ไม่โพสต์ภาพลูก-เด็กลงโซเชียลมีเดีย สังคมควรรู้และเข้าใจไม่ใช่แซะ!
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนแทบทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ ในวันหนึ่ง ๆ ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ก็มักจะมีการบอกกล่าวคนอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกันอยู่ในสังคมออนไลน์ให้ได้รับรู้ด้วย อาจจะเป็นการโพสต์รูป ตั้งสเตตัส เช็กอินสถานที่ ลงสตอรี่ ไลฟ์สด และอื่น ๆ เพื่ออัปเดตความเป็นไปของตนเองให้คนรอบตัวได้รู้ นี่เป็นพฤติกรรมปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู
สำหรับคนที่มีลูกเล็ก ๆ ก็คงอดไม่ได้ที่จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่บันทึกพัฒนาการของเด็ก ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนชอบโพสต์รูปลูกและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกลงเป็นไดอารี่ออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย เพราะเข้าใจว่ามันเป็นพื้นที่ส่วนตัว เมื่อครบปีก็จะมีการแจ้งเตือนว่าครบรอบ ผ่านมาเท่านั้นเท่านี้ปีแล้วนะ ลูกฉันโตขึ้นแล้ว แต่ในความเป็นจริง สื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ การโพสต์รูปเด็ก ๆ ลงในโซเชียลอาจจะทำให้เกิดเรื่องไม่ดีตามมา จึงกลายเป็นที่มาของคำศัพท์ว่า “Sharenting” ซึ่งมาจาก sharing + parenting นั่นเอง
เรื่องไม่ดีที่ว่า ถ้าไม่เกิดขึ้นกับตัวคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็จะเกิดกับตัวเด็กที่มีรูปหรือคลิปวิดีโอในอิริยาบถต่าง ๆ เต็มโซเชียลมีเดียนั่นเอง พฤติกรรมลักษณะนี้อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของเด็กที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง อีกทั้งยังละเมิดตัวตนของเด็กด้วย เพราะการกระทำแบบนี้อาจทำให้เด็กได้รับอันตราย ซึ่งจะถือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองปกป้องคุ้มครองเด็กได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เรื่องของสิทธิเด็กเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเสมอมา เพราะการที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเด็ก มองแค่เพียงว่าเด็กนั้นไร้เดียงสา เด็กก็เป็นแค่เด็ก แต่ไม่ได้มองในมิติที่ว่าเด็กก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ในการปกป้องตนเอง การที่พ่อแม่อ้างว่าก็นี่ลูกของฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้ มองว่าเด็กเป็นสมบัติของตัวเองที่จะทำอะไรก็ได้ ทั้งที่เด็กคนหนึ่งก็มีหนึ่งชีวิตของเขา ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรช่วยปกป้องสิทธิให้พวกเขาในวันที่พวกเขายังปกป้องตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ละเมิดสิทธิลูกเสียเอง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้เรื่องของการเคารพสิทธิเด็กกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้น อันที่จริงควรจะนำมาพูดถึงให้มากขึ้นกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมามันยังไม่มากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมตระหนักถึงและให้ความสำคัญ ต้องมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและความตระหนักให้มากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายรายก็เริ่มหันมาให้ความสนใจว่าสิทธิเด็กคืออะไร รวมถึงเริ่มตระหนักถึงสิทธิและความเป็นส่วนตัวของลูกน้อยมากขึ้นแล้ว
ทำความรู้จักกับสิทธิเด็ก 4 ประการ
แม้ลูกของคุณจะยังเป็นเพียงแค่เด็กทารก แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาก็เป็นสมาชิกในสังคมเช่นเดียวกับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ในเมื่อพวกเขายังดูแลปกป้องตัวเองไม่ได้ นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะที่เรียกว่า “สิทธิเด็ก” ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้กำหนดสิทธิเด็กไว้ 4 ประการ ให้เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-18 ปี ทุกคนต้องได้รับ คือ
1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) เป็นสิทธิที่เด็กได้รับตั้งแต่แรกเกิด เด็กมีสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาปกติหรือมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจหรือไม่ก็ตาม พวกเขาต้องได้รับการจดทะเบียนเกิดเพื่อเป็นประชากรของประเทศ ได้รับการเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะเติบโตและพัฒนาต่อไป
2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) เป็นสิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาตามมาตรฐาน ตามกฎหมายเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี โดยจะต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อต่อยอดสู่ทักษะเฉพาะและการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย ได้รับการส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเติบโตเพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต
3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) เป็นสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อเด็กมีชีวิตรอด เด็กจะต้องไม่ถูกล่วงละเมิด ไม่ถูกทารุณกรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้านร่างกายหรือจิตใจ ต้องมีการคุ้มครองเรื่องการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การขัดขวางการศึกษา และเด็กมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม
4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) เป็นสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นกัน สามารถแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำได้อย่างเสรี การมีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง ผู้ใหญ่จะต้องจัดให้ตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็ก และไม่ควรกีดกันการแสดงออก พร้อมกับรับฟังในความคิดของเด็กด้วย
โซเชียลมีเดียเป็นดาบสองคม
ขนาดผู้ใหญ่ตัวโต ๆ ยังใช้โซเชียลมีเดียได้ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร นับประสาอะไรกับเด็ก ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณอาจเห็นว่าบุตรหลานของตนเองนั้นน่ารัก ก็อยากจะอวดคนอื่น ๆ อยากจะเก็บพัฒนาการของพวกเขาในโซเชียลมีเดีย เพราะมันมีการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาครบรอบ จะได้นำมานั่งระลึกความหลังกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปคิดกัน รูปไหนถ้าเริ่มไม่พอใจก็ลบทิ้งก็จบ แต่ทุกสิ่งอย่างที่ถูกนำขึ้นบนโลกออนไลน์แล้ว มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า Digital Footprint ที่สามารถค้นหาและตามรอยได้เสมอ
จุดนี้นี่เองที่เป็นปัญหา คือบุคคลส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาจากร่องรอยที่ตนเองทิ้งไว้บนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องราวต่าง ๆ ของบุตรหลานตัวน้อย ๆ พวกเขาเติบโตขึ้นทุกวัน สักวันหนึ่งเด็กที่อยู่ในรูปภาพเหล่านั้นจะไม่เด็กอีกต่อไป พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรในร่างกายตัวเอง เพียงเพราะว่าในเวลานั้นเขายังเป็นเด็ก เคยมีกรณีในออสเตรียที่เด็กวัย 18 ปี ฟ้องร้องพ่อแม่ของตัวเองต่อศาล เนื่องจากพ่อแม่โพสต์ภาพวัยเด็กแทบจะทุกอิริยาบถของเธอลงบนเฟซบุ๊กโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเธอ ว่ากันตามจริง เธอก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจจริง ๆ นั่นแหละ เพราะเธอไม่ได้อยากขึ้นไปอยู่บนเฟซบุ๊กแบบที่ตัวเองไม่ยินยอม
อย่างที่ทราบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันนิยมใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่รูปลูกของลูกน้อยกันอย่างเป็นปกติ รวมถึงมีการแชร์กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของลูก เพื่อให้คนอื่น ๆ ที่ติดตามอยู่ได้ชื่นชมและมีส่วนร่วมในพัฒนาการของเด็ก ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายไม่ได้แค่โพสต์ภาพถ่ายลูกในบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น แต่ยังสร้างเพจหรือสร้างบัญชีส่วนตัวให้ลูกโดยเฉพาะโดยที่ตนเองเป็นคนดูแลให้ โดยที่หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของครอบครัวตัวเองได้
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะรู้และเข้าใจก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มันไม่สามารถควบคุมได้ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอของเด็ก ๆ อาจมีผู้ไม่หวังดีนำไปเผยแพร่ต่อในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งก็เพราะความไร้เดียงสาของเด็กนี่แหละที่ทำให้พวกมิจฉาชีพใช้ประโยชน์ได้ หากภาพหรือคลิปเหล่านั้นมีการนำไปบิดเบือนเพื่อเรียกยอดวิว ยอดแชร์ คนกดไลก์ จากนั้นก็นำไปทำเรื่องเสียหายอื่น ๆ
นอกจากนี้ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองสร้างตัวตนให้เด็กแบบเป็นสาธารณะตั้งแต่ยังอายุเพียงเท่านั้น ก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตใจของเด็กได้ไม่น้อย เพราะมันคือสิ่งที่พ่อแม่พยายามจะให้ลูกเป็น เด็กหลายคนต้องพยายามจะดูดีหรือดูน่ารักตลอดเวลา ซึ่งนั่นมันฝืนธรรมชาติของพวกเขา อาจทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเองและสูญเสียช่วงชีวิตความเป็นเด็กที่ควรจะมีพัฒนาการตามวัย มันจึงอาจกลายเป็นปัญหาเรื่องพัฒนาการของเด็ก เพราะพวกเขาถูกทำให้มีชีวิตแบบนั้น และไม่ต้องพูดถึงตอนโต ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราเสพติดโซเชียลมีเดียมาก ๆ ยังมีปัญหาสุขภาพจิตกันเลย
รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเด็ก
จริง ๆ เด็กเล็ก ๆ วัยที่เริ่มพูดได้ พูดรู้เรื่อง แสดงอารมรณ์ได้ เริ่มเขาก็เริ่มรู้สึกต้องการความเป็นส่วนส่วนตัวมากขึ้นแล้ว จะเห็นได้จากการที่พวกเขามีปฏิกิริยาฝืนหรือไม่พอใจเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ เมื่อเด็กโตพอจะเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ หลายคนรู้สึกอายที่พ่อแม่เอารูปตอนยังเป็นทารก รูปตลก ๆ รูปที่ร้องไห้ และพัฒนาการของพวกเขาไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแทบจะทุกอิริยาบถ พวกเขาเริ่มรู้สึกได้แล้วว่าไม่ได้มีสิทธิเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เด็กหลายคนไม่ชอบความรู้สึกนั้น แต่ไล่ลบทิ้งมันก็ไม่ได้หายไปไหน ยังมีร่องรอยให้ตามเจอ
ถึงอย่างนั้นพ่อแม่ก็ยังจะชอบถ่ายรูปลูกทั้งที่ลูกไม่เต็มใจ แล้วชอบอ้างว่าเป็นพ่อเป็นแม่ทำไมจะทำไม่ได้ ขนาดลูกของคุณเองคุณยังบังคับฝืนใจของพวกเขาเลย แบบนี้ไม่มีใครชอบ แม้แต่เด็กก็ไม่ชอบ พ่อแม่แค่ต้องการจะสนองความอยากอวดว่าลูกตัวเองน่ารัก แต่ลูกไม่ชอบก็ยังทำ พ่อแม่เองนั่นแหละที่ทำร้ายเด็ก มันอาจสร้างความอับอายให้พวกเขาในระยะยาว เพียงเพราะภาพถ่ายที่เด็กไม่อยากให้แชร์ คุณกำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกตัวเอง
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะอวดลูกของคุณไม่ได้ เพียงแค่คุณควรให้เด็ก ๆ มีสิทธิในการอนุญาตก่อนที่พวกคุณโพสต์ ถึงเด็กจะไม่ได้มีวุฒิภาวะพอที่จะบอกว่าทำไมถึงไม่อยากให้พ่อแม่โพสต์รูปตัวเอง แต่ปฏิกิริยาที่เด็กฝืนตัว แสดงความขัดขืนเวลาพ่อแม่จะถ่ายรูป แสดงความไม่พอใจ ก็น่าจะบอกพ่อแม่ได้ว่าเขาไม่เต็มใจ นอกจากนี้ ก่อนโพสต์ภาพหรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ต้องคำนึงถึงอนาคตของเด็กเมื่อโตด้วย ว่าพวกเขาจะชอบโพสต์พวกนั้นหรือไม่เมื่อเติบโตขึ้น
เนื่องจากพ่อแม่หลาย ๆ คน ชอบโพสต์รูปลูกที่อาจเป็นปัญหาต่อจิตใจเด็กในอนาคต เช่น รูปเด็กเปลือย รูปเด็กโดนแกล้งขำ ๆ รูปเด็กทำอะไรตลก ๆ ด้วยความไร้เดียงสา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องตลกเลย เมื่อเด็กโตขึ้น ภาพเหล่านั้นอาจถูกขุดคุ้ยมาล้อเลียน เด็กจะกลายเป็นที่รู้จักทั้งที่เด็กไม่ชอบ ไปไหนก็มีคนมอง ก้มหน้าซุบซิบนินทา เข้ามาทักทายตลอดเวลา ไม่มีความเป็นส่วนตัว นั่นส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในอนาคต
ถูกนำไปบูลลี่
เพราะลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน การที่คุณโพสต์รูปลูกตอนเด็ก ๆ เพราะรู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดู แต่กับคนบางคนอาจไม่รู้สึกแบบนั้น หากรูปภาพเหล่านั้นถูกชาวเน็ตนิสัยไม่ดีนำไปบูลลี่ คนเหล่านั้นไม่สนใจหรอกว่านี่เป็นแค่เด็ก หรือเมื่อโตขึ้นอีกนิดเพื่อนฝูงของลูก ๆ เองก็นำไปใช้กลั่นแกล้งว่าวัยเด็กพวกเขาเคยทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ลูกคุณไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นปมที่ติดตัวไปตลอดชีวิต หรือถ้าพวกเขาไม่แกร่งพอที่จะรับมือ อาจเป็นเรื่องใหญ่ถึงการสูญเสีย
เรื่องความผิดพลาดของเด็ก ๆ พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่ามันน่ารัก ดูน่าเอ็นดู เพราะนี่เป็นแค่เด็กไร้เดียงสา คุณจึงอยากจะแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้เห็นความน่ารักของพวกเขาด้วย มันเป็นเพียงการสนองความต้องการส่วนตัวและคิดแค่ผิวเผิน เชื่อได้เลยว่าคุณคงไม่คิดหรอกว่าอาจจะมีคนนำรูปลูกของคุณไปบูลลี่ล้อเลียน พวกเขาอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง ที่สำคัญคุณไม่เคยถามว่าพวกเขาพึงพอใจไหมที่ถูกนำภาพหรือคลิปความผิดพลาดในวัยเด็กไปทำเป็นเรื่องตลก แล้วทำไมคุณจึงทำแบบนั้นกับลูกของตนเอง
เพราะคุณไม่เคยคิดให้ลึกซึ้งว่าเมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาจะรู้สึกแย่กับภาพหรือคลิปในวัยเด็ก คุณมองว่าน่ารักน่าเอ็นดู แต่เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตัวตลกของคนอื่น เกิดเป็นความเครียด อับอาย รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ความรู้สึกนับถือในตัวเองลดลง ความเชื่อมั่น ความมั่นใจในตัวเองลดลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาทั้งที่เป็นเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น พวกเขากลายเป็นคนที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว ไปไหนก็มีแต่คนมองแล้วซุบซิบนินทา ที่แย่ที่สุดก็คือความรู้สึกที่พวกเด็ก ๆ จะมีต่อพ่อแม่ผู้ปกครองตนเองจะเป็นอย่างไร ในเมื่อมันเป็นปมในใจพวกเขาว่าที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะว่าพ่อกับแม่ของเขานั่นเอง
เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม
การโพสต์รูปหรือคลิปของลูกแต่ละครั้ง หลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่แค่ภาพที่ต้องการจะอวด แต่มันมีข้อมูลพื้นฐานของเด็กด้วย บางทีพ่อแม่ถ่ายรูปลูกในชุดนักเรียน ที่มีทั้งชื่อ-นามสกุล โรงเรียน ช่วงเวลาที่โพสต์บ่อย ๆ ก็ระบุได้ว่าผู้ปกครองจะไปรับเด็กที่โรงเรียนเวลาไหน การเช็กอินสถานที่ บางคนอัปเดตอายุลูกปีต่อปีทำให้ทั้งอายุ วันเกิด และข้อมูลชีวิตประจำวันอื่น ๆ ของเด็กทุกอย่าง ซึ่งถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปยังผู้ไม่ประสงค์ดี ลูกคุณจะเป็นอันตรายแค่ไหน เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก และการก่อาชญากรรมอื่น ๆ เพราะมิจฉาชีพรู้ทุกความเคลื่อนไหวผ่านสิ่งที่คุณโพสต์
อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ ภัยคุกคาม ภาพของเด็กอาจถูกนำไปใช้ในทางอาชญากรรม เช่น ภาพเด็กผู้หญิงน่ารัก ๆ อาจถูกบันทึกแล้วไปแชร์ต่อในกลุ่มปิดที่เป็นกลุ่มคนโรคจิต พวกใคร่เด็ก นำไปตัดต่อในทางเสียหาย อาจมีข้อความจากคนกลุ่มนี้ทักมาในโซเชียลมีเดียของบุตรหลานคุณเมื่อพวกเขาโตขึ้น เพราะอาจมีการตามสืบว่าเด็กคนนี้เติบโตแค่ไหนแล้ว บอกเพียงเท่านี้ก็น่าจะนึกภาพตามได้ไม่ยากว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคืออะไร เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์มากมายในต่างประเทศ เพียงแค่คุณจะลองหาข้อมูลดู
แน่นอนว่าการห้ามไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองโพสต์รูปลูก ๆ ในโซเชียลมีเดียคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก คงจะดีไม่น้อยหากคิดให้มาก ๆ ว่าต้องใส่ใจสิ่งใดบ้างก่อนโพสต์รูปลูก เช่น การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เปิดให้เห็นเฉพาะกลุ่ม อย่าเปิดเป็นสาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายเกินไป ถามความสมัครใจของพวกเขาสักนิดว่าสะดวกใจหรือไม่ และเลือกรูปอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคต
ตระหนักถึงสิทธิเด็ก อย่ารอให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นก่อน
สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความเป็นคน และการเห็นความสำคัญของสิทธิในตัวเด็ก มีให้เห็นจำนวนไม่น้อยว่าเวลาที่มีคนหวังดีมาเตือนถึงภัยที่อาจเกิดขึ้น พ่อแม่ที่โพสต์ก็ตัดบทจบว่า “ก็นี่ลูกฉัน” หรือ “เลิกยุ่งกับลูกคนอื่นแล้วไปเลี้ยงลูกตัวเองให้ดี” ซึ่งนั่นแปลว่าคุณเองไม่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกคุณเท่าที่ควร คุณบอกว่าพ่อแม่ก็ต้องรักลูกอยู่แล้ว แต่การทำให้ภัยต่าง ๆ มาหาลูกของคุณได้ถึงหน้าบ้านทั้งที่เด็กไม่ได้ทำอะไรเลย แบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเท่าไรนัก
สิทธิเด็กถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้ใหญ่ควรเข้าใจ แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กและเป็นลูกของคุณ แต่คุณควรเคารพในตัวตนของเด็ก ไม่ทำร้ายเด็ก ไม่ใช่มองว่าเด็กคือคนที่มีอำนาจต่ำกว่าแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง ไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือหากิน สร้างความพอใจ หรือสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใหญ่ ในเมื่อเขายังเด็ก ยังปกป้องตัวเองได้ไม่ดีพอ ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองต้องปกป้องอย่างเต็มที่ ปกป้องคุ้มครองและเคารพสิทธิของเด็กอย่างรอบด้าน ดูแลให้เติบโตตามพัฒนาการ ปกป้องคุ้มครองเด็กจากภาวะต่าง ๆ ที่สำคัญต้องรับฟังเสียงของเด็ก ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
เป็นพ่อเป็นแม่แล้วต้องคิดให้ได้
จริง ๆ แล้วเรื่องของสิทธิเด็กเป็นเรื่องสากลโลกที่หลาย ๆ ชาติตระหนักถึงและให้ความสำคัญมานานแล้ว ในไทยเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องอะไร มีการให้ความรู้ การรณรงค์อยู่เนือง ๆ แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ทำให้ผู้คนสนใจเท่าใดนัก เพราะการเลี้ยงลูกแบบไทย ๆ ที่ตามใจฉัน ก็ฉันเป็นพ่อเป็นแม่ นี่ลูกฉันฉันจะทำอะไรก็ได้ เห็นเด็กเป็นเหมือนทรัพย์สินในครอบครองมากกว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่คิดได้รู้สึกเป็น บวกกับการศึกษาไม่ได้ให้ความรู้เรื่องสิทธิในฐานะมนุษย์เท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญ ทั้งที่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อชีวิตที่ปกติสุขของลูกของคุณเอง
เข้าใจดีว่าหลาย ๆ คนดีใจที่มีลูก และอยากแชร์ความน่ารักให้กับทุกคนได้เห็น ได้ชื่นชม แต่สิ่งที่พ่อแม่ไม่รู้ก็คือจิตใจของเด็กคนนั้นเต็มใจที่จะเป็นที่ชื่นชมของคนอื่นหรือเปล่า หากพ่อแม่ทำเพื่อสนองความอยากอวดลูกของตนเอง โดยที่ไม่เคยถามลูกเลยสักคำ ทำไมถึงไม่สนใจในสิ่งที่ลูกคิดหรือรู้สึก คุณอาจคิดว่าทำทุกอย่างปลอดภัยดี คุณดูแลปกป้องลูกคุณได้ แต่อาชญากรคงไม่เตือนคุณล่วงหน้าว่าเขาจะทำอะไรกับลูกคุณ และที่จริงอาชญากรไม่จำเป็นต้องเข้าถึงลูกของคุณด้วยตัวเอง เพราะแค่รูปหรือคลิปที่โชว์หราในโซเชียลมีเดีย มันก็ทำลายลูกคุณได้เองแล้ว
คุณอาจคิดว่านี่ก็แค่รูปเด็ก ไม่มีใครมาคิดไม่ดี ถ้าอย่างนั้นก็อยากจะถามว่าแล้วอาชญากรเป็นคนดีงั้นหรือ? อาชญากรไม่ใช่คนที่มีจิตใจดีอะไร เพราะฉะนั้น อาชญากรไม่มานั่งสนใจเรื่องศีลธรรมหรอก เขาจะทำอะไรกับรูปภาพของเด็ก ๆ ก็ได้
ไม่รู้ก็ควรรู้ แค่เคารพสิทธิของเด็ก
ไม่กี่วันที่ผ่านมา กรณีที่นักแสดงท่านหนึ่งให้กำเนิดลูก ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รอชมความน่ารักของเด็กน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ยังไม่เปิดเผยหน้าลูกชายให้ใครเห็น เมื่อมีการลงภาพก็จะเห็นเพียงลำตัวของเด็ก หรือใช้สติ๊กเกอร์ในโซเชียลมีเดียปิดหน้าเด็กไว้ ซึ่งนั่นก็มาจากการที่ผู้เป็นแม่เคยเปิดเผยว่าจะไม่เปิดหน้าลูกลงโซเชียลมีเดียตั้งแต่ก่อนที่คลอดน้อง เพราะเธอให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก และจะรอให้ลูกโตจนอนุญาตให้ลงเอง
แน่นอนว่าสังคมนี้ก็จะมีทั้งคนเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอกำลังตระหนัก แต่ด้วยความที่เป็นสังคมขี้แซะ ก็จะมีชาวเน็ตจำนวนหนึ่งที่ต้องแซะไว้ก่อน นอกจากจะไม่มีมารยาทในการใช้พื้นที่สื่อโซเชียลแล้ว ยังคอมเมนต์กันสนุกปากชนิดที่รู้เลยว่าทัศนคติเป็นแบบไหน ติบโตมาอย่างไรถึงมีความคิดเช่นนั้นอยู่ในหัว และกล้าที่จะคิดต่อคนอื่นเช่นนั้น เรื่องของตัวเองก็ไม่ใช่ และอีกฝ่ายเป็นเพียงแค่เด็กทารก
ในพื้นที่สื่อออนไลน์ ก่อนจะแซะ ก่อนจะแสดงความคิดเห็น ถ้าไม่รู้ถึงเรื่องที่เขากำลังตระหนักก็ควรหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เขาพูดก่อนสักนิด แต่ถ้าตั้งใจจะแซะอยู่แล้ว ก็ขอให้นึกถึงเวลาที่ไปยืนเดียวดายอยู่หน้าบัลลังก์ศาลหรือตอนที่ต้องจ่ายคำขอโทษเป็นเงินสดด้วย แค่มีมารยาทในการใช้สื่อโซเชียลให้มากขึ้น เปิดใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำ ถ้าไม่อคติและปิดกั้นจนเกินไปก็น่าจะรับรู้ได้ หากครอบครัวของคนอื่นเขาทำถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับเขา ไม่จำเป็นต้องอยากไปมีส่วนร่วมกับการเลี้ยงลูกของเขาก็ได้ สังคมจะได้น่าอยู่ขึ้น