"การดักจับอากาศ" ช่วยสู้ภาวะโลกร้อนได้จริงหรือ
รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศและอุตสาหกรรมต่าง ๆ กำลังเร่งศึกษาหาวิธีกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นตัวก่อมลพิษที่สำคัญและยังดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นด้วย
สหรัฐฯ เปิดตัวโครงการมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวรโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Direct Air Capture (หรือ DAC) ซึ่งเป็นกระบวนการดักจับก๊าซโลกร้อนออกจากอากาศโดยตรง
เทคโนโลยี DAC ใช้ปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ ก่อนจะนำมากักเก็บไว้ใต้ดินหรือใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น คอนกรีตหรือเชื้อเพลิงสำหรับการบิน
โรงงาน Orca ของบริษัท Climeworks ในประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยี DAC ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณปีละ 3,600 เมตริกตัน โดยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ถูกนำไปเก็บไว้ในใต้ดิน
โครงการของสหรัฐฯ นั้นหวังที่จะสร้างโรงงานที่ใหญ่กว่านั้นมาก เพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละเกือบหนึ่งล้านเมตริกตัน
ส่วนวิธีการทางธรรมชาติในการกำจัดคาร์บอนนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น การปลูกต้นไม้และการจัดการป่าไม้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการใช้เทคโนโลยี DAC มากเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก The World Resources Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและการวิจัย เปิดเผยว่า วิธีการทางธรรมชาติเหล่านี้มีราคาเกือบ 50 ดอลลาร์ต่อคาร์บอนหนึ่งเมตริกตัน ในขณะที่เทคโนโลยี DAC ในปัจจุบันมีราคาเกือบ 1,000 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีอื่น ๆ ในการจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น BECCS หรือการใช้พลังงานชีวภาพที่มีกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการเผาชีวมวล เช่น ไม้ชิ้นเล็ก ๆ โดยคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกจับและกักเก็บไว้ในระหว่างการถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
อีกวิธีหนึ่งก็คือ ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (biochar) ซึ่งเป็นถ่านรูปแบบหนึ่งที่ผลิตขึ้นเมื่ออินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้และเนื้อไม้ได้รับความร้อนที่อุณหภูมิสูงโดยไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งก่อให้เกิดสารที่อุดมไปด้วยคาร์บอนที่สามารถใช้เป็นปุ๋ยได้
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคนิคเพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำทะเลอีกด้วย ขณะที่ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์
เดิมที CCS มักถูกใช้ในปล่องควันอุตสาหกรรม เช่น โรงงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ก่อนที่จะถึงชั้นบรรยากาศ
แต่การจะถือว่า CCS เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดคาร์บอนได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้มากกว่าการที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยี DAC อาจมีประโยชน์มาก หากสามารถดึงมลพิษออกจากอากาศและกักเก็บไว้ในโลกได้อย่างถาวรหรือนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มกังวลว่า บริษัทต่าง ๆ จะใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเช่น DAC มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเชื่อมโยงประเด็นนี้กับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแหล่งก่อมลพิษจำนวนมากมักอยู่ในหรือใกล้ชุมชนยากจนและชนกลุ่มน้อย