เตรียมรับ 2 ความท้าทายในยุค QR Code มาตรฐาน

เตรียมรับ 2 ความท้าทายในยุค QR Code มาตรฐาน

เตรียมรับ 2 ความท้าทายในยุค QR Code มาตรฐาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงที่ผ่านมานี้มีความเคลื่อนไหวจากฝั่งของสถาบันการเงินออกมามากมาย โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ยุคแห่งสังคมไร้เงินสดอย่างการใช้งาน QR Code มาตรฐานที่คาดว่าจะออกจาก Sandbox ในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี ในความเคลื่อนไหวนั้น เราสังเกตเห็นว่ายังมีความท้าทายบางอย่างที่รออยู่ในสังคมไร้เงินสดเช่นกัน จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านประเด็นดังต่อไปนี้ค่ะ

อินเทอร์เฟสที่แตกต่างกัน เป็นจุดอ่อน หรือจุดแข็ง?

เรามี QR Code มาตรฐานที่ช่วยให้การชำระเงินเกิดได้ง่ายขึ้นแล้วก็จริง แต่ถ้าให้เปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อจะจ่ายชำระค่าสินค้า หรือทำธุรกรรมอื่นใดที่ในแอปพลิเคชันให้บริการแล้วคงต้องบอกว่า มันยังสับสนไม่ใช่น้อย

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะเชื่อว่าหลายคนมีบัญชีเงินฝากธนาคารหลายแห่ง ซึ่งการมีหลายแห่งนั้น ทำให้ต้องโหลดแอปพลิเคชันหลายตัวเพื่อใช้งาน ผลก็คือ แอปพลิเคชันบางตัวต้องป้อนพาสเวิร์ดก่อน ถึงจะเข้าไปในระบบได้ จากนั้นจะโอน จ่าย ถอน ก็ทำได้ตามสะดวก ขณะที่แอปพลิเคชันบางตัวผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปดูข้อมูล ยอดบัญชีเงินฝาก ฯลฯ ได้เลย แล้วเมื่อไรที่จะโอน จ่าย ถอน จึงค่อยป้อนพาสเวิร์ด

เรื่องของสัญลักษณ์ (ไอคอน) ที่แตกต่างกันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ หลายธนาคารทำได้ดี ด้วยการใช้ชื่อสั้น ๆ เช่น กองทุนรวม เติมเงิน หรือใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าปุ่มนี้ทำหน้าที่อะไร แต่หลายแอปพลิเคชันก็ไม่ได้เลือกทำเช่นนั้น โดยมีการใช้คำยาว ๆ หรือใช้คำเฉพาะที่ทำให้เกิดความสับสนได้ง่ายปรากฏให้เห็นเช่นกัน

ในจุดนี้ น่าเสียดายที่ธนาคารไม่ได้มองว่า การมีมาตรฐานกลางของอินเทอร์เฟสบนแอปพลิเคชันทางการเงินจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้มีคนหันมาใช้งานแอปพลิเคชันกันมากขึ้น หลาย ๆ ธนาคารยังมองว่าอินเทอร์เฟสที่แตกต่างกันนี้จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดการแข่งขันด้วย

การออกแบบประสบการณ์ในร้านค้าที่มี QR Code เป็นเรื่องน่าสนใจ

ในกรณีที่เป็นร้านค้าบนโลกออฟไลน์ ถ้าลูกค้าเข้าคิวจ่ายเงินเป็นระเบียบเรียบร้อย การรับชำระด้วย QR Code มาตรฐานอาจช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ขาย แต่ถ้าลูกค้าไม่ได้เข้าคิว ก็เป็นไปได้ว่าทางร้านค้าอาจจะงานเข้าแทน เพราะเท่าที่ได้สัมผัสมา มีบางกรณีเช่นกันที่ทางร้านไม่ได้ออกแบบประสบการณ์เอาไว้อย่างเหมาะสม เช่น สแกน QR Code ในจุดหนึ่งแล้วไปรับสินค้าอีกจุดหนึ่ง ผลก็คือเกิดการหยิบผิด หยิบเกิน คนที่จ่ายเงินอาจไม่ได้สินค้าของตัวเอง เพราะถูกคนก่อนหน้าหยิบติดไปด้วยแล้ว  ซึ่งในจุดนี้ก็เป็นกรณีที่ร้านค้าต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งหมดนี้ เชื่อว่าคนในแวดวงธนาคารก็กำลังเดิมพันกันอยู่ว่า ถ้าหาก QR Code มาตรฐานสามารถยึดหัวหาดของรูปแบบการชำระเงินในบ้านเราได้ ก็จะมีผลต่อคู่แข่งจากภายนอกประเทศที่มีรูปแบบการชำระเงินแบบอื่น ๆ ให้ได้เข้ามายากมากขึ้นด้วยเช่นกัน จุดนี้จึงอาจเป็นสิ่งที่ธนาคารหลาย ๆ แห่งในบ้านเราพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อลดการรุกคืบของผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของธนาคารนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook