สรุปทุกประเด็นเกี่ยวกับ 5G เทคโนโลยีแห่งปี 2020 ที่ทุกคนต้องรู้จัก
หลังจากจบการประมูลไปเป็นที่เรียบร้อย ทำให้กระแส 5G ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น เพราะมันจะไม่ใช่แค่ระบบเครือข่ายบนโทรศัพท์แล้ว แต่จะยังถูกใช้งานกว้างขวางมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารหรือคำสั่งทางไกลอย่างไร้ความหน่วง เช่น การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ การผ่าตัดระยะไกล หรือแม้แต่การประชุมในบริษัทเป็นต้น นับเป็นเทคโนโลยีแห่งปีที่ทุกคนต้องรู้จักครับ
5G คืออะไรหนอ?
คำนิยามที่เข้าใจง่ายที่สุดของ 5G คือ “มาตรฐานเครือข่ายใหม่” โดยปกติแล้วมาตรฐานเครือข่ายจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น 4G ที่พัฒนาเรื่องความเร็ว และความเสถียรที่มากกว่า 3G แต่สำหรับ 5G นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องความเร็วในแบบที่แล้ว ๆ มา
เครือข่าย 5G นั้นมีความเร็วที่สูงมาก ขนาดโหลดหนังเรื่องหนึ่งเสร็จได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ช่วงสัญญาณของ 5G ค่อนข้างสั้น ถ้าเทียบคือสามารถครอบคลุมสวนสาธารณะนครนิวยอร์กได้ แต่ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งเมือง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของคลื่นที่นำมาใช้อีกที
5G จะแรงกว่า Wi-Fi หรือไม่?
แรงกว่า ในบางบริบท หากในพื้นที่นั้น ๆ มีผู้ใช้งาน Wi-Fi เป็นจำนวนมาก (แย่งแบนด์วิธกัน) ก็ทำให้ความเร็วตกลงได้เป็นธรรมดา แต่การออกแบบ 5G นั้นถูกพัฒนาให้มีการส่งปริมาณข้อมูลในขณะที่มีคนใช้งานเยอะได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะช่วยลดความแออัดของเครือข่ายลงได้เป็นอย่างมาก และมีโอกาสสูงที่คุณจะได้รับการเชื่อมต่อที่เสถียรและรวดเร็วบนเครือข่าย 5G
เราจำเป็นต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่เพื่อใช้งาน 5G หรือไม่?
คำตอบคือ ใช่ อย่างไม่ต้องสงสัยครับ ปัจจุบันสมาร์ตโฟนที่รองรับ 5G ก็เริ่มวางจำหน่ายนไทยแล้ว เช่น Galaxy S20 Ultra 5G เป็นต้น แต่สมาร์ตโฟนที่เปิดตัวไปแล้วอย่าง Huawei Mate 30 Pro 5G หรือ Xiaomi Mi 10 Pro 5G ก็รองรับเครือข่ายในไทยเช่นเดียวกัน
หากประเทศไทยเปิดใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการ เชื่อว่าผู้จัดจำหน่ายก็อาจจะนำสมาร์ตโฟนที่รองรับ 5G เข้ามานำหน่ายกันมากกว่านี้ครับ
ใครที่สงสัยว่าตอนนี้มีสมาร์ตโฟนรุ่นไหนรองรับไม่รองรับบ้าง ดูเต็ม ๆ ได้ที่นี่
ใช้ประโยชน์อะไรจาก 5G ได้บ้าง?
นอกจากความแรงและความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลแล้ว อีกหนึ่งข้อสำคัญของ 5G เลยคือค่าความหน่วงหรือ latency ที่ต่ำมาก โดยเฉลี่ยของ 4G จะอยู่ที่ 30-50ms ในขณะที่ 5G นั้นจะเหลือเพียง 3-5ms หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งทางเครือข่าย Deutsche Telekom ได้ทดสอบ 5G ในช่วงแรกพบว่าได้ค่าความหน่วงเพียง 3ms เท่านั้น
แล้วมันดียังไงล่ะ?
ค่าความหน่วงต่ำ หมายถึงความดีเลย์ที่ต่ำลง เช่น หากเรากำลังรับชมถ่ายทอดสดกีฬา ก็เหมือนเรากำลังรับชมกีฬาในเวลานั้นอยู่จริง ๆ หรือหากเป็นสายเกมก็มีการดีเลย์ในการแสดงผลที่น้อยลงยิ่งกว่าเดิม
แต่นอกจากในแง่ของบันเทิงแล้ว นักเทคโนโลยีกำลังปรับใช้ 5G กับรถยนต์ไร้คนขับที่สามารถสั่งงานจากทางไกลได้ อย่างเช่น หากต้องการเบรก หรือต้องการเปิดไฟเลี้ยว เลี้ยวรถ ก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่มีความหน่วงเลย หรือแม้แต่ในวงการแพทย์ 5G ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ล่าสุดจีนสามารถพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดระยะไกลที่สามารถควบคุมผ่าน 5G ได้อีกด้วย
5G จะไม่ใช่แค่เรื่องของอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์อีกต่อไป แต่มันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อีกหลากหลายเลยล่ะครับ