“หุ่นยนต์ผ่าตัด” ตัวช่วยแพทย์ ยกระดับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

“หุ่นยนต์ผ่าตัด” ตัวช่วยแพทย์ ยกระดับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

“หุ่นยนต์ผ่าตัด” ตัวช่วยแพทย์ ยกระดับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการปวดข้อสร้างความทุกข์ทรมานและเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะข้อเข่า เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายเป็นหลัก แม้ว่าข้อเข่าเสื่อมมักพบในคนที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายเริ่มถดถอย และข้อเข่าเสื่อมพบในเพศหญิงมากกว่าจากปัจจัยด้านฮอร์โมน 

 

ในปัจจุบันสามารถพบโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่มีอายุน้อย สาเหตุจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ยังขึ้นอยู่กับการใช้งานเข่า การทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การเดินขึ้น-ลงบันได รวมทั้งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการกระแทกอย่างรุนแรงของข้อเข่า ทำให้มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อน หรือเส้นเอ็นภายในข้อเข่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาทางการแพทย์ ทำให้สามารถรับมือกับโรคภัยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเข่าเสื่อม เป็นอาการที่เกิดจากความเสื่อมสภาพและการสึกหรอจากการใช้งานของข้อเข่า อาการข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เกิดในเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย หากมีการใช้งานข้อเข่าไม่ถูกต้องหรือใช้งานหนักมากเกินไป เพราะเข่าถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้รองรับน้ำหนักตัว ทั้งการยืน การเดิน การวิ่ง

สัญญาณเตือนข้อเข่าเสื่อม

  • ได้ยินเสียงดังในเข่า
  • ข้อเข่าฝืดแข็ง เหยียดหรืองอเข่าลำบาก
  • ปวดเสียวภายในข้อเข่า
  • งอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าติดแข็ง
  • กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง เมื่อยง่าย ปวดเข่าตอนเคลื่อนไหว

สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม การใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า โดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาอำนวยความสะดวก โดยเล็งผลในด้านประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ตรงจุดและปลอดภัย

ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะปลอดภัยแค่ไหน?

ในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แท้จริงแล้วผู้ที่เป็นคนลงมือผ่าตัดก็ยังคงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้หมายถึงการให้หุ่นยนต์ลงมือผ่าตัดแทน กล่าวคือ การลงมีดผ่าตัดและการควบคุมการผ่าตัดทั้งหมด จะยังคงดำเนินไปด้วยคำสั่งของแพทย์ โดยหุ่นยนต์จะมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือในการล็อกเป้า เพื่อให้การผ่าตัดนั้นแม่นยำขึ้น แพทย์และทีมผ่าตัดจะเห็นภาพของการรักษาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงจาก Human Error หรือความผิดพลาดของมนุษย์ให้น้อยลง และเติมเต็มประสิทธิภาพในการผ่าตัดให้มีมากขึ้น จึงทำให้เหมือนมีผู้ช่วยแพทย์ฝีมือดีมาช่วยเหลือในการรักษา การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจึงมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

หุ่นยนต์ผ่าตัด ตัวช่วยแพทย์

สำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ การรักษาในแบบประคับประคอง เหมาะในระยะ 1-2 และการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วย ระยะ 3-4 โดยปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น อย่าง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วย “หุ่นยนต์อัจฉริยะแบบแผลเล็ก” (Robotic Assisted Total Knee Arthroplasty)

ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ไม่ต้องส่งผู้ป่วยตรวจ CT Scan และช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดในการคำนวณการปรับความตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม แผลเล็ก ลดอาการบาดเจ็บเนื้อเยื่อข้างเคียงรอบ ๆ ข้อเข่า และลดการบาดเจ็บต่อกระดูก ผู้ป่วยสามารถฟื้นสภาพข้อเข่าได้เร็ว และสามารถเดินลงน้ำหนักและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ

เทคโนโลยีการแพทย์ ความนิยมเพิ่ม

ในสหรัฐอเมริกา มีการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ข้อมูลเมื่อ 4 ปีก่อน พบว่ามีเกินกว่า 1 หมื่นยูนิต และคาดการณ์ว่าการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกทุกสาขา จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว

“นพ.พิชิต กังวลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เผยว่า สำหรับการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์การรับรู้ประโยชน์ในไทยแม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีก็ใช้ในหลากหลายสาขาทางการแพทย์ ที่เห็นได้บ่อย คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ลึก การใช้หุ่นยนต์ช่วยให้มองเห็น เข้าถึงการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงการโดนเส้นประสาท รวมถึงการผ่าตัดสูตินรีเวช ศัลยแพทย์ทรวงอก หูคอจมูก และออร์โธปิดิกส์ แนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัดเพื่อผลการรักษาจะได้รับความนิยมมากขึ้น

นอกจากการใช้หุ่นยนต์รักษาพยาบาลโดยตรง ยังมีการนำมาใช้ในเรื่องของการบริการผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยแขนขาอ่อนแรง บาดเจ็บกระดูกสันหลัง ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ช่วยพยุง กระดูก กล้ามเนื้อ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ฝึกเดิน รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แม้กระทั้งในช่วงโควิด-19 ก็ใช้หุ่นยนต์ในการขนส่งยา อาหาร ให้กับผู้ป่วยโควิด ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากร

“ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมหุ่นยนต์ในพื้นที่อีอีซี มีความก้าวหน้าในการพัฒนาไมโครโรบอท สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ดังนั้น ในอนาคต การใช้หุ่นยนต์ในทางการแพทย์จะมีการใช้มากขึ้นด้วย”

“หุ่นยนต์ผ่าตัด” ยกระดับการรักษา

ปัจจุบัน พบว่าหลาย โรงพยาบาบทั้งรัฐและเอกชน ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผ่าตัดข้อเข่าเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือระหว่าง 3 โรงพยาบาล ได้แก่

  • โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ในการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกระดูกและข้อ โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าและสะโพก เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล สามารถให้บริการผู้ป่วยทุกระดับเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม ใช้เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและนวัตกรรมระงับปวดทุกระยะของการผ่าตัด ภายใต้การดูแลโดยทีมอาจารย์แพทย์เฉพาะทางและบุคลากรทางการแพทย์ ในอัตราค่าบริการที่เข้าถึงได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่งก็ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ในการรักษาเช่นกัน
  • ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เปิดตัวนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เพื่อมาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งทำการผ่าตัดผ่านการควบคุมของทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อที่ชำนาญการ ทำให้การผ่าตัดโดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยากมีความตรงจุดมากขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ข้อดีอีกประการหนึ่งคนไข้จะได้รับโดยตรงคือ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำ CT Scan ทำให้คนไข้ลดการสัมผัสต่อรังสีเนื่องจากคุณสมบัติของหุ่นยนต์รุ่นนี้ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยเทคนิคการจำลองข้อเข่าสามมิติและแผนการผ่าตัดเสมือนจริง

หุ่นยนต์อัจฉริยะแบบแผลเล็ก 

การหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอัจฉริยะแบบแผลเล็ก Robotic Assisted Total Knee Arthroplasty ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ตรงจุดมากขึ้น และยังช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด ในการคำนวณการปรับความตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าให้เป็นไปอย่างเหมาะสมโดยระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะประมวลผลข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นรูปแบบจำลองของกระดูกคนไข้ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลของคนไข้แต่ละราย 

นอกจากนี้ยังสามารถจำลองแผนการผ่าตัดเสมือนจริงส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือผ่าตัดแบบเดิม ๆ อีกทั้งเครื่องกรอกระดูกที่ควบคุมโดยระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้รับการออกแบบให้มีขนาดเล็ก เหมาะสมถนัดมือช่วยให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดทำการตัดกรอกระดูกเฉพาะส่วนที่ต้องการออก จึงลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงรอบ ๆ ข้อเข่า และลดการบาดเจ็บต่อกระดูก โดยให้เป็นไปตามที่ได้กำหนดและวางแผนไว้ ทั้งนี้เพื่อสามารถเตรียมกระดูกให้มีขนาดพอดีกับการใส่ข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมต่อไป หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดช่วยศัลยแพทย์กำหนดขนาดและตำแหน่งการวางข้อเทียมได้อย่างตรงจุดส่งผลให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมยาวนานขึ้น โดยรวมแล้วผู้ป่วยจึงฟื้นสภาพข้อเข่าได้เร็ว สามารถเดินลงน้ำหนักและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลธนบุรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook