ชิมช้อปใช้ ให้อะไรบ้างนอกจากแจกเงิน?
ถือเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับมาตรการ ชิมช้อปใช้ ซึ่งเป็นโครงการแจกเงินเพื่อจุดประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ โดยถือเป็นมาตรการที่มีประเด็นใหญ ๆ อยู่สองข้อ คือ การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย และการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนแบบสังคมไร้เงินสด
การเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ
แน่นอนว่าการแจกเงินให้ประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ เพียงแต่ความใหม่ของมาตรการนี้ที่น่าสนใจคือเรื่องของการพึ่งพาความเป็นดิจิทัลเป็นหลัก ไม่ใช่การแจกเงินสดที่กดไปใช้อย่างที่ผ่าน ๆ มา
บทวิเคราะห์นี้ขอไม่อิงในประเด็นทางการเมืองเพราะเรื่องนี้ต้องพึ่งพาความจริงที่มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายซึ่งบางข้อมูลก็เป็นเพียงความคิดเห็น จึงตัดเรื่องการเมืองไปชั่วคราวมามองถึงข้อได้ข้อเสียของโครงการนี้สักหน่อยเผื่อผู้อ่านจะได้เปิดมุมมองในมุมอื่น ๆ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของกระบวนการและความแปลกใหม่เป็นประสบการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยชิน เพราะโดยปกติแล้วผู้คนชินกับความสะดวก(แบบเดิม ๆ)ในการใช้จ่าย คือซื้อของมาก็ยื่นเงินไปเท่านั้น
ข้อด้อยที่เห็นเด่นชัด
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่การเปิดรับลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์รับเงินของคนทั่วไปไปจนถึงช่วงของการนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายตามเป้าหมายที่โครงการได้วางไว้ จะเห็นได้ว่าเสียงบ่นและก่นด่าของผู้ใช้สิทธิ์มีมากจนแทบไม่ได้ยินคำชมเลยเสียด้วยซ้ำซึ่งปัญหาใหญ่ของประเด็นนี้คือ ระบบ
เมื่อรากฐานแก่นสำคัญที่เป็นพระเอกของโครงการนี้คือระบบที่กำลังรองรับการใช้งานอย่างล้นหลามของผู้ใช้สิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้จะโทษผู้ใช้สิทธิ์ไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะพวกเขาคือหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของโครงการอย่างแน่นอนเป็นทุนเดิม ดังนั้นความผิดจึงมาตกอยู่ที่การพัฒนาระบบและการจัดการตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งจะสังเกตได้แม้มองจากภายนอกว่าระบบต่าง ๆ ของไทยนั้นยังทำกันได้ไม่ดีนัก ทุกครั้งที่มีคนใช้กันมาก ๆ จะเกิดเหตุการณ์แบบคอขวด สุดท้ายส่งผลให้ระบบเจ๊งและติดขัด เป็นโดมิโน่เสียผลประโยชน์ล้มทับกันเป็นทอด ๆ
และนี่คือบทเรียนอันสำคัญของผู้วางระบบโครงการและการพัฒนาในด้านของการรองรับการใช้งานที่เหมาะสม ไม่ใช่การตามแก้หน้างานเมื่อเกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งตามที่เห็นในหน้าข่าวหลายสำนักปัญหาที่เกิดขึ้นคือความขัดข้องที่ทั้งลูกค้าและผู้ประกอบการก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อันใดด้วย แต่ต้องซวยเพราะระบบย่ำแย่ เช่น กรณีที่มีผู้ใช้สิทธิ์ทานข้าวร้านอาหารที่ร่วมโครงการโดยสั่งอาหารแบบจัดเต็ม แต่ดันซวยเมื่อระบบดันล่มตอนเช็คบิล สุดท้ายคือจำใจจ่ายเงินสดอดใช้เป๋าตังที่ได้รับมา
อีกทั้งการแจกแจงงานสำหรับผู้ประกอบการห้างร้านรายใหญ่(ซึ่งไม่ได้กีดกันผู้ประกอบการรายใหญ่ เพียงแต่จำกัดสิทธิ์) ที่ใช้ระบบรับเงินผ่านแอปนี้ได้เพียงจังหวัดละ 20 จุดจ่ายเงิน นั่นแปลว่าผู้ประกอบการนั้นจะจัดการอย่างไรก็แล้วแต่ เช่น จังหวัดหนึ่งจะแจกแจงให้แก่ 5 ห้างที่มีระบบรับเงินจากโครงการนี้ นั่นแปลว่าหารเฉลี่ยได้ห้างละ 4 แคชเชียร์
ซึ่งดังที่เราเห็นตามข่าวว่ามีคนไปช้อปปิ้งแล้ววางรถเข็นสินค้าทิ้งไว้นั้นเป็นเพราะในจังหวัดนั้นมีการแจกแจงให้มีสาขารับเงินอยู่ที่ 20 สาขา นั่นแปลว่า 1 สาขาจะมีช่องรับเงินที่รองรับระบบจากเป๋าตังเพียง 1 ช่อง กลายเป็นว่าเกิดคอขวดขึ้นเพราะระบบจัดการที่ไม่ดีพอ แม้ส่วนของระบบการจ่ายเงินจะราบรื่นไม่เป็นปัญหา ติดปัญหาเพียงผู้ไปใช้สิทธิ์กันมากมายแต่กลับมีช่องทางชำระเงินรองรับเพียง 1 ช่อง ใครล่ะจะไปรอ ซึ่งก็ออกมาตามภาพที่เราเห็นในหน้าข่าว
อีกข้อเสียคือในส่วนของร้านค้าที่ร่วมโครงการแม้จะมีมากถึงหลักแสน แต่บางร้านค้าก็อยู่ไกลแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งต้องใช้การเดินทางที่ไกล ทำให้โอกาสที่ร้านค้ารายย่อยเหล่านี้จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นก็มีน้อย
ข้อดีที่สังคมซึมซับแบบไม่รู้ตัว
ในด้านของข้อดีที่สังคมได้รับแบบการซึมซับจากโครงการดังกล่าวคือ การริเริ่มเรียนรู้เข้าสู่สังคมแบบไรเงินสด (Cashless Society) นั่นเอง ซึ่งอันที่จริงสังคมไทยเราริเริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมาพักใหญ่ ๆ แล้วตั้งแต่ พร้อมเพย์ ไปจนถึงการร่วมกับร้านค้ารายย่อยที่ใช้ระบบรับเงินผ่านพร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ด ซึ่งในส่วนนี้มีผู้ใช้งานบ้างแต่ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร รวมถึงจำพวก Mobile Banking ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นจ่ายเงินแบบสะดวกทันใจทั้งคนซื้อคนขาย
กลับมาในเรื่องของโครงการ ชิมช้อปใช้
ถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างการซึมซับให้สังคมเข้าสู่สังคมแบบไรเงินสดได้มากประมาณหนึ่ง เพราะสังเกตจากความสนอกสนใจของประชาชนทั่วทุกหัวระแหงซึ่งไม่ใช่เพียงคนวัยทำงานหรือคนเมืองเท่านั้น โดยการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ยังทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดหรือชาวบ้านที่แต่เดิมไม่สนใจการใช้งานสมาร์ทโฟน(ที่พวกเขามองว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก) หันมาสนใจและริเริ่มใช้งานกันมากขึ้น
ซึ่งจุดนี้แหละที่เป็นเรื่องน่ายินดี ทั้งพี่ ป้า น้า อา ทั้งหลายจะได้ริเริ่มและได้ใช้ประโยชน์ผ่านการจ่ายเงินแบบไร้เงินสดอย่างเต็มใจไม่มีการบีบบังคับ ก็ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เงิน ..แค่นั้น
จึงเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังการมองเห็นประโยชน์ของการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลและการใช้งานสมาร์ทโฟน ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาชาวบ้านตาดำ ๆ ปฏิเสธในการใช้งานมาตลอดเพราะคิดเอาเองว่ามันยุ่งยาก เมื่อได้ลองใช้งานเองจริง ๆ แล้วมันสะดวกสบายมากเท่าไหร่ ซึ่งนี่แหละคือประโยชน์อันโดดเด่นที่พ่วงมาพร้อมกับโครงการ ชิมช้อปใช้
สรุปได้ว่าอันประโยชน์ของโครงการดังกล่าวนั้นหากมองในเชิงเสริมโครงสร้างให้กับสังคมจะเห็นได้ว่าคุ้มค่ากับการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ลองสัมผัสการใช้จ่ายที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับพวกเขามากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างทัศนคติในการใช้จ่ายที่สร้างรากฐานสำคัญในอนาคตข้างหน้า ซึ่งถือว่าเดินทาถูกทางแล้ว
ติดเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการจัดการปัญหาของทางภาครัฐ ที่ระบบยังอ่อนแอและรองรับการใช้งานได้ไม่ดีพอรวมถึงการจัดการปัญหาต่าง ๆ ของหน่วยงานย่อยยังมีความติดขัดในหลายแง่ ซึ่งถึงแม้การใช้จ่ายจะสะดวกแต่ติดกระบวนการที่ไม่สบายเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างอคติให้กับผู้คนได้ ถึงเมื่อไหร่ที่ผู้คนได้รับทั้งความสะดวกและสบายเมื่อนั้นแหละการเติบโตของการพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจและระบบใช้จ่ายจะดีขึ้นได้ไม่ยาก