เมื่อ “ความลับ” ไม่มีใน Clubhouse

เมื่อ “ความลับ” ไม่มีใน Clubhouse

เมื่อ “ความลับ” ไม่มีใน Clubhouse
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Clubhouse กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มาแรงที่สุดในเวลานี้ นับตั้งแต่มีคนดังระดับโลกให้ความสนใจเข้ามาร่วมพูดคุยในห้องสนทนา โดยเฉพาะผู้ที่มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla และ SpaceX หรือ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook

แม้ว่า Clubhouse ยังเป็นเวอร์ชั่นเบต้าที่รองรับเฉพาะมือถือระบบ iOS หรือไอโฟนเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าเฉพาะแค่เดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียว มียอดดาวน์โหลดแอปฯ ดังกล่าวจากทั่วโลกกว่า 3.5 ล้านครั้ง ในระยะเวลาแค่ 15 วัน จนทำให้เวลานี้มียอดผู้ใช้ Clubhouse ทั่วโลกมากกว่า 8.1 ล้านคนแล้ว

แน่นอนว่ายอดดาวน์โหลดแอปฯ ในจำนวนนั้นย่อมหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย เมื่อ Clubhouse ได้กลายเป็นศูนย์รวมของคนดังหลากหลายวงการในบ้านเรา จนบางครั้งคนฟังอย่างเรา ๆ ก็เลือกไม่ถูกว่าจะเข้าไปฟังห้องไหนดี เมื่อ Speaker ในแต่ละห้องล้วนเป็นคนดังระดับแม่เหล็กทั้งนั้น แถมบางห้องยังเป็นศูนย์รวมของเหล่าเซเลบด้วย ซึ่งใช่ว่าจะรวมตัวกันพร้อมหน้าแบบนี้ได้ง่าย ๆ

แต่เนื่องด้วยเป็นแอปฯ ที่ได้ยินแค่เสียง ไม่ต้องเห็นหน้าค่าตากัน จะพูดคุยกันที่ไหน หรือเมื่อไรก็ได้ จึงทำให้การพูดคุยไม่ต้องกังวลเรื่องรูปลักษณ์หน้าตาหรือสถานที่ในการพูดคุย แม้กระทั่งอยู่บนเตียงนอนก็ยังถกประเด็นต่าง ๆ กันได้

ขณะที่คนฟังเองก็รู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดที่สามารถเข้าถึงเหล่าคนดังที่ตนเองชื่นชอบได้ง่ายขึ้น และยังสามารถยกมือขอร่วมวงสนทนาได้ด้วย Clubhouse จึงเปรียบเหมือนห้องเสวนาออนไลน์ที่รวมคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันมาอยู่ในที่เดียวกัน และยังสามารถเข้าร่วมฟังพร้อมกันในห้องเดียวได้มากถึง 7,000 คน

เข้าถึงง่าย ความส่วนตัวเท่ากับศูนย์

แม้ว่าจะเป็นแอปฯ ในรูปแบบ Audio Chat ที่ฟังกันแค่เสียง และการใช้งานไม่ได้ซับซ้อนอะไร แค่กรอกเบอร์โทรศัพท์ และรับรหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน ก็สามารถใช้งานได้แล้ว (หากมีเพื่อนเชิญ หรือกดลัดคิวให้เรา)

แต่เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า Clubhouse เป็นแอปฯ ที่ไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ใช้งานในการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในโทรศัพท์ จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้ทันที ซึ่งเบื้องต้นก็คือรายชื่อโทรศัพท์ (Contact) ที่อยู่ในมือถือนั่นเอง และยังรู้ด้วยว่าเพื่อนของเราคนไหนใช้ไอโฟน และเพื่อนคนนั้นมีลิสต์ของเพื่อนที่เล่น Clubhouse มากน้อยเพียงใด

เข้าห้องไหน เพื่อนรู้หมด!

แม้ว่าหลายคนอาจจะเคยชินกับการมี Follower (ผู้ติดตาม) จากโซเชียลมีเดียแพลทฟอร์มอื่น ๆ กันมาแล้ว ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม แต่สำหรับ Clubhouse นั้น ยิ่งมีผู้ติดตามมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เราหมดความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าคนที่กดติดตามเราจะสามารถเห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดของเรา พูดง่าย ๆ ว่า “ความลับไม่มีใน Clubhouse” และนี่คือคำตอบที่ว่าเหตุใดการมี Follower เยอะจึงส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวของเราไปโดยปริยาย

  • เห็นว่าเรากำลังเล่น Clubhouse อยู่หรือไม่ และออนไลน์ครั้งสุดท้ายเมื่อใด
  • เห็นว่าเรากำลังเข้าไปฟังการสนทนาในห้องใด ซึ่งหัวข้อบางห้องก็อาจเป็นเรื่องที่อ่อนไหว หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ต้องการให้คนอื่นรับรู้
  • เห็นว่าเรากดติดตามใครบ้าง ทำให้ทราบไลฟ์สไตล์ รสนิยม และความสนใจของเรา 
  • เห็นว่ามีใครกดติดตามเราบ้าง และสามารถกดเข้าไปดูโปรไฟล์ของคนคนนั้นได้ด้วยเช่นกัน
  • ผู้ที่เชิญเราเข้ามาเล่น Clubhouse จะปรากฏชื่อให้เห็นในโปรไฟล์ของเราเป็นการถาวร คนอื่นจึงสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลได้ทั้งหมด
  • ในห้องสนทนาสามารถเห็นผู้ที่เข้ามาฟังได้ทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่ Speaker กดติดตามอยู่ ก็จะปรากฏให้เห็นด้วยว่าเข้ามาฟังในห้องหรือไม่

นอกจากนี้ คนที่เล่น Clubhouse จะเห็นเพื่อนที่อยู่ในบัญชีโทรศัพท์ของตนเองโดยอัตโนมัติด้วย จึงสามารถกดติดตามได้โดยไม่ต้องค้นหาชื่อในแอปฯ แต่อย่างใด

ไม่จำกัดอายุผู้ใช้งาน สุ่มเสี่ยงต่อเยาวชน

หากเทียบกับโซเชียลมีเดียสุดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ทั้งหมดล้วนมีการกำหนดอายุผู้ใช้งานทั้งสิ้น โดยต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 13 ปีจึงจะสามารถสมัครใช้งานได้

แต่สำหรับ Clubhouse เพียงแค่มีไอโฟน 1 เครื่อง ก็สามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งทุกวันนี้ เด็กชั้นประถมก็มักจะมีมือถือส่วนตัวใช้กันแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอดส่อง หรือให้คำแนะนำในการใช้งานที่ถูกต้อง ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคนที่ไม่หวังดีล่อลวง เนื่องจากการตั้งห้องสนทนาสามารถตั้งให้เป็นห้องปิดเพื่อสนทนากันเป็นการส่วนตัวได้

เสี่ยงต่อการถูกบันทึกเสียงเพื่อ “แบล็กเมล”

แม้ว่าไอโฟนมีนโยบายป้องกันความเป็นส่วนตัว โดยที่ตัวเครื่องไม่สามารถบันทึกเสียงหรืออัดเสียงจากการพูดคุยโทรศัพท์ได้ แต่ใน App Store ก็มีแอปพลิเคชันที่เอื้อให้ดาวน์โหลดมาใช้งาน เพื่อบันทึกเสียงได้

ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่พาดพิงถึงบุคคลอื่น อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลักลอบบันทึกเสียง เพื่อนำมาแบล็กเมลจากบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดี หรือเหล่ามิจฉาชีพได้

ขณะที่แอปฯ Clubhouse ก็ระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่ามีการบันทึกเสียงห้องต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ แม้จะระบุว่าอัดเสียงเฉพาะตอนที่กำลังไลฟ์กันอยู่ และจะลบทิ้งหลังจากห้องสนทนานั้นปิดลงก็ตาม

อย่างไรก็ดี หากใครไม่ได้ติดเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือนโยบายต่าง ๆ ของ Clubhouse ที่ว่ามา แอปฯ สุดฮิตนี้ก็ถือเป็นคลังความรู้ชั้นดีในการเสพข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลกที่ตรงกับความสนใจของเรา อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook