ทำไมคนไทยถึงเสพข่าวปลอม? มาดูสาเหตุกัน

ทำไมคนไทยถึงเสพข่าวปลอม? มาดูสาเหตุกัน

ทำไมคนไทยถึงเสพข่าวปลอม? มาดูสาเหตุกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวปลอม (Fake News) หมายถึง ข่าวที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ข่าวปลอมถูกจำแนกออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่

  1. ข่าวพาดหัว ยั่วให้คลิก หรือคลิกเบต
  2. โฆษณาชวนเชื่อ
  3. ข่าวแฝงการโฆษณา
  4. ข่าวล้อเลียนและเสียดสี
  5. ข่าวที่ผิดพลาด
  6. ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง
  7. ทฤษฎีสมคบคิด
  8. วิทยาศาสตร์ลวงโลก
  9. ข่าวที่ให้ข้อมูลผิด ๆ
  10. ข่าวหลอกลวง

ปัจจุบันมีการรายงานข่าวและแชร์ข้อมูลทางออนไลน์กันอย่างเร่งรีบ และถึงแม้ว่าความรวดเร็วจะช่วยทำให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงที แต่ข่าวออนไลน์บางส่วนไม่ได้รับการกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้อง เนื่องจากเป็นสื่อที่เปิดกว้าง จึงทำให้หลายคนกลายเป็นเหยื่อ หลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมไปแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกระบุว่าเป็นข่าวหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ๆ

อย่างไรก็ดี ปัญหาข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น ข้อมูลน่าสนใจล่าสุดจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ผลการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ย้อนหลังไปช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค. 63 – 30 มิ.ย. 64) เกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทย พบว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอมถึง 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 20,294,635 คน ส่วนกลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี โดยข้อมูลจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ระบุว่า 5 สาเหตุหลักที่ทำให้คนเลือกเสพและแชร์ข่าวปลอม เกิดจาก

1. ตกหลุมพราง ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอม ที่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว คนสร้างข่าวปลอมตั้งใจแต่แรกที่จะหลอกผู้อ่านข่าว

2. ไม่สามารถแยกแยะข่าวบนหน้าเว็บได้ ปัจจุบันที่ผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่ รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่ข่าวปลอมถูกทำให้กลมกลืนกับข่าวจริง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดหน้า หรือการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าว จึงทำให้ผู้อ่านสับสนและยากที่จะแยกแยะข่าวปลอม

3. เป็นกลไกของความเชื่อ เมื่อมีเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่งต่อข่าวมาให้อ่านผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้อ่านมักจะไม่ตระหนักหรือใช้วิจารณญาณ ในการตรวจสอบข่าวนั้น ๆ ก่อน เพราะคิดว่าผู้ส่งคงกลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว

4. ข่าวปลอมเล่นกับความรู้สึก มักใช้การเน้นพาดหัวที่หวือหวา เนื้อข่าวที่เร้าอารมณ์ เพราะรู้ว่าคนอ่านจะถูกกระตุ้นอารมณ์ให้มีปฏิกิริยาต่อข่าวนั้น ๆ เช่น การกดเข้าไปอ่าน กดไลก์ แสดงความเห็น และช่วยแชร์ข่าวออกไป

5. ผู้อ่านมีช่วงความสนใจสั้น อีกหนึ่งกลวิธีที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีคุณภาพต่ำ คือ การหาผลประโยชน์จากพฤติกรรม ‘นักอ่านเวลาน้อย’

วิธีสังเกตข่าวปลอม สามารถทำได้ โดยสังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่างๆ เพราะข่าวปลอมมักจะสะกดผิด และมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี, สังเกต URL โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักข่าวจริง, ดูรายงานข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ว่ามีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ โดยมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบข่าวจากการเสิร์ชหาข้อมูล อาจพบว่าเป็นข่าวเก่า หรือพบการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์อื่นว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวปลอมอาจมีการนำรูปภาพจากข่าวเก่ามาใช้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

ดังนั้น ทักษะที่ควรมีในการรู้เท่าทันข่าว ก็คือ มีวิจารณญาณแยกแยะได้ว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม มีทักษะในการวิเคราะห์และตรวจสอบ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแสดงความคิดเห็น รู้จักประเมินและเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสังคมประชาธิปไตย ที่ผู้คนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นบนข้อเท็จจริงและเหตุผล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook