Facebook ตัดสินใจออกประกาศแจ้งผู้ใช้งาน หากใครโดน Cambridge Analytica ขโมยข้อมูลไป
หลังเป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนก่อน กับข่าวที่ว่า Facebook โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก ทำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานรั่วไหลไปยังบริษัทวิจัยข้อมูลชื่อCambridge Analytica (CA) (ซึ่งเป็นบริษัทที่ มีเป้าหมายในการนำข้อมูลไปใช้ในทางการเมืองและการเลือกตั้ง)
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง Facebook ก็ได้ออกมาแจ้งแล้วว่า วันที่ 9 เมษายนตั้งแต่เวลาเที่ยงเป็นต้นไป ผู้ใช้งาน Facebook จะได้ทราบว่า ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองถูกส่งไปยัง Cambridge Analytica หรือเปล่า โดยผู้ใช้จะได้รับแจ้ง หากข้อมูลของพวกเขาถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับเรื่องนี้ Facebook ได้ให้รายละเอียดไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์ของตัวเองว่า “วันที่ 9 เมษายน ผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ จะได้รับแจ้งไว้ตรงด้านบนสุดของหน้าฟีดข่าว ซึ่งประกาศแจ้งดังกล่าวจะระบุด้วยว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานถูกเก็บไปโดย Apps ใด และ Apps นั้นได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง
ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถลบ Apps นั้นได้หากไม่ต้องการ รวมถึงในกระบวนการนี้ ทาง Facebook จะแจ้งผู้ใช้งานด้วย หากว่า ข้อมูลของใครถูกส่งต่ออย่างผิดเงื่อนไขไปยังบริษัท Cambridge Analytica
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา Facebook ยังออกมาเปิดเผยข้อมูลอีกว่า ข่าวที่ว่าข้อมูลของผู้ใช้งานรั่วไหลไปราว 50 ล้านคนนั้น อันที่จริงแล้ว อาจมีข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลออกไปอย่างไม่ถูกต้องได้มากที่สุดถึง 87 ล้านคนเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัท Cambridge Analytica นี้ ได้เก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบัญชี แต่นำมาใช้โดยผ่านจาก Apps อีกตัวหนึ่งที่เจ้าของบัญชีเข้าไปใช้งาน ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปวางแผนแคมเปญเลือกตั้งให้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ลักษณะข้อมูลที่ Cambridge Analytica เก็บไปนั้น เป็นข้อมูลประเภท Psychographic คือ จิตวิทยากับประชากรศาสตร์รวมกัน (Psychology + Demographic) โดยใช้การเก็บแบบออนไลน์จาก Facebook เป็นหลัก ก่อนจะนำไปสร้างเป็นโปรไฟล์บุคลิกภาพของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยให้นักการเมืองสามารถทำแคมเปญการหาเสียงของตัวเองได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่นในปี 2016 ผู้จัดทำเคมเปญหาเสียงของทรัมป์ ก็ว่าจ้างบริษัทนี้เพื่อวางแผนและดำเนินการด้านกลยุทธ์ในช่องทางดิจิทัลให้ด้วย
สำหรับวันจันทร์ที่ผ่านมาหากผู้ใช้งานเข้าในหน้า Facebook จะได้เห็นลิงค์เขียนว่า ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณ (Protecting your information) ในหน้าฟีดข่าว พร้อมกับรายละเอียดที่แจ้งว่า ข้อมูลส่วนตัวของคุณถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และหากถูกนำไป มี Apps ใดเป็นสาเหตุ
มีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานอาจถูกขโมยข้อมูลจากการใช้แอพฯตอบคำถามหรือควิซ (แอพฯต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลครั้งนี้ก็คือแอพฯ ทำควิซจิตวิทยา ที่ชื่อว่า thisisyourdigitallife) ถึงคุณไม่ได้ใช้แอพฯนี้ แต่หากเพื่อนของคุณใช้ หรือแม้แต่เพื่อนของเพื่อนใช้ แล้วคนเหล่านั้นล็อคอินเข้าไป ข้อมูลส่วนตัวรวมถึงรายชื่อเพื่อน รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณก็อาจถูกดึงไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ในช่วงปีที่ผ่านมา Facebook ถูกโจมตีเป็นอย่างมาก ในข้อหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหลายประการ ไม่ว่าเป็นประเด็นเรื่องข่าวปลอม (Fake news) ที่กล่าวว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ การลบโปรไฟล์สาธารณะ การกระจายคำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งประเด็นดังกล่าวยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อข่าวของ Cambridge Analytica ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อเดือนก่อน จนนอกจากจะทำให้ Facebook หุ้นตกทันทีแล้ว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ยังต้องขึ้นกล่าวแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ในสัปดาห์นี้ว่า ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ของเขามีแผนรับผิดชอบและคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างไร