ข้อมูลเป็นพิษ โรคร้ายในยุคออนไลน์ แอบทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว
สิ่งที่เราบริโภคเข้าไปสู่ร่างกาย ส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิต ข้อมูลที่เราบริโภคเข้าสู่สมองก็เช่นกัน หากเลือกและกลั่นกรองไม่ดี สมองอาจจะมีอาการ “ข้อมูลเป็นพิษ” ได้
จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับข้อมูลอันเป็นเท็จ เว็บปลอม และผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงทั้งหลาย ทำให้รู้ดีว่า การบริโภคข้อมูลอย่างไม่คัดสรรกลั่นกรองให้เหมาะสม ในขณะที่ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลไม่เพียงพอที่จะต้านทานได้ จะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้จะเป็นอาการหรือผลกระทบทางดิจิทัล แต่หลายครั้งโลกของข้อมูลข่าวสารอันฉับไวภายใต้เทคโนโลยีนี้ ก็ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบในระดับจิตใจส่วนลึก หรือจิตใต้สำนึกแบบถาวรได้เหมือนกัน
เคยได้ยินเรื่อง Cyber Bullying หรือการกลั่นแกล้งล้อเลียนบนออนไลน์ ใช่ไหมครับ ? เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงหลัก ๆ จนประเทศที่เสรีอย่างสหรัฐอเมริกา มีบางรัฐถึงขั้นต้องออกกฎหมายมาควบคุมแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวแบบนี้ในโรงเรียน ด้วยการสั่งให้นักเรียนทุกคนให้สิทธิในการเข้าใช้โซเชียลของตนเองแก่ครู จนทำให้มีหลายคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย
เพราะผลจากข้อมูลข่าวสารที่เป็นพิษนี้ ทำให้หลายคนตกอยู่ในอาการซึมเศร้าอาจจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย เคยลองเทียบกันไหมครับว่า การที่คนหนึ่งเดินมาชมเราสักหนึ่งครั้ง กับการที่คนกดไลค์ให้เราหนึ่งครั้ง ความรู้สึกเราต่างกันขนาดไหน บางคนถูกตำหนิมากแค่ไหนไม่เคยสนใจ แต่พอมีคนคอมเมนต์ต่อว่าแค่โพสต์เดียวเท่านั้น ทำเอาคิดมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ตัวอย่างเหล่านั้นคือเรื่องเก่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะเจอหรือเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาจากข้อมูลเป็นพิษกำลังก้าวไปสู่อีกขั้น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูลเท็จ” หรือ “ข่าวปลอม” ทั้งหลาย ลำพังข้อมูลเท็จ หรือข่าวปลอมที่ส่งต่อลือกันไปกันมานั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันมีที่ทางอยู่ในโลกนี้มาตั้งแต่ยุคกระดาษ จนถึงอีเมล แต่เมื่อมันก้าวสู่โลกโซเชียลในปัจจุบัน เทียบได้เหมือนกับเจอตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาทางข้อมูลข่าวสารที่รุนแรงขึ้น ทั้งเร็วขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้างยิ่งขึ้น
ความเสียหายจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีตั้งแต่การเสียเวลา เสียเพื่อน เสียหน้า เสียทรัพย์ จนถึงเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันรับมือกับปัญหาเหล่านี้
Facebook ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ในการกระจายข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ออกมายอมรับถึงความรุนแรงและผลกระทบที่ทำให้ข่าวสารบนออนไลน์เชื่อถือได้น้อยลง จึงเป็นที่มาของมาตรการใหม่ของ Facebook เพื่อขจัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบน News Feed พร้อมกับออกไกด์ไลน์สำหรับผู้ผลิตเนื้อหา เพื่อเป็นหลักในการผลิตเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อผู้ใช้ 3 ข้อ คือ
1. เนื้อหาต้องสำคัญและมีความหมาย สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาที่หมายถึงต้องเข้าใจความต้องการของผู้ชมและเนื้อหาแสดงผลได้อย่างรวดเร็ว
2. เนื้อหามีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาหมายถึงต้องหลีกเลี่ยงการทำยอดคลิกโดยพยายามปิดบังเนื้อหาในส่วนพาดหัวหรือสร้างเนื้อหาที่เกินจริง
3. เนื้อหาต้องปลอดภัยและเหมาะสม สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาหมายถึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง เนื้อหาแสดงถ้อยคำความเกลียดชัง หรืออื่น ๆ ที่อาจจะละเมิดมาตรฐานสังคมเฟซบุ๊ก
โรคข้อมูลเป็นพิษ คืออีกโรคที่น่าห่วง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารฉับไวและกว้างไกล อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ควรจะต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนที่จะ “เชื่อ” และ “แชร์” และ #ชัวร์ก่อนแชร์นะครับ
เรียบเรียงโดย @YOWARE