อดีตลูกจ้างเผยข้อมูลวงใน! เฟสบุ๊คเลือก “กำไรมาก่อนความปลอดภัย”

อดีตลูกจ้างเผยข้อมูลวงใน! เฟสบุ๊คเลือก “กำไรมาก่อนความปลอดภัย”

อดีตลูกจ้างเผยข้อมูลวงใน! เฟสบุ๊คเลือก “กำไรมาก่อนความปลอดภัย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตลูกจ้างของบริษัทเฟสบุ๊ค (Facebook) ผู้เคยกล่าวหาสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่นี้ว่า ทราบดีถึงอันตรายของเฟสบุ๊คที่มีต่อการปลุกระดมความเกลียดชังและภัยต่อสุขภาพจิตของเยาวชน ได้ออกมาเปิดเผยตัวตนของเธอพร้อมทั้งกล่าวหาเฟสบุ๊คด้วยว่า “ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้”

gettyimages-586113532

ฟรานเชส ฮอแกน นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลวัย 37 ปี จากรัฐไอโอวา ผ่านการทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีมาแล้วหลายบริษัท รวมทั้ง กูเกิล (Google) พินเทอเรสต์ (Pinterest) และเฟสบุ๊ค ให้สัมภาษณ์ต่อรายการ "60 Minutes" ของเครือข่ายโทรทัศน์ ซีบีเอส (CBS) เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เฟสบุ๊คคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เธอเคยประสบมา

ฮอแกน กล่าวว่า เฟสบุ๊คแสดงให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่า “เลือกกำไรก่อนความปลอดภัย” และเน้นสร้างผลกำไรบนความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน และว่า สิ่งที่ปรากฏบนเฟสบุ๊คทุกวันนี้กำลังฉีกสังคมของเราให้เป็นเสี่ยง ๆ และทำให้เกิดความรุนแรงทางชาติพันธุ์ขึ้นทั่วโลก

เธอยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ แทรกแซงด้วยการควบคุมและจัดระเบียบเฟสบุ๊คด้วย

ก่อนหน้านี้ ฮอแกนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเธอได้เปิดเผยเอกสารต่อนักการเมืองอเมริกันและสื่อ The Wall Street Journal เกี่ยวกับรายละเอียดที่ว่าเฟสบุ๊คทราบดีว่าสื่อของตน รวมทั้ง อินสตาแกรม (Instagram) เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

ในรายการ “60 Minutes” ฮอแกนยังได้อธิบายถึงระบบการทำงานของเฟสบุ๊คในการเลือกโพสต์ที่จะปรากฎบนหน้าฟีดของผู้ใช้ โดยคัดเนื้อหาที่คาดว่าจะได้รับการตอบสนองจากผู้ใช้ผู้นั้นมากที่สุด

ฮอแกน เผยว่า รายงานการวิจัยของเฟสบุ๊คเองชี้ว่า “เป็นเรื่องง่ายที่สื่อสังคมออนไลน์จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เกิดอารมณ์โกรธมากกว่าอารมณ์อื่น ๆ” แต่เฟสบุ๊คทราบดีว่าหากเปลี่ยนระบบการคัดสรรเนื้อหานั้นอาจทำให้ผู้ใช้ใช้เวลาบนหน้าเฟสบุ๊คน้อยลง หรือกดเลือกโฆษณาน้อยลง ซึ่งหมายถึงผลกำไรที่ลดลง

อดีตลูกจ้างของบริษัทเฟสบุ๊คผู้นี้ กล่าวด้วยว่า ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว เฟสบุ๊คตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาบางอย่างและเริ่มใช้ระบบควบคุมเพื่อความปลอดภัยเพื่อลดความรุนแรงจากเนื้อหาดังกล่าว แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง เฟสบุ๊คก็กลับไปตั้งค่าระบบเดิมอีกครั้ง

“เฟสบุ๊กทำเงินมากขึ้นเมื่อผู้ใช้บริโภคเนื้อหาต่าง ๆ มากขึ้น และยิ่งผู้ใช้มีความโกรธมากเท่าไร ก็ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น และบริโภคเนื้อหาเหล่านั้นเพิ่มขึ้นด้วย” ฮอแกนกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook