หนังสือ vs E-Book ชอบอ่านอะไรมากกว่ากัน?
ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเป็นยุคที่คนถือ Smart Phone ติดมือเหมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ ก็ยังไม่ได้ก้าวไปสู่แฟลตฟอร์ม E-Book ได้อย่างเต็มตัวขนาดนั้น ในขณะเดียวกันรายได้และกำไรของร้านหนังสือเจ้าใหญ่ ๆ หลายเจ้าก็ลดลงอย่างน่าสังเกต
อ่าว อย่างงี้เป็นเพราะคนอ่านหนังสือน้อยลงหรอ?
เปล่าเลย ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้แล้วคนน่าจะอ่านกันเยอะขึ้นด้วยซ้ำไป แค่เข้าเว็ปไซต์ข่าวก็สามารถอ่านได้ทั้งข่าวปัจจุบัน บทความ คอลัมน์ทั้งเก่าและใหม่ที่ตัวเองชอบได้ หรือนิยายออนไลน์ตามเว็ปไซต์ต่าง ๆ ก็กำลังเฟื่องฟูขึ้นและเริ่มมีการแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น ตัวหนังสือ ข้อมูล ความรู้ที่อยู่ใกล้มือมากขึ้นก็ทำให้คนได้รับสารมากขึ้น แต่มาในรูปแบบฟรีนั่นเอง
แล้วในมุมของ E-Book ที่น่าจะมาแทนหนังสือล่ะเป็นยังไง?
รู้จัก MEB แอปพลิเคชั่นที่ให้บริการ E-Book รายใหญ่ของไทย
การเติบโตของตลาด E-Book ในช่วงนี้ก็ถือว่าน่าสนใจมาก มูลค่าต่อปีคือประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี แต่ยังนับเป็นเพียง 5% ของตลาดหนังสือทั้งหมด ที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในตัวเลขครึ่งหนึ่งนั้นมาจาก MEB แอปพลิเคชั่นที่มี E-Book ให้ซื้อเยอะที่สุดในไทย เป็นที่น่าสังเกตในวงการนักเขียนและนักอ่านว่าโลกกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปแล้วนะ
แต่อย่างที่เกริ่นไปแล้วตอนเริ่มว่า E-Book ก็ยังคงไม่ใช่ทางเลือกอันดับ 1 ของนักอ่านส่วนใหญ่ในตอนนี้อยู่ดี
เพราะอะไรกัน?
ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เออ แล้วทำไมคนเค้าถึงไม่อยากซื้อ E-Book อ่านกันนะ ทั้งที่มันสะดวกขึ้นเยอะ?
หลังจากการถามตัวเอง ถามคนรอบข้าง บวกกับการตั้งกระทู้บ่น ๆ ของคนในพันทิป คนในทวิตเตอร์ หรือเฟสบุ๊ค ก็ได้ข้อสังเกตและเห็นผลที่น่าสนใจมาเยอะเลยทีเดียว
ข้อแรกสำหรับการเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงคือ ราคาไม่ได้ต่างกับหนังสือมาก
จากที่เราได้เข้าไปสำรวจตลาดมาก็ตกใจกับราคาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะราคาใน E-Book หลาย ๆ เล่มมีราคาเกือบเท่าหนังสือเป็นเล่มเลยทีเดียว (ส่วนใหญ่ราคาต่างกันไม่ถึง 100 บาท) ซึ่งในมุมมองของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ถือว่าทำใจยากมากที่จะซื้อหนังสืออ่านในแอปพลิเคชั่นมาแบบไม่ได้จับต้องเป็นชิ้นเป็นอันแถมเกือบจะแพงเท่าหนังสือเป็นเล่ม
แทนที่จะได้ผู้อ่านอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้อยากเก็บเป็นเล่มมากนัก แบบว่า อยากอ่านนะแต่ขี้เกียจซื้ออะ อยากซื้อในราคาชิล ๆ พอรับได้อ่านแล้วก็จบไป พอมาเจอราคาที่เกือบจะเท่าหนังสือแถมไม่ได้เป็นเล่มอีกต่างหาก คนกลุ่มนี้ก็เลยหายไปด้วย
ก็คือไปซื้อหนังสือเป็นเล่มไปเลยสะใจกว่า
แถมอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำใจไปซื้อ E-Book ไม่ได้จริง ๆ ก็เพราะอาการหลงใหลในกลิ่นกระดาษถึงขั้นเปิด ๆ ดม ๆ ก็ทำมาแล้ว
บางทีคนที่ชอบเข้าร้านหนังสือก็อาจจะไม่ใช่หนอนหนังสือเสมอไปนะ
เราว่าหลายคนเลยที่ชอบเข้าร้านหนังสือไปเพราะชอบฟีลการจัดชั้นหนังสือที่มันจะรวมกันเยอะ ๆ ชอบการได้เปิด ๆ ลองอ่านบทนั้นบทนี้ ดูหน้าปก หารีวิวคนอ่านผ่านโซเชียล ถูกใจก็ซื้อกลับบ้าน
ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้มีความสุข ที่หาไม่ได้จากการไถมือถือเลือก E-Book แน่นอน
อีกประเด็นก็คือ การจมอยู่กับ Smart Phone นาน ๆ เป็นเหมือนการทำลายสุขภาพร่างกายหลาย ๆ ด้าน
ที่เห็นได้ชัดทันตาสุดก็หนีไม่พ้นสายตาที่สั้นลง ๆ ทุกวัน หรือแสงสีฟ้าในจอก็สามารถทำลายดวงตาทำให้ตาล้า ปวดตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ซึ่งเป็นเอฟเฟคที่ต่างจากการอ่านหนังสือเป็นเล่มอย่างเห็นได้ชัด
ตามมาอีกปัญหาใหญ่ก็คือปวดไหล่ลามไปถึงคอ เป็นปัญหาที่คนติด Smart Phone ติดการก้มหน้า จะต้องเผชิญกันเป็นประจำ
และ Smart Phone มีอะไรรบกวนเยอะเกินไป
Notification ต่าง ๆ ที่คอยเตือนคนไลน์มา คนนี้กดไลค์อินสตาแกรม เพื่อนเม้นเฟสบุ๊ค มีคนกดรีทวิต เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้สมาธิในการอ่านเราลดฮวบ อ่านได้ซักพักก็ต้องแว๊บไปตอบเพื่อน เข้าโซเชียลไปเช็คเรตติ้งกันอีกแล้ว สรุป อ่านไม่รอดเลยจ้า กลับมาตายรังกับหนังสือเหมือนเดิม
มีช่วงหนึ่งที่เห็นคนรีวิว Kindle กันเยอะมาก แต่การใช้การจริงมันเวิร์คมั้ย?
จากที่เราตามล่าหาความคิดเห็นจากผู้ใช้จริง ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าข้อดีของมันก็คือสะดวกมาก ๆ เพราะพกเครื่องเดียวสามารถอ่านกี่เล่มก็ได้ หน้าจอเป็นสีถนอมสายตาคล้ายกับหนังสือ
แต่ข้อจำกัดก็มีเยอะเหมือนกัน นั่นคือไม่เอื้ออำนวยต่อการอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าไร เพราะส่วนใหญ่ E-Book ของไทยจะมีแอปพลิเคชั่นแยกเป็นของตัวเอง ไม่ได้ซื้อมาแล้วได้เป็นไฟล์ PDF มาเลย และก็น่าจะเหมาะกับหนอนหนังสือที่ชอบอ่านหนังสือมาก ๆ และชอบพกไปอ่านนอกบ้านด้วย เพราะสะดวกสบายในจุดนี้
แต่อีกข้อที่หลายคนตัดคะแนนก็คือ เพราะมันไม่ได้กลิ่นกระดาษเวลาอ่าน!
ดูไปดูมา อืม… ซื้อหนังสือเป็นเล่มเนี่ยแหละชัวร์สุด ฮ่าๆๆ
ถึงแม้ตลาด E-Book จะยังไม่ได้เติบโตจนเราสังเกตเห็นได้ขนาดนั้น แต่อีกช่องทางที่กำลังมาและแข่งขันกันดุเดือดมาก ๆ คือแอปพลิเคชั่นนิยายออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่าง เด็กดี กับเว็ปไซต์และแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ที่มาไล่เลี่ยกันอย่าง ธัญวลัย ReadAWrite Fictionlog จอยลดา กวีบุ๊ค อ่านเอา ที่ต่างก็มีจุดเด่นจุดแข็งของตัวเอง และที่มีเหมือน ๆ กันนั่นคือระบบสนับสนุนนักเขียน ที่เป็นช่องทางการหารายได้ทั้งตัวนักเขียนและตัวเว็ปไซต์เองด้วย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการซื้อ E-Book มาก
หรือจะเว็ปอ่านการ์ตูนอย่าง Ookbee comico Line Webtoon ที่มีทั้งคอนเทนต์ฟรีและเสียเงินให้อ่านไม่อั้น
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเติบโตในวงการ E-Book ซึ่งเป็นที่น่าติดตามต่อว่าเมื่อไรวงการ E-Book จะสามารถเข้าถึงคนได้มากกว่านี้ และจะมีวิธีไหนซื้อใจคนที่หลงรักเสน่ห์ของการอ่านหนังสือเป็นเล่มได้
หากโลกเปลี่ยนไปเป็นแบบนั้นจริง ๆ หนังสือแต่ละเล่มอาจจะเหลือแต่ระบบพรีออเดอร์และ E-Book เท่านั้นก็ได้ ใครจะไปรู้