เมื่อ Spotify กำลังจะเริ่มดักฟังเสียง เพื่อเข้าถึงอารมณ์ของผู้ใช้งาน

เมื่อ Spotify กำลังจะเริ่มดักฟังเสียง เพื่อเข้าถึงอารมณ์ของผู้ใช้งาน

เมื่อ Spotify กำลังจะเริ่มดักฟังเสียง เพื่อเข้าถึงอารมณ์ของผู้ใช้งาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จะเป็นอย่างไร หากในอนาคตเราจะมีเพื่อนสนิทมิตรคู่ใจ ที่คอยปลอบใจในเวลาที่ท้อแท้ หรือคอยแสดงความยินดีเมื่อมีความสุข และเข้าใจเราในทุกอารมณ์ ที่ไม่ใช่ “มนุษย์” แต่เป็น “แอปฟังเพลง” เมื่อ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงเจ้าดัง มีความสนใจที่อยากจะติดตาม “น้ำเสียง จังหวะ และความเร็วในการพูดของผู้ใช้งาน เพื่อจะได้รู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น แล้วนำไปวิเคราะห์เพื่อแนะนำเพลงที่เข้ากับอารมณ์

เป็นเรื่องปกติที่แอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลงจะรวมคุณสมบัติที่ให้คำแนะนำเพลงในแบบของตัวเองแก่ผู้ใช้งาน แอปสตรีมเพลงเจ้าต่าง ๆ ยังคงดำเนินแนวทางการแนะนำเพลง ด้วยอัลกอริทึมที่ใช้โมเดลการค้นหาความชอบ และการแนะนำเพลง ในรูปแบบของการแยกแยะรสนิยมของผู้ใช้ ตามการค้นหาเพื่อแนะนำเพลง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าระบบจะเรียนรู้ความชอบจริง ๆ ของผู้ใช้งานนั้น ๆ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนั่นคงยังไม่ดีพอที่จะสามารถอยู่เหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้

ล่าสุดบริษัท Spotify Technologies บริษัทสตรีมมิงเพลงเจ้าดัง เผยว่าได้รับอนุมัติการขอจดสิทธิบัตรในการดักฟัง และบันทึกเสียงสนทนา รวมถึงเสียงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้ใช้งาน หลังจากที่บริษัท ได้ทำการยื่นขอจดสิทธิบัตรนี้ไปตั้งแต่ปี 2018 โดยสิทธิบัตรฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ AI ที่สามารถแนะนำและจัดหาเพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเข้ากับอารมณ์ในขณะนั้น เพื่อสร้างความประทับใจต่อผู้ใช้งานได้มากขึ้น

เทคโนโลยีนี้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางเทคนิคหลายอย่างที่ Spotify ตั้งใจจะจดสิทธิบัตรในช่วงปีที่แล้ว โดยเบื้องหลังของกลุ่มข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดักฟังเสียงดังกล่าว ได้แก่ จังหวะของเสียง โทนเสียง น้ำเสียง รวมถึง ความหนัก-เบา และความเร็วในการพูด ซึ่งหลังจากระบบทำการเก็บบันทึกเสียงเหล่านี้ในแต่ละช่วงแล้ว ระบบ AI จะทำการวิเคราะห์ต่อว่า ในสถานการณ์นี้ ผู้สนทนา (เจ้าของบัญชีผู้ใช้) เป็นเพศใด อายุเท่าไร และในขณะนั้น ผู้ใช้งานกำลังอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มเพื่อน เท่านั้นยังไม่พอ ระบบยังวิเคราะห์ไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานว่าชอบไปในสถานที่ใดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี กลุ่มข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดักฟังเหล่านี้จะถูกใช้กับแอปสตรีมเพลงอย่าง Spotify เพียงเท่านั้น! ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีนี้ในการวิเคราะห์ความหมายของบทสนทนาต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน อีกทั้งในขณะนี้ทาง Spotify ยังไม่มีประกาศที่จะใช้แผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีดักฟังดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าหลังจากที่ได้รับการอนุมัติการจดสิทธิบัตรแล้ว ทาง Spotify คงจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ให้เกิดประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้จริงในอีกไม่นาน ซึ่งก็จะทำให้ Spotify สามารถอยู่เหนือคู่แข่งอย่าง JOOX, Apple Music และ YouTube Music ได้แน่นอน

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook