งานเทคโชว์ CES เปิดตัวหน้ากากอนามัยล้ำสมัยสู้ภัยโควิด-19

งานเทคโชว์ CES เปิดตัวหน้ากากอนามัยล้ำสมัยสู้ภัยโควิด-19

งานเทคโชว์ CES เปิดตัวหน้ากากอนามัยล้ำสมัยสู้ภัยโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนชีวิตของผู้คนทั่วโลก และยังทำให้ต้องมีการเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร ในงาน Consumer Electronics Show หรือ CES ที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นงานประจำปีเพื่อจัดแสดงอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงพากันนำเสนออุปกรณ์ไฮเทคที่จะช่วยต่อสู้กับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก สเปรย์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องกรองอากาศ และเทคโนโลยีไร้การสัมผัส

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มองว่า ไม่มีเทคโนโลยีประเภทใดประเภทหนึ่งที่จะเอาชนะโควิด-19 ได้อย่างราบคาบ จึงหันไปมุ่งพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ "ความปกติใหม่" หรือ "new normal" ในชีวิตคน เช่น กริ่งประตูที่สามารถวัดอุณหภูมิของผู้มาเยือนก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าบ้าน หรือกริ่งประตูแบบวีดีโอไร้สัมผัส เพื่อลดการสัมผัสและแพร่กระจายของไวรัส เป็นต้น

The Wall Street Journal และ CNET รายงานว่าอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในงานเทคโชว์ CES ครั้งนี้ คือหน้ากากไฮเทคหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของการใช้ชีวิตสมัยใหม่ในยุคโควิด-19

MaskFone, made by Binatone, is a $50 washable mask with a built-in Bluetooth headset. MaskFone

หน้ากากชนิดแรก คือ มาสก์โฟน (MaskFone) ที่มีไมโครไฟนและหูฟังฝังอยู่ข้างในหน้ากาก เพื่อช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถพูดคุยโทรศัพท์ได้สะดวก และช่วยให้ผู้ฟังได้ยินผู้พูดชัดเจนแม้จะพูดผ่านหน้ากากก็ตาม บริษัทผู้ผลิต MaskFone คาดว่าหน้ากากไฮเทคนี้จะกลายมาเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็น ที่นอกจากจะปกป้องคุ้มครองผู้ใช้จากไวรัส แบคทีเรียแล้ว ยังช่วยป้องกันฝุ่นละอองและมลพิษอีกด้วย

ส่วนหน้ากาก แอร์พ็อพ แอคทีฟพลัส (AirPop Active+) ที่นำมาแสดงในงาน เป็นหน้ากากที่มีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการหายใจ ตรวจวัดอุณหภูมิ และความชื้น ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อหน้ากาก AirPop Active+ กับโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนผ่านระบบบลูทูธ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านข้อมูลต่าง ๆ เช่น อัตราการหายใจ ดัชนีคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ และดูว่ามีการกรองหรือป้องกันสารพิษในอากาศไปมากน้อยแค่ไหน และเมื่อสามารถตรวจสอบเวลาการใช้งานของหน้ากากได้ ผู้ใช้จึงจะสามารถรู้ได้ว่าควรจะเปลี่ยนฟิลเตอร์ หรือแผ่นกรองเมื่อใด ซึ่งแผ่นกรองที่ใส่ไว้ในหน้ากากจะมีอายุการใช้งาน 40 ชั่วโมง

หน้ากาก AirPop Active+ มีกำหนดจะออกจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์ ในราคา 150 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4,500 บาท สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจ่ายแพง สามารถซื้อหน้ากากเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชั่น "ไม่สมาร์ท" หรือไม่มีเซ็นเซอร์ ในราคา 65 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 1950 บาท

AirPop Active+ mask has a built-in sensor to record breathing info, temperature and humidity. AirPop Active+ mask

ทางด้านบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง LG ยกระดับหน้ากากอนามัยให้มากขึ้นไปอีก โดยมีแนวคิดสร้างเครื่องฟอกอากาศครอบไว้บนใบหน้า ด้วยหน้ากาก เพียวริแคร์ (PuriCare Wearable Air Purifier) ที่จะมีแผ่นกรอง HEPA อยู่ในตัว ซึ่ง แผ่นกรองอากาศ HEPA เป็นแผ่นกรองที่มีประสิทธิภาพสูงที่ใช้ดักจับฝุ่นและเชื้อโรคอนุภาคเล็ก ที่มักจะพบในเครื่องกรองอากาศภายในบ้าน

นอกจากจะมีแผ่นกรอง HEPA แล้วหน้ากาก PuriCare ยังมีพัดลมเพื่อให้อากาศถ่ายเท และเซ็นเซอร์อีกด้วย หน้ากาก PuriCare สามารถเก็บได้ในกล่อง หรือ เคส ที่มีความสามารถทำความสะอาดหน้ากากอนามัยได้ด้วยแสง UV ภายในเวลา 30 นาที ขณะนี้หน้ากาก PuriCare มีขายที่ในฮ่องกง ไต้หวัน และอิรัก เท่านั้น แต่ยังไม่มีรายงานว่าจะนำมาขายในอเมริกาเมื่อไหร่ และราคาเท่าใด

LG PuriCare Wearable Air Purifier LG PuriCare Wearable Air Purifier

นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากอนามัยอื่น ๆ เช่น อเมซฟิต (Amazfit) หน้ากากใสฆ่าเชื้อโรค ที่อ้างว่าสามารถทำความสะอาดแผ่นกรองด้วยแสง UV ในตัวภายในระยะเวลาเพียง 10 นาที ในขณะที่บริษัทผลิตเกมและอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ Razer ที่ประกาศว่าจะผลิตหน้ากากใสพร้อมไมโครโฟนในตัว มีแสงไฟ และมีลำโพง เพื่อช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังบอกว่าจะผลิตกล่องที่สามารถทำความสะอาดหน้ากากได้เองอีกด้วย แต่ยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะออกมาเมื่อไหร่

นอกเหนือจากหน้ากากอนามัยไฮเทค งาน CES ยังจัดโชว์หุ่นยนต์ฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต เพื่อฆ่าเชื้อบริเวณที่มีการจับต้องหรือที่มีผู้คนผ่านเข้าออกมาก ๆ ในออฟฟิศ ในร้านค้าปลีก หรือร้านอาหาร และในงานยังมีเซ็นเซอร์ที่เอาติดไว้กับตัวเพื่อตรวจเช็คอาการคล้าย ๆ คนเป็นไข้หวัด ซึ่งมีความแม่นยำเกือบเท่าเทียมกับอุปกรณ์การวัดในโรงพยาบาล

บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่พวกเขาผลิตขึ้นมา ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองอื่น ๆ ที่สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือบั่นทอนความน่าเชื่อถือของบริษัทในกลุ่มผู้บริโภคก็ตาม

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่นำมาโชว์ในงาน CES นี้มักจะอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเบื้องต้น ส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาจจะยังไม่ได้มีการทำการศึกษาวิจัย แต่ถึงอย่างนั้น ก็พอจะช่วยให้เห็นภาพอุปกรณ์ไฮเทคที่น่าจะมีออกมาในอนาคต เพื่อให้คนเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะความปกติใหม่ ภายใต้การระบาดของโควิด-19

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook