ทำไม A.I. ถึงกลายเป็นศิลปินอย่างปิกัสโซได้ในวันนี้?

ทำไม A.I. ถึงกลายเป็นศิลปินอย่างปิกัสโซได้ในวันนี้?

ทำไม A.I. ถึงกลายเป็นศิลปินอย่างปิกัสโซได้ในวันนี้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย โสภณ ศุภมั่งมี

A.I. (Artificial Intelligence) กลายเป็นคำหนึ่งที่เราเห็นกันบ่อยมากตามสื่อและหน้าข่าวต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยความสามารถของตัวมันเองและการพัฒนาที่รวดเร็ว จึงทำให้สมองกลกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมที่เราอยู่ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง (อันที่จริงตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว) โดยเป็นตัวเร่งทำให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาให้เราได้เรียนรู้กันอยู่ตลอดเวลา

บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายอย่าง Alphabet, Amazon, Apple, Facebook หรือ Microsoft ต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีชิ้นนี้ โดยทุ่มงบประมาณมากมายเพื่อลงทุนสำหรับการเตรียมพร้อมในอนาคต แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่รู้ว่าใครจะกลายเป็นผู้นำเมื่อถึงปลายทางก็ตามที

เมื่อเราคิดถึง A.I. สิ่งที่ทุกคนจะจินตนาการก็คือการทดแทน ‘คน’ หรือ ‘งาน’ ที่ทำอะไรแบบซ้ำๆ ยกตัวอย่างเช่นแคชเชียร์คิดเงินในร้านสะดวกซื้อ (อย่าง Amazon Go) การตอบคำถามที่ค้นหาข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ตอย่าง Siri ที่บอกว่าวันนี้อากาศจะเป็นยังไง หรือแม้แต่อาชีพคนขับรถที่ต่อไปสมองกลจะมาทดแทนได้ (เช่น Tesla) ในช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ทั้งเรื่อง Facial Recognition, การเข้าใจบทสนทนาที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือแม้แต่การเขียนบทความที่เป็นข่าว สิ่งเหล่านี้ A.I. มีความสามารถพอที่จะทำได้เป็นอย่างดี และล่าสุดเราก็ได้เห็นบางอย่างที่มนุษย์ต่างเชื่อเหลือเกินว่ามันคือ ‘ความสามารถพิเศษ’ ที่มีในมนุษย์เพียงเท่านั้น อย่างเช่นการสร้างงานศิลปะ

ภาพ Portrait of Edmond de Belamy ที่วาดขึ้นโดย A.I. ในปี 2018 และ Pierre Fautel หนึ่งในกลุ่มศิลปินชาวปารีสนาม Obvious ผู้สร้างสรรค์ให้เกิดงานศิลปะครั้งนี้

ในแวดวงศิลปะ A.I. นั้นถูกฝึกให้เรียนรู้โดยการป้อนงานศิลปะที่อยู่บนโลกออนไลน์ จนกระทั่งสามารถแยกแยะสไตล์ของงานศิลปะและกระแสการขับเคลื่อนของศิลปะในแต่ละยุค โดยเมื่อเรียนรู้จนถึงจุดหนึ่งก็เริ่มมีความสามารถที่จะสร้างและระบายงานศิลปะในสไตล์ของตนเองออกมา

จึงกลายเป็นคำถามที่ว่า สมองกลสามารถลอกเลียนแบบความสามารถพิเศษของมนุษย์ได้จริงๆ เหรอ? A.I. กำลังนำเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของงานศิลปะหรือเปล่า?

จากข่าวการประมูลภาพวาด Portrait of Edmond de Belamy ที่ถูกสร้างโดยสมองกลที่ราคาสุดท้ายอยู่ที่ราวๆ 5 แสนเหรียญ (ราว 15 ล้านบาท) ในนิวยอร์กเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คำตอบคือ ‘ใช่’ หลายต่อหลายคนคิดว่านี่คืองานศิลปะในรูปแบบหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Rutgers University และนักวิจัย A.I. ของเฟซบุ๊กได้นำเสนอเทคโนโลยีชิ้นหนึ่งที่สามารถสร้าง ‘Creative Adversarial Networks’ เป็นสมองกลรูปแบบหนึ่งที่มีต้นแบบมาจาก ‘Generative Adversarial Networks’ (GANs) แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าสมองกลอันใหม่นั้นมีส่วนหนึ่งที่ทำให้มันมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเดิม

เอียน กูดเฟลโลว์ (Ian Goodfellow) คือนักวิจัยที่ทำให้โลกได้รู้จักกับ GANs ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในสายครีเอทีฟอย่างการเขียนนวนิยาย หรือการสร้างภาพวาดที่เหมือนจริง โดยเทคโนโลยีชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้การซ้อนทับกันหลายชั้นของอัลกอริทึม ชั้นหนึ่งสร้างไอเดียขึ้นมา ชั้นต่อไปก็เป็นคนตัดสินผลลัพธ์ ซึ่งระบบนี้จะวนลูปไปจนกว่าผลลัพธ์ที่น่าพอใจจะถูกผลิตออกมา โดยกูดเฟลโลว์ให้สัมภาษณ์กับ Wired ไว้ว่า “เราอาจจะคิดว่ามันคือศิลปินกับนักวิจารณ์ศิลปะ ส่วนที่สร้างก็พยายามหลอกนักวิจารณ์ให้คิดว่าภาพที่สร้างขึ้นมานั้นคือของจริง”

นักวิจัยที่ Rutgers นำ GANs มาเป็นพื้นฐานและปรับแต่งตัวนักวิจารณ์ให้เก่งขึ้นอีกเล็กน้อยโดยให้แบ่งแยกสไตล์ของงานศิลปะได้ ระบบที่สร้างงานศิลปะก็พยายามจะทำให้งานแต่ละชิ้นนั้นแบ่งแยกสไตล์ยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลายเป็นการทำให้ระบบที่สร้างงานนั้นต้องออกนอกกรอบและคิดแบบสร้างสรรค์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องพยายามหลอกฝั่งที่วิจารณ์ว่านี่คือภาพจริงๆ เพราะฉะนั้นงานที่ออกมาก็ยังมีความเป็นศิลปะที่เราคุ้นเคยกันอยู่

อาห์เหม็ด เอลกัมมัล (Ahmed Elgammal) ศาสตราจารย์ที่ Rutgers University บอกว่า “คุณต้องการบางอย่างที่สร้างสรรค์และโดดเด่น แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ไกลเกินไปจนทำให้สิ่งนั้นไร้ความสุนทรีย์”

ระบบอัลกอริทึมถูกฝึกด้วยเทคนิคนี้จากฐานข้อมูลกว่า 81,000 รูปจาก WikiArt ที่เป็นงานศิลปะตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 - 20

ในการทดลองนี้นักวิจัยยังทำการทดสอบต่อไปอีกถึงการตอบสนองของมนุษย์ต่องานศิลปะที่ถูกสร้างด้วยสมองกล สิ่งที่พบก็คือมนุษย์ไม่สามารถแยกออกได้เลยว่างานศิลปะชิ้นไหนถูกสร้างด้วยอัลกอริทึม หรือศิลปินที่เป็นมนุษย์ และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือว่า เมื่อผู้ชมงานศิลปะเหล่านั้นถูกถามถึงความหมายของงาน โครงสร้าง การสื่อสารของศิลปะ และแรงบันดาลใจที่ได้มาจากงานแต่ละชิ้น งานที่ถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กลับได้คะแนนสูงกว่างานที่ถูกสร้างโดยศิลปินที่เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำถามที่ว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่มีเพียงในมนุษย์จริงๆ เหรอ?”

การ์ธิก กัลยานารมัน (Karthik Kalyanaraman) หนึ่งในผู้ดูแลการจัดงานแสดงศิลปะ ‘Gradient/Descent’ ที่จัดขึ้นเมื่อกลางปีก่อนที่ประเทศอินเดีย เพื่อพยายามตอบคำถามว่า “ศิลปะจะเป็นยังไงในยุคหลังจากมนุษย์ (Post - Human Age)” เขาให้สัมภาษณ์ว่า “ศิลปินนั้นสร้างผลงานจากงานของคนอื่นที่เขาได้เห็นมา ถ้าพวกเขาไม่ทำแบบนั้น มันก็ไม่เกี่ยวเนื่องกันเลย และหากมองจากมุมที่มีเหตุผลจริงๆ ถ้าแมชชีนสามารถสร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ที่น่าสนใจและมีสไตล์ มันก็ดูงี่เง่าไปหน่อย ที่จะบอกว่ามันไม่สร้างสรรค์เพียงเพราะว่ามันไม่มีจิตใต้สำนึก”

มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าใครเป็น ‘ศิลปิน’ ในงานที่ถูกสร้างโดยคอมพิวเตอร์ บางคนอาจจะบอกว่าคนที่สร้างระบบนั้นขึ้นมา ขณะที่บางคนอาจจะบอกว่าสมองกล หรือบางคนก็บอกว่าทั้งคู่สร้างผลงานร่วมกัน

งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นโดยสมองกลนั้นสามารถกลายมาเป็นเครื่องมือให้กับศิลปินมากมาย รวมถึงผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ทั่วโลก เทคโนโลยีนี้สามารถยกระดับพรสวรรค์ของศิลปิน เหมือนเป็นผู้ช่วยที่คอยสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ (ที่จะไม่กินส่วนแบ่ง ถ้าเกิดงานขายได้) แต่เราสามารถเรียกมันว่างานศิลปะจริงๆ รึเปล่า?

สุดท้ายแล้วมันเป็นคำถามที่เราต้องเป็นคนตอบกับตัวเอง เพราะสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป คือความสามารถที่จะแยกแยะสิ่งที่ตัวเองชอบ มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองได้ ความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนกับความสวยงามที่เป็นเพียงนามธรรมที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และแต่ละวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ งานศิลปะนั้นถูกถ่ายทอดสืบต่อมาด้วยความหมายที่ต่างกัน มีการตีความแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกัน คอมพิวเตอร์หรืออัลกอริทึม แม้จะสามารถสร้างงานออกมาได้เหมือนกับมนุษย์มากแค่ไหน ก็ไม่ได้มีความรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบงานชิ้นนั้นเป็นการส่วนตัว ซึ่งหลายๆ คนใช้ตรงนั้นเป็นตัววัดงานศิลปะ

ศิลปะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสงวนไว้เพื่อมนุษยชาติเท่านั้น เป็นคุณลักษณะหนึ่งของเราที่เทคโนโลยีไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แต่ถ้ามองไปในอนาคตที่กำลังจะมาถึง เราต้องมองให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ได้มารุกราน หรือแทนที่ทั้งศิลปะหรือศิลปิน แต่จะมาช่วยทำให้เรานั้นปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ ช่วยเพิ่มแนวทางและให้ความเป็นอิสระในงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น

การจะปิดกั้นเทคโนโลยีเหล่านี้เพียงเพราะความกลัวคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย - ไม่ว่าปิกัสโซคนต่อไปจะเป็น A.I. หรือมนุษย์ หรือทั้งสองอย่างช่วยกัน ถ้าเราชอบงานชิ้นนั้น และบอกว่ามันเป็นศิลปะ… มันก็คือศิลปะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook