พูดคุยกับ “คุณอ๊อฟ เสฐียรพงศ์” ผู้บริหาร InDistinct ผู้อยู่เบื้องหลังระบบช่วยจัดการข้อมูลสำเนาบัตรป
ถ้าพูดถึงบริษัท IT ในประเทศไทยมีหลากหลาย และรวมถึงในช่วยยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ก็มีหลากหลายบริษัทเกิดขึ้นมาพอสมควรรวมถึง อินดิสทิงท์ (InDistinct) ซึ่งในรอบนี้มาพูดคุยกับผู้ก่อตั้งอย่างคุณอ๊อฟ เสฐียรพงศ์ จึงอุดมพร โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทพัฒนา Software และ AI ช่วยเก็บข้อมูลและลดการถูกขโมยข้อมูลสำเนาบัตรประชาชนไปใช้โดยที่เราไม่ได้ยินยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์ E-KYC แทนสำเนาบัตรประชาชน กับประเด็นต่างๆ ดังนี้
Q: ธุรกิจ InDistinct ให้บริการทางดิจิทัลเกี่ยวกับอะไร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
A: InDistinct ก่อตั้งมาโดยนำเทคโนโลยี AI เพื่อแก้ปัญหา โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ในเรื่องการยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประชาชนไทยนั้น ไม่สามารถนำเทคโนโลยีต่างประเทศทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับการใช้งานแบบที่คนไทยคุ้นชินได้ จึงได้มีการออกแบบ วิเคราะห์และพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปใช้งานได้สะดวกและน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงลดต้นทุนเวลาและพนักงานในการตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ธุรกิจการเงิน ประกัน ราชการ เอกชนทั่วไป
สิ่งที่ InDistinct พยายามทำคือการทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตาหรือบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ สามารถใช้งานเทคโนโลยีในการยืนยันตัวตน (E-KYC) ได้ง่ายเหมือนที่ทุกคนคุ้นชินกับการจ่ายเงินผ่าน QR Code ก็สามารถใช้งานการยืนยันตัวตนโดยการใช้บัตรประชาชนจริงๆ เพื่อที่จะไม่จำเป็นต้องใช้และเก็บสำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป
Q: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผนวกการให้บริการของ InDistinct จะเข้ามาช่วยปิด pain point
คนไทยอย่างไรบ้าง
A: ผมเชื่อว่าทุกๆท่าน ไม่มีใครอยากใช้สำเนาบัตรประชาชนในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงข้อมูลในการยืนยันตัวตนของเรานั้นมีข่าวว่าหลุดทุกปี ดังนั้นหลักฐานในการยืนยันตัวตนจึงสำคัญมากๆ ด้วยเทคโนโลยีเดิมๆ นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้สำเนาบัตรประชาชนได้ เราจึงเล็งเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้เราสามารถยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนได้ จำเป็นต้องเป็นคนที่เข้าใจที่จะพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้การตรวจเช็คเอกสารเป็นไปอย่างอัตโนมัติได้ ทำให้การตอบสนองต่อบริการต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วเข้ากับยุคสมัยและลดต้นทุนได้อย่างมาก
Q: มีการรักษามาตรฐานความมั่นคง ปลอดภัยในกระบวนการทำงานบนโลกออนไลน์อย่างไร เพื่อส่งต่อผู้ใช้บริการ
A: ทุกวันนี้ในโลกเทคโนโลยีเราคงพบเจอปัญหาต่างๆ เช่น การถูกหลอกลวงทางออนไลน์ แอปดูดเงิน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่า การส่ง OTP หรือ One Time Password นั้นไม่สามารถช่วยป้องกันได้ ซึ่งในอดีตนั้นเคยเป็นวิธีที่ปลอดภัยสูง ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะการสแกนอัตลักษณ์ เช่น ใบหน้าหรือลายนิ้วมือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เร็วๆ นี้ ทุกท่านที่ใช้งานแอปธนาคารจะให้มีการสแกนใบหน้าหากใช้งานธุรกรรมเกิน 50,000 บาท ในอนาคตอันใกล้สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น New normal ของความปลอดภัยและความสะดวก เพื่อจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเรามากขึ้น เช่น การแพทย์, การเงิน, เป็นต้น แทนที่การใช้งานสำเนาบัตรประชาชนมากขึ้นในอนาคต
Q: มองภาพอนาคตคนไทยกับการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนอย่างไร (เช่น คนไทยไม่ต้องถ่ายเอกสารแล้ว)
A: ผมเชื่อว่าทุกคนเคยจินตนาการว่า หากเราไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษา เพียงแค่นำบัตรประชาชนและตัวเราไปที่โรงพยาบาล หรือออนไลน์ สามารถเข้าถึงบริการและสิทธิต่างๆ ที่เราสามารถใช้งานได้ โดยลดเวลาการรอคิวหรือการทำเอกสารจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านั้นมาถึงแล้ว ดังนั้นการใช้สำเนาบัตรประชาชนกำลังจะค่อยๆ ถูกยกเลิกใช้จากระบบต่างๆ และวันหนึ่งจะไม่มีใครจำได้แล้วว่า เราเคยเซ็นสำเนาบัตรประชาชนเป็น 10 ใบกันไปได้อย่างไร
Q: ในฐานะผู้ให้บริการทางดิจิทัล มองว่าธุรกิจกลุ่ม Service Provider จะมีโอกาสเติบโตอย่างไร รวมถึงอยากให้ภาครัฐ/ภาคเอกชน เข้ามาช่วยเติมเต็มพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันดิจิทัลของเมืองไทยอย่างไรบ้าง
A: ในเรื่องของการที่จะไปสู่ยุค Digital ได้ก็อาจจะให้มีการทำงานร่วมกันและปรับรูปแบบให้เหมาะกับสังคมดิจิทัลได้มากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกเลิกระบบกระดาษทั้งหมด แต่ปรับให้เหมาะสมและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น
Q: การมาร่วมมือกับ ETDA เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ ทำให้ ‘คนไทยมีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล’ ในงาน DGT 2023 ที่ผ่านมา ทาง InDistinct จะมีการนำจุดแข็ง/ข้อดีด้านดิจิทัล มาส่งต่อคนไทยอย่างไร
A: การคิดค้นและพัฒนา รวมถึงการวิจัยที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีที่ทำขึ้นไปจะสามารถตอบโจทย์ต่อการใช้งานของคนไทยได้มากและมีประโยชน์ในอนาคต และเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง และสะดวกต่อการใช้ชีวิต รวมถึงการลดใช้กระดาษและลดโลกร้อน ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากขึ้นในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Q: เป้าหมาย/ความคาดหวังของ ETDA ต่อยอดจากงาน DGT 2023 ที่จะทำประโยชน์ต่อไปในอนาคต
A: สำหรับเป้าหมายที่หวังต่อกับทาง ETDA ในการต่อยอดหลังจากงาน DGT 2023 นั้น เพื่อทำเทคโนโลยีให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายและถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่กล้าที่จะทำให้การทำงานแตกต่าง เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งาน ทำให้คนไทยมีความสุขมากขึ้น เพื่อทำให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้และคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางด้านร่างกายโดยเฉพาะสายตา ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยให้ได้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น