ขั้วอำนาจ (ค่ายรถยนต์) ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก

ขั้วอำนาจ (ค่ายรถยนต์) ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก

ขั้วอำนาจ (ค่ายรถยนต์) ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงการคู่แข่งในตลาดรถยนต์ เมื่อมีโตโยต้า ก็ต้องมีฮอนด้า หากเป็นฝั่งยุโรปเมื่อมีเมอร์เซเดสฯ ก็ต้องมีบีเอ็มดับเบิลยู หรือระดับซูเปอร์คาร์ มีเฟอร์รารี ก็ต้องมีลัมโบร์กินี่

ทว่านับจากนี้ไปจนถึงปี 2024 ขั้วอำนาจค่ายรถยนต์โลกกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อรถพลังงานไฟ้า (EV) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

Tesla ผู้บุกเบิกรถพลังแบตเตอรี่

เป้าหมายหลักของเทสล่า ค่ายรถพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา โดยผู้ก่อตั้งคนดังอย่าง อีลอน มัสก์ คือการเดินทางไปสู่การใช้ยานพาหนะพลังแบตเตอรี่ แทนการใช้รถที่ต้องเติมน้ำมันของคนทั่วโลก ซึ่งไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จหลังเปิดตัว เทสล่า โรดสเตอร์ รถสปอร์ตไฟฟ้าคันแรก มาจนถึงเทสล่า โมเดล เอส รถยนต์นั่งคันหรูพลังงานไฟฟ้าล้วน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเดินมาถูกทาง

ตัวเลขในปี 2020 ที่ผ่านไป แม้ทั่วโลกจะประสบปัญหาจากภาวะโรคระบาด โควิด-19 ทว่ายอดขายรถ EV ของเทสล่า มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปี 2019 และมียอดขายสูงถึงเกือบ 1 แสน 4 หมื่นคัน ในไตรมาสที่สาม

ที่สำคัญ มูลค่าของหุ้นเทสล่ายังมีตัวเลขแซงหน้าโตโยต้า ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกจากญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มิหนำซ้ำ เทสล่ายังมีมูลค่ามากกว่าฮอนด้าและบีเอ็มดับเบิลยูรวมกันด้วยซ้ำไป

หากไม่นับบุคลิกที่ดูโอ้อวดและดุดันของผู้ก่อตั้งอย่าง อีลอน มัสก์ ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ถูกนำมาติดตั้งในรถยี่ห้อนี้ คือจุดเด่นที่ทำให้ทุกคนให้ความสนใจและต้องการใช้ อาทิ ตัวถังอลูมิเนียมน้ำหนักเบา แบตเตอรี่ลิเทียมที่สามารถชาร์จไฟหนึ่งครั้งวิ่งได้เกิน 500 กิโลเมตร รวมถึงสมรรถนะของมอเตอร์ไฟฟ้าที่เปรียบเทียบแล้วความแรงระดับ 300 แรงม้า รวมไปถึงรถไร้คนขับ เท่ากับว่าที่นี่คือเจ้าตลาดรถยนต์ EV ที่มาก่อน และมีทีท่าจะอยู่ยาวไปได้อีกหลายสิบปี

Apple เตรียมเอาจริงตลาดรถยนต์

อีกหนึ่งบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก หนีไม่พ้น Apple ที่ปัจจุบันขับเคลื่อนโดยทิม คุก นักธุรกิจวัย 60 ปี โดยทันทีที่มีข่าวว่าแอปเปิลจะกระโดดเข้าสู้การผลิตรถยนต์ภายในปี 2024 ถูกสื่อทุกสำนักก็นำไปเปรียบเทียบกับค่ายรถของ อีลอน มัสก์ ทันที โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าแอปเปิลกำลังมองหาช่องโหว่ของรถ EV ในปัจจุบัน อาทิ เรื่องแบตเตอรี่ เรื่องราคาขายที่ยังแพงอยู่ ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นตัวเข้าไปช่วยในการขับเคลื่อน

แน่นอนว่าแอปเปิล คือธุรกิจคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องของการผลิตรถยนต์ ฉะนั้นพวกเขาอาจจะกำลังมองหาพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อดังในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันผลิตรถภายใต้แบรนด์ที่ก่อตั้งโดยสตีฟ จ็อบ ซึ่ง 2 เป้าหมายหลักภายในปี 2024 คือการผลิตรถไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่ารถค่ายเทสล่า รวมถึงความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ ที่เชื่อว่าอาจยืนระยะการใช้งานได้นานกว่ารถ EV ที่มีอยู่ในตลาดเวลานี้

ทั้งนี้ ข่าวการเตรียมผลิตรถของแอปเปิลถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในปี 2016 ก็เคยมีกระแสข่าวออกมาว่า พวกเขาเคยมีโครงการลับเฉพาะที่ชื่อว่า Titan เพื่อผลักดันรถที่เรียกว่า iCar ออกมาสู่ตลาดให้ได้

แม้ว่าเวลานี้จะยังไม่มีการออกมายืนยันอย่างเป็นทางการจากปากผู้บริหาร แต่เชื่อว่าหากโปรเจคนี้บรรลุผล และแอปเปิลสามารถจับกับค่ายรถชั้นนำทั่วโลกได้ เมื่อถึงเวลานั้นพวกเขาอาจจะเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจในตลาดรถยนต์ก็เป็นได้

Toyota มั่นใจ รอวันปล่อยของ

เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า ในขณะที่ค่ายรถเกือบทุกค่ายพากันขยับตัว ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าออกสู่ตลาด แต่ฝั่งโตโยต้ายังไม่มีรถรุ่นไหนที่เป็น EV ขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วนเปิดตัวออกสู่ตลาดเลย  มีแต่ข่าวที่เตรียมจะเปิดตัวเท่านั้น นั่นเป็นเพราะพวกเขาน่าจะมั่นใจในแนวทางของตัวเอง โดยเฉพาะรถพลังงานลูกผสมหรือไฮบริด ซึ่งเป็นจุดเด่นของค่ายรถแดนปลาดิบมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก

อากิโกะ โตโยดะ ประธานใหญ่โตโยต้า มอเตอร์ ออกมาสวนกระแสโลกด้วยความจริงที่ว่าการผลักดันรถ EV ให้ครองโลก บางทีอาจเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เพราะคุณจะต้องใช้เงินมหาศาลในการลงทุน เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ก็มาจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อวันใดที่รถ EV ครองโลกแบบ 100 เปอร์เซนต์ วันนั้นโลกอาจไม่สวยงามเหมือนที่หลายคนคิดไว้

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวพอจะวิเคราะห์ได้ว่า โตโยต้าที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ไฮบริด (พลังงานแบตเตอรี่ + พลังงานเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาป) กำลังวางโปรเจคอะไรบางอย่างเพื่อรองรับอนาคต ที่ค่ายรถทุกเจ้ามองไปที่การผลิตรถ EV แต่เพียงอย่างเดียว

เพราะในเมื่อพวกเขาแพ้เทสล่าตั้งแต่ยกแรก ก็จำเป็นต้องหาวิธีอื่น ตามรายงานระบุว่าโตโยต้ากำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้เต็มในเวลา 10 นาที และรถสามารถวิ่งไปได้เกิน 500 กิโลเมตร

งานนี้เชื่อว่าหากโปรเจคของโตโยต้าสำเร็จขึ้นมา พวกเขาจะมีโอกาสกลับมาเป็นมหาอำนาจในตลาดรถ EV ได้ไม่ยาก สังเกตได้จากคำสัมภาษณ์ทิ้งท้ายของท่านประธานใหญ่ที่บอกว่า “พวกเขา (เทสล่า) ไม่ใช่คนทำครัวตัวจริง แต่แค่มีสูตรที่ดีเท่านั้น แต่เรา (โตโยต้า) มีครัว มีพ่อครัว และเราทำอาหารกันจริงๆ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook