ภารกิจสำรวจอวกาศโชว์ความยิ่งใหญ่ ปักหลายหลักชัยปี 2020

ภารกิจสำรวจอวกาศโชว์ความยิ่งใหญ่ ปักหลายหลักชัยปี 2020

ภารกิจสำรวจอวกาศโชว์ความยิ่งใหญ่ ปักหลายหลักชัยปี 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงแม้ว่าปี ค.ศ.2020 จะเป็นปีที่สร้างความเครียดและความกังวลใจให้กับผู้คนทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความหวังและความรุ่งเรืองของปีนี้ คือความสำเร็จของภารกิจสำรวจอวกาศที่เกิดขึ้น

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปีที่นักบินอวกาศทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าอีกครั้ง มีถึงสามประเทศที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร นอกจากนี้ยังมีการส่งหุ่นยนต์สำรวจไปเก็บก้อนหินมาจากดวงจันทร์ และก้อนกรวดมาจากดาวเคราะห์น้อยและนำกลับมาบนโลก

คาดว่าในปีหน้าจะมีการต่อยอดความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก สหรัฐฯ มีแผนที่จะนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ และในฤดูใบไม้ร่วง มีกำหนดที่จะส่ง มีแผนที่จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวใหม่ "เจมส์ เว็บบ์" (James Webb Space Telescope) ขึ้นไปแทนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) อีกด้วย

ในส่วนของภาคเอกชน บริษัท โบอิ้ง ของสหรัฐฯ ตั้งเป้าว่าจะไล่ให้ทันบริษัทเทคโนโลยีอวกาศอย่าง สเปซเอ๊กซ์ (SpaceX) เพื่อนำนักบินอวกาศออกไปนอกโลก ในขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าปี 2021 จะเป็นปีปฐมฤกษ์ของการท่องเที่ยวอวกาศในที่สุด

ถึงแม้ว่าในปีนี้ การระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะสร้างอุปสรรคให้กับโครงการสำรวจอวกาศ แต่ภารกิจสำคัญก็ยังดำเนินไปตามกำหนด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสหรัฐฯ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่พากันไปสำรวจดาวอังคาร

ในปีหน้า ยานอวกาศลำแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะขึ้นไปสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ส่วนหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ “เพอร์เซเวียแรนซ์” (Perseverance rover) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) มีกำหนดที่จะลงจอดบนพื้นผิวดาวแดงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ บริเวณสันดอนแม่น้ำโบราณและพื้นทะเลสาบ ที่คาดว่าน่าจะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาศัยอยู่ หุ่นยนต์สำรวจของนาซ่า ยังจะทำการเจาะและเก็บตัวอย่างพื้นผิวกลับมาบนโลกอีกด้วย

ส่วนยานสำรวจของจีน "เถียนเหวิน-1" ซึ่งหมายถึงการค้นหาความจริงของสรวงสวรรค์ ยังมีภารกิจออกไปตามหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต หลังจากที่จีนเพิ่งประสบความสำเร็จจากภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์และเก็บก้อนหินจากดวงจันทร์กลับมาบนโลกได้เป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปและรัสเซีย ระงับการสำรวจดาวอังคารไปจนถึงปี ค.ศ.2022 เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคที่เกิดจากมาตรการโควิด-19

ในส่วนของภาคเอกชน บริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นบริษัทเอกชนแรกที่พานักบินอวกาศออกไปนอกโลกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งก่อนหน้านี้มีประเทศมหาอำนาจเพียงสามประเทศเท่านั้นที่ทำภารกิจระดับนี้ได้สำเร็จ นอกจากนี้แคปซูล SpaceX Dragon ยังได้พานักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ในเดือนพฤศจิกายน และทำหน้าที่เป็นยานขนของขึ้นไปบนสถานีอวกาศให้กับนาซ่าอีกด้วย

SpaceX ยังมีโครงการอวกาศอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าทดสอบยานอวกาศ Starship ที่สร้างขึ้นมาเพื่อนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยทำการทดลองไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็ได้ขยายการให้บริการขนส่งของขึ้นไปนอกโลกให้กับลูกค้าเอกชนอื่น ๆ ด้วย

สำนักข่าว Associated Press ยังรายงานด้วยว่าบริษัท โบอิ้ง มีแผนที่จะเร่งส่งแคปซูลอวกาศ Starliner ออกไปเช่นกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า หลังจากที่ซอฟท์แวร์ของ Starliner มีปัญหาในการทดสอบในเดือนธันวาคม

ส่วนบริษัทอวกาศเอกชนอย่าง Axiom Space ก็กำหนดที่จะนำนักธุรกิจชาวอิสราเอลและลูกค้ากระเป๋าหนักอีกสองคนขึ้นไปสถานีอวกาศในปีหน้า

ในขณะที่บริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) ของ เจฟฟ์ เบโซส เจ้าของอาณาจักรอีคอมเมิร์ซแอมะซอน และ เวอร์จิน กาแลคติก (Virgin Galactic) ของอภิมหาเศรษฐี ริชาร์ด แบรนสัน ยังทำการทดสอบไฟลท์ทดลองอยู่ และไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนที่จะพาลูกค้าขึ้นไปแตะขอบอวกาศและกลับลงมา

ไม่เพียงแต่นักธุรกิจ และนักบินอวกาศเท่านั้น แม้แต่นักแสดงชื่อดังอย่าง ทอม ครูซ​ ก็ต้องการขึ้นไปบนอวกาศเช่นกัน โดยครูซอยู่ในระหว่างการเจรจากับองค์การนาซาเพื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่สถานีอวกาศอีกด้วย

ก่อนหน้านี้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตั้งเป้าว่าจะส่งนักบินอวกาศของนาซ่าขึ้นไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง ภายในปี ค.ศ.2024 ภายใต้โครงการอาร์ทีมิส หลังจากที่โครงการอพอลโลของนาซาพานักบินอวกาศอเมริกันขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งนักวิชาการด้านอวกาศมองว่าการส่งเสริมโครงการสำรวจอวกาศเป็นความสำเร็จที่สำคัญของทรัมป์

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ารัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะทำการเปลี่ยนแปลงแผนการไปเหยียบดวงจันทร์ดังกล่าวหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook