ทีมนักวิจัยพัฒนาขาหุ่นยนต์ เลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อมนุษย์
ขณะที่หุ่นยนต์ชนิดอื่นๆ ถูกตั้งโปรแกรมให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ ขาหุ่นยนต์ที่ทีมงานของมหาวิทยาลัยเเห่ง Southern California พัฒนาขึ้นนี้ทำงานแตกต่างออกไป
ศาสตราจารย์ฟรานซิสโก วัลเลอโร คูเอวาส อาจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัย USC กล่าวว่า ขาหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้เเตกต่างไปจากหุ่นยนต์ทั่วไปตรงที่ไม่ได้ถูกโปรแกรมให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ระบบการคิดคำนวณที่ใช้กับขาหุ่นยนต์ได้เเรงบันดาลใจจากระบบการเคลื่อนไหวเเละควบคุมกล้ามเนื้อของสิ่งมีชีวิต ขาหุ่นยนต์นี้มีเอ็นกล้ามเนื้อที่เหมือนกับเอ็นกล้ามเนื้อของสัตว์ ควบคุมโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ทำให้ขาหุ่นยนต์หัดเดินได้ภายใน 5 นาทีของช่วงเวลา "free play" ขาหุ่นยนต์ยังสามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวเเบบอื่นๆ ได้โดยไม่โปรแกรมคำสั่งเพิ่มเติม
อาลี มาร์เจนนันจาด นักศึกษาปริญญาเอกด้าน Biomedical Engineering ที่มหาวิทยาลัย USC บอกว่า ขาหุ่นยนต์ทำงานเหมือนทารกที่พยายามดึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เเละเรียนรู้ว่าจะเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างไรบ้าง เเละเรียนรู้ในการควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้น
หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการคิดคำนวณนี้สามารถรับการฝึกเหมือนกับการฝึกสุนัข โดยใช้เซ็นเซอร์เป็นตัวช่วย
ศาสตราจารย์ วัลเลโร คูเอวาส บอกว่า เมื่อขาหุ่นยนต์ผลักสาย the belt ไปข้างหลัง การหมุนที่ทำมุมต่างๆ จะส่งสัญญาณเป็นตัวเลขไปที่ระบบการคิดคำนวณที่ที่จะสื่อว่า ชอบ หรือ ถูกใจ แต่หากหุ่นยนต์เคลื่อนไปในทางตรงกันข้าม ระบบการคิดคำนวณที่ก็จะสื่อว่า ไม่ถูกใจ
ดาริโอ เออบีน่า เมลเลนเดส นักศึกษาปริญญาเอกด้าน Biomedical Engineering ที่มหาวิทยาลัย USC บอกว่า ทีมงานออกแบบขาหุ่นยนต์ก่อนที่จะพิมพ์ขาหุ่นยนต์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ การใช้งานอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้คือการช่วยเหลือคนที่มีความพิการทางกาย
ศาสตราจารย์ วัลเลโร คูเอวาส กล่าวว่า ขาหุ่นยนต์อาจจะเลียนเเบบความสามารถของผู้ใช้ หรืออาจเป็นตัวช่วยหากผู้ใช้ไม่มีเรี่ยวเเรงหรืออ่อนเเอเกินไป
ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือการใช้งานในอนาคตเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่วิกฤติ โดยขาหุ่นยนต์สามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ที่มีความลาดชันระดับต่างๆ ได้ เเละทีมนักวิจัยชี้ว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าขาหุ่นยนต์เรียนรู้ด้วยตัวเอง จะเข้าไปมีบทบาทในงานด้านการสำรวจอวกาศในอนาคต พวกเขาบอกว่าหุ่นยนต์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนี้ อาจจะพัฒนาออกมาใช้งานจริงๆ ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)