ความลับที่ไม่ลับ เมื่อ “ข้อมูลส่วนตัว” ถูกเปิดเผยผ่านแอปพลิเคชัน
กลายเป็นเรื่องราวที่ทำให้โซเชียลมีเดียเดือดกว่าที่เคย เมื่อรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน 3 แอปฯ ได้แก่ Twitter Line และไทยชนะ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่อง “Privacy Policy” หรือ “นโยบายความเป็นส่วนตัว”
ไทยชนะ แอปฯ ควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19
แอปฯ ไทยชนะ ที่ศบค.ระบุว่ามีไว้เพื่อใช้ติดตามคนที่มีความสุ่มเสี่ยงในการติดโรค COVID-19 หากเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามตัวได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถจำกัดกลุ่มคน ช่วงเวลา และสถานที่ไห้แคบลงได้ แต่เนื่องจากต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล จึงทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งกังวลใจที่จะต้องให้ข้อมูลส่วนตัวในแพลตฟอร์มของแอปฯ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยว่าหากเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนี้ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง
Line กับความลับที่ถูกเปิดเผย
ส่วนแอปพลิเคชัน Line (ไลน์) กลับพบว่ามีการเปิดเผยข้อมูล Line@ ที่เข้าไปกดติดตามให้เป็นแบบสาธารณะ หลังจากผู้ใช้งานอัปเดตแอปฯ นั่นหมายความว่าเพื่อนในไลน์จะสามารถรู้ได้ว่าเรากดติดตามเรื่องอะไรหรือใครไว้บ้าง ซึ่งบางเรื่องก็เป็นความสนใจส่วนบุคคลที่อาจเป็นความลับที่บุคคลนั้น ๆ ไม่ต้องการเปิดเผยให้กับคนรอบตัวได้รู้ แม้ล่าสุด ไลน์ประเทศไทยจะตัดสินใจปิดการแสดงข้อมูลดังกล่าวเพื่อผู้ใช้งานแล้ว แต่นั่นก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของแอปฯ ลดลงไปเช่นกัน
Twitter อาณาจักรที่ “เคย” เป็นดินแดนเสรีภาพ
ขณะที่ Twitter (ทวิตเตอร์) แอปพลิเคชันที่ “เคย” เป็นดินแดนเสรีภาพ ที่ทำให้ชาวเฟซบุ๊กบางส่วนหนีไปเป็นชาวทวิตภพ เริ่มมีเสียงบ่นในระยะหลังว่าทวิตเตอร์นับวันยิ่งไม่เหมือนเดิม โดยล่าสุดมีข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความเป็นส่วนตัว เรื่องการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ส่งมาถึงผู้ที่มีบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ทุกคน
เมื่อเข้าไปอ่านอย่างละเอียดจึงพบว่าทวิตเตอร์สามารถเผยแพร่ข้อมูลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของผู้ใช้ให้กับพันธมิตรด้านธุรกิจของทวิตเตอร์ได้ ซึ่งนั่นอาจทำให้การระบุหรือสืบหาเจ้าของบัญชีเป็นไปได้ง่ายขึ้น บวกกับเพิ่งมีบัญชี “Twitter Thailand” ด้วย จึงทำให้หลายคนโยงว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกันเรื่องการเข้าถึงข้อมูลความเป็นส่วนตัว
นั่นทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากทวีตข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยและไม่พอใจ จนผุดแฮชแท็กต่าง ๆ ขึ้นมา รวมไปถึงการหาทำเลใหม่จากแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่มีแพลตฟอร์มคล้ายกับทวิตเตอร์ นั่นคือ Minds และ Tumnlr ซึ่งแม้จะมีคนพยายามอธิบายว่า นโยบายนี้ของทวิตเตอร์มีขึ้นเพื่อผลประโยชน์ด้านการตลาดจริง ๆ และไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้นก็ตาม
แม้ว่าแอปพลิเคชันทั้ง 3 จะพยายามออกมาชี้แจงหรือแก้ไขนโยบายดังกล่าว แต่ก็ทำให้คนเริ่มหมดความเชื่อมั่นไปแล้ว เพราะไม่แน่ใจว่า ยังคงมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชันเหล่านี้อยู่หรือไม่ ทั้งที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียวไม่มีพื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างแท้จริง!