ครั้งหนึ่งที่คุณอาจเคยรับบท “ผู้พิพากษาโซเชียล”

ครั้งหนึ่งที่คุณอาจเคยรับบท “ผู้พิพากษาโซเชียล”

ครั้งหนึ่งที่คุณอาจเคยรับบท “ผู้พิพากษาโซเชียล”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ คุณเคยลองคำนวณเวลาที่ตัวเองหมดไปกับเรื่องคนอื่นบ้างหรือไม่ว่านานแค่ไหน และคุณใช้เวลาวนเวียนอยู่กับเรื่องดราม่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มากแค่ไหน คุณอ่านเงียบ ๆ แค่พอให้รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วก็จบ คุณร่วมสืบไปกับนักสืบโซเชียลคนอื่น ๆ จนสุดทาง เรื่องจบเมื่อไรค่อยแยกย้าย คุณเป็นผู้สืบอย่างเอาเป็นตาย ขุดทุกอย่างที่ขุดได้ มีความคืบหน้าหรือมีข้อสังเกตอะไรจะต้องรีบโพสต์ทันที รู้สึกดีกับการได้เป็นวงใน คุณชอบที่จะมีส่วนร่วมในการออกความเห็น ด่วนแสดงจุดยืนทั้งที่ยังไม่รู้หัวก้อย หรือคุณเหนื่อยหน่ายกับเรื่องแบบนี้เต็มทน เจอเรื่องไม่จรรโลงใจแบบนี้อ่านไปก็เสียสุขภาพจิต หนีนอนดีกว่า

ในสังคมที่ชีวิตขับเคลื่อนด้วยประเด็นน้อยใหญ่ในโลกโซเชียลมีเดีย เรามักจะรับบทบาทได้หลายบทบาทที่ไม่ใช่แค่การเป็นผู้รับสารแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจเป็น “นักสืบโซเชียล” หรืออาจจะเป็น “ผู้พิพาษาโซเชียล” ก็ได้เช่นกัน ในชั้นศาลโซเชียลมีเดียที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ และมักจะเกิดเหตุ “คดีพลิก” อยู่บ่อย ๆ ซึ่งมันก็แทบจะไม่เคยเป็นบทเรียนเลยด้วยซ้ำไปว่าอย่าเพิ่งออกตัวแรงด่าใคร

istock-933442370

ตัดสินกันง่าย ๆ โดยพิจารณาจากสิ่งที่มีให้เห็น “เท่านั้น”

การตัดสินกันง่าย ๆ บนโลกออนไลน์ ทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ เพราะเรามักจะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจแบบอคติ คือ “ตัดสินไปแล้ว” จากสิ่งที่เห็นเป็นข่าวในตอนแรก ใช้ความไม่ชอบ อารมณ์ ความรู้สึก บรรทัดฐาน ของเราเองล้วน ๆ ที่เห็นจากเพียงมุมเดียว หลักฐาน พยานต่าง ๆ บางครั้งก็ไม่จำเป็น ถึงจะมีก็ไม่ได้สนใจ เพราะ “ส่วนตัว” เชื่อและปักธงไปแล้ว จึงไม่มีโอกาสให้คนที่ตกเป็นจำเลยสังคมได้พูดอะไรเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาให้ตัวเอง ยิ่งพูดก็ยิ่งเท่ากับแก้ตัว หากสังคมจะเชื่อแบบนี้

ขนาดที่ว่าในทางกฎหมาย ก่อนจะตัดสินใครว่าเป็นผู้กระทำผิดยังต้องมีการพิสูจน์ก่อน คนคนนั้นมีสิทธิ์เรียกทนาย มีสิทธิ์ที่จะไม่พูด มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ มีสิทธิ์ขอประกันตัว มีสิทธิ์สู้คดี กฎหมายจะสันนิษฐานว่าคนผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีหลักฐานและพยานที่ชี้ชัดว่าเขาผิดจริง เพื่อป้องกันการ “จับแพะ” (แม้ว่าอาจจะยังมีแพะอยู่ก็ตาม) นี่คือกระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรมของทั้งสองฝ่าย

แต่การตัดสินโทษใคร ๆ ในทางออนไลน์ ดูจะไม่ยุติธรรมเท่าไรกับจำเลย เพราะส่วนมากพวกเขาไม่มีโอกาสได้แก้ต่างให้ตัวเอง พูดไปไม่มีใครฟัง พูดก็เท่ากับแก้ตัว ที่สำคัญ บทลงโทษยังไม่มีขอบเขตอีกด้วย ไม่มีโอกาสให้กลับตัว หลายคนชีวิตพังและหมดอนาคตเพราะถูกตัดสินบนโลกออนไลน์ โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสพิสูจน์ความจริง หรือกว่าจะมีคนยอมรับฟัง มันก็สายไปเสียแล้ว เขาถูกสังคมลงโทษโดยไม่มีที่ยืนอีกต่อไป ส่วนระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจำได้นานแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ มันถูกขุดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

ความน่ากลัวและผลกระทบที่รุนแรงของการตัดสินกัน “ง่าย ๆ” ในโลกออนไลน์

สังคมออนไลน์ เป็นสังคมที่ “ใครเปิดย่อมได้เปรียบ” เมื่อใดก็ตามที่มีการแฉกันขึ้นมา คนถูกแฉแทบจะหมดโอกาสแก้ต่างให้ตัวเองทันที การขอพื้นที่ในการการชี้แจงเพื่อขอความยุติธรรมให้กับตัวเอง จะเหมือนกับการออกมาแก้ตัว ยิ่งถ้าต้นเรื่องเปิดเรื่องมาได้กระทบจิตใจคนในสังคมมากแค่ไหน สถานการณ์การชี้แจงก็จะยิ่งแย่ เพราะหลายคนอาจถูกข่มขู่ ถูกคุกคามมากกว่าเดิม ทั้งที่เขาแค่ขอพื้นที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับตัวเอง

“วัฒนธรรมไม่พอใจก็ขับออกจากสังคม” หรือการแบน หลายคนเชื่อว่าการแสดงออกลักษณะนี้ต่อคนทำผิดเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งที่ทำให้คนผิดไม่มีที่ยืนในสังคม แต่เราอาจจะไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะไปตัดสินใครแล้วลงโทษด้วยวิธีนี้ ก็คือ “เขาผิดจริงหรือเปล่า” เพราะมีอยู่บ่อยครั้งเลยทีเดียวที่เรื่องต่าง ๆ ที่เราตัดสินกันสนุกปากไปนั้นเป็นเรื่องโอละพ่อ พอคดีพลิกก็เบรกกันหัวทิ่ม เปลี่ยนฝั่งกันแทบไม่ทัน แต่ชีวิตของคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นจำเลยของสังคมไปแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตปกติของเขากลับมา แม้จะได้รับการขอโทษขอโพยก็ตาม

ตามหลักความยุติธรรม การจะไปชี้หน้าว่าใครเป็นคนผิด มันไม่ได้มีองค์ประกอบแค่คลิปคลิปเดียวหรือคำพูดที่ถูกตัดออกมาสั้น ๆ เท่านั้น รวมถึงต้องไม่ใช่การจั่วหัวเพื่อเรียกดราม่าของใครสักคน แล้วฟังคนคนนั้นแฉอยู่เพียงฝ่ายเดียว เพราะก็เท่ากับว่าเรารู้ความแค่จากฝั่งเดียวเท่านั้น ลองจินตนาการให้ตัวเองเป็นคนที่ตกอยู่ในสภาพถูกสังคมลงทัณฑ์เสียเอง จะพูดหรือพิสูจน์อะไรเพื่อลบล้างมลทินก็ทำได้ยากเหลือเกิน เราจะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองนั้นยุติธรรมหรือไม่ ถ้าชีวิตเราต้องพัง ได้รับความไม่เป็นธรรม และตกเป็นเหยื่อการตัดสินกัน “ง่าย ๆ” ของสังคม

istock-1090431444

โซเชียลมีเดีย เป็นดินแดนเสรี แต่ต้องมีขอบเขต

โซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ที่เราเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นดินแดนแห่งอิสรภาพ ที่จะพูดจะโพสต์อะไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่าดินแดนนี้ก็ยังมีกฎหมายควบคุมเหมือนการเผชิญหน้าจริง ๆ และก็เป็นดินแดนที่ไม่ได้ห้ามให้คนใช้วิจารณญาณ ฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเสพข้อมูลและมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ทุกโพสต์ ทุกคอมเมนต์ ทุกการแชร์ต่อ ทุกการกดไลก์ ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง เพราะหลาย ๆ ครั้งมันค่อนข้างชัดเจนว่าคุณปักใจเชื่อถือข้อมูลนั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่มันอาจเป็นข่าวปลอม เป็นเรื่องบิดเบือน เรื่องเข้าใจผิด เรื่องใส่ร้าย เรื่องโอละพ่อก็เป็นได้

อีกประการที่สำคัญ การใช้โซเชียลมีเดีย จะต้องอยู่บนพื้นฐานว่าไม่ได้ใช้อคติหรือความเห็นส่วนตัวของตัวเองในการตัดสินใคร อย่าใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการลงมติของสังคมเพื่อบอกว่าใครต่อใครทำผิด ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งออกตัวแรง อย่าเพิ่งตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือตัดสินใครด้วยความคิดของเราเอง ระงับความรู้สึกที่อยากแสดงออกทันทีลงบ้าง ค่อย ๆ ดูไป จะได้ไม่รู้สึกเขินในภายหลัง

เพราะบางครั้ง เวลาที่เรารู้สึกอินกับดราม่าใดดราม่าหนึ่งมาก ๆ เมื่อเราเห็นความคิดเห็นต่าง ๆ แสดงออกไปในทางเดียวกันกับที่เราคิดด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าความคิดของเราถูกต้องและมีเหตุผล อยู่ในห้องเสียงสะท้อนที่มีแต่คนที่คิดและเชื่อแบบเดียวกัน ซึ่งนั่นอาจทำให้เราไม่รู้สึกระแคะระคายว่าตัวเองกำลังปิดกั้นมุมมองที่ต่างออกไป และทำให้ความคิดของตัวเองแคบลงเรื่อย ๆ ปฏิเสธข้อมูลอื่น ๆ ที่ขัดแย้งกับความคิดความเชื่อเดิมของตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น การเสพดราม่าและเสพติดการตัดสินคนอื่นในโลกออนไลน์ อาจมาพร้อมกับความรู้สึกว่า “ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร” เพราะบางคนก็มีแอคหลุมไว้ด่าคนอื่นมากเหลือเกิน การที่ไม่ต้องเปิดเผยตัว ทำให้ตัวตนในโลกออนไลน์แยกจากตัวจริง ซึ่งหลายคนก็แสดงตัวตนด้านมืดของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ การที่มองไม่เห็นหน้ากันทำให้คนกล้าขึ้นมาก และการที่คิดว่าจะไม่ถูกตามตัวได้เจอ ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่ควบคุมได้ สร้างการสำคัญตัวผิดว่าเหมือนเป็นคนสำคัญ ยอดไลก์ ยอดแชร์ ทำให้เราไม่ใช่คนธรรมดาอีกต่อไป ตอกย้ำว่าสิ่งที่เราคิดนี่แหละถูกต้องแล้ว

ในท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างถูกพิสูจน์แล้วว่าใครถูกใครผิด เราอาจจะอยากเลือกเข้าข้างไหนก็ได้ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเอาที่สบายใจ แต่อย่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายชีวิตใคร เพราะไปตัดสินหรือด่าใครเขา “ง่าย ๆ” โดยไม่ไตร่ตรองและไม่มีวิจารณญาณ ซึ่งครั้งหนึ่ง หลาย ๆ คนอาจเคยเป็น เคยใจร้ายกับคนอื่นมากเกินไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook