โทษของคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนโลว์เทค (บทเรียนจากโปรเจ็กเตอร์)
ขอมอบบทความนี้ให้ทุกคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคน ‘โลว์เทค’ ครับ /// บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมออกไปประชุมที่สำนักงานหรูแห่งหนึ่งใจกลางเมือง คุณลูกค้าของผมท่านหนึ่ง (ขอตั้งชื่อเล่นว่าคุณธนากรก็แล้วกันนะครับ) คุณธนากรอยากเล่าประวัติของแบรนด์ให้พวกเราฟังมากๆ ก็เลยพยายามเปิดเครื่องโปรเจ็กเตอร์
แต่โปรเจ็กเตอร์เจ้ากรรม ต่อเท่าไหร่ก็ไม่ติด เพราะมันเป็นรุ่นเทคโนโลยีใหม่ไร้สาย (คือปกติเวลาไปออฟฟิศต่างๆ เครื่องโปรเจ็กเตอร์มันจะต่อผ่านสายเคเบิลซึ่งทั่วๆ ไปมันก็มีอยู่แค่ 2 แบบ คือไม่หัว VGA ก็ HDMI แต่ออฟฟิศนี้เขาเจ๋งมาก เขาต่อโปรเจ็กเตอร์แบบไร้สายครับ แค่พนักงานอาจจะยังไม่คุ้นเคยเท่านั้นเอง) กว่าจะช่วยกันต่อได้เสร็จก็ปาเข้าไปเกือบ 20 นาที แล้วคุณธนากรก็เลยพูดติดตลกว่า “โทษทีนะครับ ผมมันเป็นพวกโลว์เทคฯ” ฟังตอนแรกผมไม่คิดอะไรครับ แต่คิดๆ ไป เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องน่ากลัวต่อตัวเรามากกว่าที่คิด
เรื่องที่เล่ามาข้างบนอาจจะดูไม่เป็นเรื่อง ไม่เป็นประเด็นอะไรเพราะเวลาใครๆ ทำอะไรเปิ่นๆ เพราะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีก็มักจะมีคำพูดแก้เขินแบบน่ารักๆ อย่างนี้อยู่แล้ว
แต่สำหรับผมนี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาครับ
เพราะเวลาเรา ‘คิด’ ว่าเรา ‘โลว์เทค’ ภายในใจของเราจะพาลคิดต่อไปว่า
- “อ๋อ ไม่เป็นไรหรอกที่เราใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยดี เพราะเราวางตัวและออกตัวไปแล้วนี่ว่าเราเป็นพวกโลว์เทค และเราก็สมควรจะได้รับการให้อภัยเพราะเราไม่ใช่คนที่เก่งเรื่องนี้ ทำพลาดก็ไม่มีใครว่าอะไร ดังนั้นถ้าฉันไม่ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ หรือไม่ได้ปรับตัวกับเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นประจำ เราก็จะไม่ถูกใครว่า ไม่ถูกใครประณามอะไร”
- ก็ในเมื่อเรา address กับตัวเราแล้วว่าเรา ‘โลว์เทค’ ก็ปล่อยให้คน ‘ไฮเทค’ เขาทำไปเอาเวลาไปทำอะไรโลว์เทคของเราต่อดีกว่า
- เรื่อง ‘ไฮเทค’ มันเป็นอะไรที่ยังไม่แน่นอน เปลี่ยนอยู่เรื่อย เดี๋ยวมันก็คน ‘ไฮเทค’ มาเล่าให้เราฟังใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เราอยู่เฉยๆ ดีกว่า
เพื่อนๆ thumbsupers อาจจะบอกว่าผมเป็นพวกคิดมากก็ได้ครับ แต่ประเด็นนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องโปรเจ็กเตอร์นะครับ แต่มันคือทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกันกับ Mindset การเปิดรับสิ่งใหม่ โดยเฉพาะในวันที่โลกการตลาด การประชาสัมพันธ์หมุนไวมาก ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีของการสื่อสารแบบถอนรากถอนโคนแบบวันนี้
ยกตัวอย่างง่ายๆ
Facebook ลด Reach
พอ Facebook ออกมาบอกว่าจะปรับอัลกอริทึมให้อิงกับเพื่อน และครอบครัวมากขึ้น แต่จะลดการเข้าถึงของแบรนด์ และเพจต่างๆ ถ้าหากว่าเราคิดว่าเรา ‘ไฮเทค’ พอ เราจะคิดว่าอย่างน้อยเราต้องทำความเข้าใจแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังอัลกอริทึมใหม่นี้ซะ แล้วทำตัวเป็นนายของเทคโนโลยี เราต้องเป็นคนที่ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ user และพยายามเข้าใจว่าความตั้งใจของ Social Platform นี้คืออะไร แล้วทำการตลาด การประชาสัมพันธ์ในแบบที่สอดคล้องกับทิศทางของ Social Platform นั้นซะ หรือลองเอาธุรกิจของเราไปสื่อสารกับช่องทางทางเลือกอื่นๆ อย่าง Twitter, Pinterest, LinkedIn
AI, VR, AR มาแล้ว
ตอนนี้มี Buzzword เยอะมากครับ เดี๋ยวคนก็พูดถึง AI, VR, AR ถ้าคนที่มีแนวคิด ‘โลว์เทค’ จะคิดว่า “อ๋อ พวกนี้มันเป็นคำที่เขาพูดๆ กันอยู่ในแวดวงคนไฮเทค เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันหรอก เดี๋ยวก็จะมีคนบอกเราเองว่าต้องทำอย่างไรกับมัน” แต่ในขณะเดียวกันคนที่มี Mindset แบบเปิดรับของใหม่ก็จะคิดว่า “เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าไอ้ AI, VR, AR มันทำอะไรได้ แต่วันนี้เราจะลองไปซื้อ Gear VR มาลองเล่นดู” แล้วปรากฏว่าพอลองเล่นเกม VR ไปสักพักก็รู้แล้วว่า จริงๆ แล้วไอ้ของเล่นแบบ VR นี่มันเอามาทำอะไรในการสื่อสารแบรนด์ได้เพียบเลย เช่น
สร้างห้องตัวอย่างคอนโดในโลกเสมือน โดยไม่ต้องสร้างห้องจริง
สามารถวาดภาพให้ลูกค้าเห็นได้ว่าเราจะใช้กระเบื้องปูพื้นลายใหม่แบบไหนดี โดยไม่ต้องปูพื้นจริงๆ
แนวคิดโทษตัวเองว่า ‘โลว์เทค’ จึงเป็นแนวคิดที่อันตราย เพราะมันจะลดความอยากในการเรียนรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่เพียงเพราะเราจะเริ่มคิดว่าเดี๋ยวจะมีซูเปอร์แมนมาช่วยเสมอ เราจะเป็นเพียง User และเริ่มไม่อยากทดลองเรียนรู้ ลงมือทำ และเป็นนายของเทคโนโลยี
เริ่มด้วยการหยุดโทษตัวเองว่าเราโลว์เทค แต่คิดซะว่าเทคโนโลยีใครๆ ก็ใช้มันได้ เป็นนายมันได้ ถ้าเรากล้าจะใช้มัน เราจะได้รับประโยชน์จากมันมากกว่าจะต้านมัน
หรือคุณว่าไม่จริง?