[Startup] เกิดแล้ว dead lock ของฟินเทคและพร็อพเทค สตาร์ทอัพไทยต้องอ่าน

[Startup] เกิดแล้ว dead lock ของฟินเทคและพร็อพเทค สตาร์ทอัพไทยต้องอ่าน

[Startup] เกิดแล้ว dead lock ของฟินเทคและพร็อพเทค สตาร์ทอัพไทยต้องอ่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตาร์ทอัพสองกลุ่มคือ ฟินเทค และพร็อพเทค ในบ้านเรากำลังเจอปัญหาที่กลายเป็นเดดล็อค ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง อิรุงตุงนัง จนกลายเป็นการทำลายวงการในระยะยาวกันเลยทีเดียว

เมื่อปีที่แล้ว  2 กลุ่มสตาร์ทอัพเริ่มมีเวนเจอร์แคปปิตัล หรือกลุ่มนักลงทุนเปิดตัวกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะสายธนาคาร หรือสายแบงค์ ถือเป็นปีที่แบรนด์ใหญ่แทบจะทุกรายต้องมีไว้ในมือ ขณะเดียวกันสายพร็อพเทค หรือเทคโนโลยีทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็มีขาใหญ่เข้ามาเปิดมากมาย ต่างคนต่างออกสื่อว่าพร้อมจะลงทุนสุดตัว อ่านแล้วสบายใจมาก ความคาดหวังว่าเงินก้อนมหาศาลจะเข้ามาปลุกกระแสสตาร์ทอัพทั้งสองสายคงจะทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย

แต่หลังจากผ่านไปสองปี การลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพทั้งสอง ถือได้ว่าลุ่มๆ ดอนๆ การลงทุนผ่านไปอย่างล่าช้า ดีลการลงทุนแต่ละครั้งใช้เวลานานเกินกว่าที่คิด อาจเป็นเพราะนักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ยังไม่คุ้นเคย และนักลงทุนส่วนใหญ่ในบ้านเรายังอนุรักษ์นิยม และพยายามเลือกรายที่ทำกำไร

แต่ความช้า ความคิดอนุรักษ์นิยม อาจจะยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่กำลังทำให้ระบบสตาร์ทอัพทั้งสองกลุ่มในบ้านเราเจ๊งก็คือ วีซีที่ลงทุนมีค่ายธุรกิจที่ชัดเจน

www.istockphoto.com

ยกตัวอย่าง ฟิโนมิน่า ซึ่งเป็นฟินเทคอนาคตไกล กว่าจะได้ทุนซีรียส์เอ ก็ยากเย็น เพราะมีวีซีจากแบงค์กรุงศรีฯ ตามจีบอยู่เนิ่นนาน ความช้าและเงินทุนไม่มีผล แต่ทันทีที่ฟิโนมิน่าเข้าซีรียส์เอกับวีซีของกรุงศรีฯ ทำให้โอกาสระดมทุนรอบต่อไปเริ่มยากขึ้นมาทันที เพราะในเมืองไทยคงไม่มีแบงค์ไหนกล้าเอาวีซีของตัวเองเข้ามาลงทุนในซีรียส์ต่อไปอย่างแน่นอน มันติดความเป็นค่าย มันติดการที่ต้องมาทำอะไรร่วมกัน หรือการแบ่งปันความลับทางธุรกิจระหว่างกัน ดังนั้น หากฟิโนมิน่า จะได้ซีรียส์บี ก็ต้องได้จากกรุงศรีฯ ต่อไป หรือไม่ก็ต้องหาวีซีจากเมืองนอก ซึ่งก็ไม่ใช่แนวทางของฟิโนมิน่าเลย ดังนั้นค่ายแบงค์ก็เข้ามาหยุดการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพรายนี้ไปโดยปริยาย

อีกตัวอย่าง ฟิกซี่ ซึ่งเป็นพรอพเทคทางด้านงานช่าง จัดหาช่างมาดูแลบ้านในทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นซ่อมบ้าน ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ได้เงินทุนจากกลุ่มเอไอเอส และสายอสังหาริมทรัพย์จากในกลุ่ม ทำให้โอกาสได้งานจากกลุ่มพันธมิตรมีสูงมาก แต่ก็ตัดทางในการได้ทุนจากวีซีในสายอสังหาริมทรัพย์คู่แข่ง โดยเฉพาะช่วงหลังค่ายอสังหาริมทรัพย์ออกวีซีเยอะ และกลายเป็นเงื่อนไขว่าถ้าวีซีสายนี้ลงทุนกับสตาร์ทอัพให้แล้ว สายอื่นจะไม่ลงทุน และไม่สนับสนุนลูกค้าให้

จากสองตัวอย่างนี้มันทำให้ธรรมชาติของการลงทุนในสตาร์ทอัพมันผิดธรรมชาติไป จะว่าไปแล้วในสายการลงทุนนั้นบรรดาบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพมักจะเข้ามาตอนที่ซีรียส์บี หรือตอนที่ธุรกิจเริ่มเลี้ยงตัวเองรอด เริ่มทำกำไรอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ใช่ซีรียส์เอที่ยังลูกผีลูกคน ยังต้องการสร้างลูกค้าและพิสูจน์โมเดลธุรกิจของตัวเอง

เมื่อบรรดาวีซีทั้งสายฟินเทคและพร็อพเทคของไทย ออกอาการใจร้อน เลือกลงทุนตั้งแต่พรีซีรียส์เอ และซีรียส์เอ ก็ทำให้เกิดการลงทุนที่ผิดฝาผิดตัว ลงทุนก่อนเวลาอันควร ทำให้สตาร์ทอัพที่ตนเองลงนั้นเดินหน้าต่อไปไม่ได้ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมในระยะยาว

จริงๆ ก็เข้าใจบรรดาวีซีพวกนี้นะครับ เพราะจะว่าไปแล้วสตาร์ทอัพบ้านเราจะมีรายที่เก่งกาจฝ่าฟันมาจนพ้นจากซีรียส์เอแล้วก้าวไปซีรียส์บีนี่ถือว่าแทบจะไม่มีเลย เพราะมันยังเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเราอย่างมาก ดังนั้นถ้าจะลงทุนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องไปลงพรีซีเรียส์เอ หรือซีรียส์เอ เหมือนที่ตอนนี้หลายวีซีทำกัน

อีกทั้งวงเงินที่ลงทุนในซีรียส์บีนั้นมากกว่าซีรียส์เอถือว่ามากมายเอาเรื่อง ถ้าวีซีสายแบงค์ กับพร้อพเพอร์ตี้ในเมืองไทยวันนี้คงไม่มีใครหัวก้าวหน้าพอที่จะควักเงินลงทุนมากมายขนาดนั้น ถ้าจะทำก็ต้องมีเป้าหมาย exit หรือออกจากกิจการด้วยการซื้อสตาร์ทอัพรายนั้นเอาไว้แล้วนั่นเอง

ปัญหาตอนนี้คือ สตราร์ทอัพทั้งสองกลุ่มถือว่าใจร้อนแบบไม่มีประสบการณ์ นั่นคือ มองว่าการได้วีซีมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของตัวเอง เพราะได้ทั้งเงินที่กำลังต้องการมาบริหารให้ธุรกิจของตนเองพ้นจากหุบเหวของวงจรสตาร์ทอัพให้ได้ และยังได้ภาพเสริมจากวีซีที่ลงทุน โดยไม่ได้คิดว่าแล้วในซีรียส์ต่อไปตัวเองจะทำอย่างไร เรียกว่า หยิบเบี้ยใกล้มือไว้ก่อน เรื่องอื่นข้างหน้าค่อยว่ากัน

ดังนั้นสตาร์ทอัพรายที่ตามหลังได้เห็นประสบการณ์จากกองหน้า หัวหมู่ทะลวงฟัน ครั้งนี้แล้วควรคิดให้หนักเวลาเลือกกลุ่มวีซีที่จะเข้ามาถือ ว่าจะส่งผลดีและผลเสียในระยะยาวของตัวเองอย่างไร แม้วีซีจะต้องการเพียงลงเงินอย่างเดียวไม่มีผลต่อการบริหารงาน แต่ภาพลักษณ์และการบริหารงานหลังถือหุ้นแล้วมันไม่อาจปล่อยให้คุณเป็นตัวของคุณเองได้ ได้เงินเค้ามาแต่ก็ต้องแบกชื่อค่ายค่ายนั้นติดตัวไปด้วยแบบจะถอนตัวก็ไม่ได้ ก็คืิดให้ดีว่ามันจะดีหรือเสีย

ถ้าคิดดีแล้วจะให้วีซีลงทุนก็เชิญ แต่บอกได้เลยว่า ตอนจีบกันอะไรก็หวานไปหมด แต่พออยู่ด้วยกันแล้วต้องมาหวานอมขมกลืนนั้น มันออกจะสุดทนจริงๆ ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook