นวัตกรรมทางการเงินในอนาคต คลื่นเทคโนโลยีที่จะค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตเรา
เรื่องการเงินยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ด้านการเงินเริ่มต้นมากว่าร้อยปีแล้วสำหรับสยามประเทศ ถ้าให้ผู้อ่านลองเดากันดูว่าธนาคารที่เปิดให้บริการแห่งแรกในประเทศไทยชื่ออะไร (เฉลยตอนท้ายบทความ)
แต่นั่นก็เป็นเรื่องของ อดีตกาลที่ฝังรากหยั่งลึกลงไปในจิตใจของผู้คนทุกชนชั้น เมื่อเวลาอยากจะฝากเงิน ถอนเงิน หรือโอนเงิน ก็ต้องเดินทางไปแบงก์ ต้องการทำธุรกรรมอะไรแต่ละทีต้องมานั่งคอยลุ้นรอคิวว่าจะมีใครที่มาตรงเวลากับเราหรือไม่ เก็บสมุดบัญชีกันเป็นสิบยี่สิบเล่มจนกระทั่งเริ่มมีบัตรพลาสติกเข้ามาให้บริการ ความสะดวกสบายก็เพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันจะอยู่ที่ไหนเพียงแค่มีมือถือก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกทันใจ เราจะยังคงอยู่ในยุคก้ำกึ่งนี้กันไปอีกสักพัก ก่อนที่เวลาจะนำพายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ
อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างสำหรับการเข้ามาของนวัตกรรมทางการเงิน อันดับแรกคือสกุลเงินจะไม่จำกัดอยู่แค่เจ้าใหญ่ แต่จะมีให้เลือกซื้อหามาใช้มากมายจนเกิดอิสระ เพราะสกุลเงินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ด้วยกฎหมายของที่ใดในโลก หรือหากมีกฎหมายรองรับก็อาจตรวจสอบลำบาก เพราะเพียงแค่มีเซิร์ฟเวอร์ จะตั้งสกุลเงินอะไรมาก็ย่อมทำได้ ส่วนที่เหลือก็เพียงแค่ทำให้ผู้คนยอมรับในเงินสกุลนี้ ทุกอย่างก็จะเข้าสู่วงจรทางการเงินไปโดยปริยาย เมื่อสามารถตั้งเงินสกุลใหม่ขึ้นมาได้ การทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ฝาก ถอน เติม โอน จ่าย หรือเปิดบัญชี จะถูกให้บริการ ณ ที่ใดหรือเวลาใดก็ได้ ที่สำคัญขอแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
นวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่ปัจจุบันมีหลายร้อยสกุลเกือบทั้งหมดนั้นมีอัลกอริทึมผู้ที่อยู่เบื้องหลังนาม บล็อคเชน กล่าวคือ มันจะย้ายข้อมูลธุรกรรมทุกอย่างไปเก็บไว้ในเครื่องลูกค้า และเมื่อลูกค้ามีการทำธุรกรรมใดเกิดขึ้น มันก็จะดึงข้อมูลของทุกคนมาทำการเปรียบเทียบเพื่ออนุมัติการทำรายการ นับว่าเป็นวิธีคิดที่ฉลาดแยบยลของผู้สร้างระบบนี้ขึ้นมา เพราะเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือระดับหนึ่ง แต่ช่องโหว่และจุดอ่อนก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
บล็อคเชน นับเป็นคลื่นนวัตกรรมทางการเงินระลอกเล็ก ๆ แต่ต่อไปเมื่อคอมพิวเตอร์หลุดออกจากยุคตัวเลขชุด 64bit หน้าจอแบบหลอดไฟ และการขนส่งในรูปแบบเดิม เมื่อนั้นพลังในการประมวลผลจะเพิ่มขึ้นมหาศาล สมการคณิตศาสตร์ที่มีข้อจำกัดอยู่กับการประมวลผลบนคอมพิวเตอร์แบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันจะถูกทลายลง เมื่อนั้นมนุษย์จะได้พบเจอกับเจ้าบล็อคเชนอีกเป็นร้อยเวอร์ชัน แต่ถ้าจะให้ฟันธงผู้เขียนขอทำนายว่าจะเกิดอัลกอริทึมแบบใหม่ตามมาอีกมากมาย เพื่อเข้ามาตอบสนองความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของตัวเรา
ธนาคารพาณิชย์จะถูกลดทอนบทบาทลง ผู้เขียนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะควบรวมหรือคงไว้แต่เจ้าใหญ่เพื่อตอบสนองภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ ก็คงเป็นปัญหาเช่นเดียวกับการศึกษาที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะทยอยปิดตัวลง ก็จะไม่ให้ปิดได้อย่างไร ในเมื่อเรียนที่ไหนก็ได้ พอไม่มีลูกค้ามาเรียนก็ไม่มีสภาพคล่อง เมื่อขาดสภาพคล่อง ธุรกิจก็เดินต่อไปไม่ได้ ต้องแยกย้ายปิดกิจการ ธนาคารก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเอาเงินมาฝาก เพราะทุกคนต่างไปถือเงินดิจิทัลกันหมด อีกทั้งระบบปัจจัยพื้นฐานและสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตก็ยังส่งเสริมการเติบโตของสกุลเงินนี้ด้วยความพร้อมใจรับการใช้จ่ายจากลูกค้าด้วยเงินดิจิทัล เรายังจำเป็นที่ต้องมีธนาคารต่อไปอีกหรือไม่ ก็ยังคงเป็นคำถามที่อยากเห็นคำตอบในเร็ววัน
สัญญาณเตือนที่จะเป็นตัวบอกว่า เรากำลังเข้าใกล้ยุคนวัตกรรมทางการเงินเต็มรูปแบบแล้วก็คือ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา เช่น การรับ-จ่ายเงินเดือนขององค์กรต่าง ๆ การซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์, ยานพาหนะ การจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดหากถูกกระทำบนสกุลเงินดิจิทัล นั่นหมายความว่าเราน่าจะพร้อมแล้วสำหรับการก้าวไปสู่ยุคแห่งนวัตกรรมทางการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบ
สุดท้ายเทคโนโลยีจะล้ำสมัยไปอย่างไรก็ตาม โปรดพึงระลึกไว้เสมอว่า มิจฉาชีพก็ย่อมมีเครื่องมืออันทรงพลังไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ท่านจะยังคงได้รับข่าวสารเรื่องของการแฮกระบบรักษาความปลอดภัยกันต่อเนื่องไม่มีวันจบบนโลกแห่งเทคโนโลยีนี้ หากนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ ก็ย่อมนำออกได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
เฉลยคำตอบคือ ธนาคาร HSBC (Hongkong and Shanghai Banking Corporation) เข้ามาก่อตั้งและเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2431 มีสำนักงานแห่งแรกที่ถนนเจิรญกรุงอยู่ตรงสถานกงสุลเบลเยี่ยมเก่า ส่วน SCB (Siam Commercial Bank) หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารแห่งแรกของคนไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449