อโทรทัศน์หลายช่องก็ให้พื้นที่การนับถอยหลังการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งนี้ด้วย

ด้านประชาชนในอินเดียต่างก็เอาใจช่วยจันทรายาน-3 ให้ลงจอดได้สำเร็จ โดยมีการรวมตัวกันเพื่อสวดภาวนาทั้งในสถานที่ที่จัดไว้ทั่วประเทศ ริมแม่น้ำคงคาซึ่งถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู รวมถึงในมัสยิดหลายแห่งด้วย

ฮาร์ดีป ซิงฮ์ ปูริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมของอินเดีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะที่ไปสวดภาวนาให้ยานลงจอดสำเร็จที่วัดซิกข์แห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นทั้งความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook