รีวิว Nikkor 8-15 mm เลนส์ Fisheye รุ่นล่าสุดของ Nikon

รีวิว Nikkor 8-15 mm เลนส์ Fisheye รุ่นล่าสุดของ Nikon

รีวิว Nikkor 8-15 mm เลนส์ Fisheye รุ่นล่าสุดของ Nikon
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลนส์ตาปลาหรือเลนส์ Fish eye นั้นเป็นหนึ่งในเลนส์ในฝันของใครหลายๆ คนนะครับ เพราะถ่ายได้ภาพ 180 องศาตรงหน้าในมุมมองภาพที่แปลกตาสุดๆ แต่ด้วยความที่ลักษณะการใช้งานค่อนข้างเฉพาะ ไม่เหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ และเลนส์มีราคาสูง ทำให้เราไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เลนส์แบบนี้กัน วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ Nikon ประเทศไทยส่งเลนส์ Nikon AF-S Fisheye Nikkor 8-15mm F3.5-4.5E ED มาให้ทีมงานเว็บแบไต๋ได้ทดลอง ทำความรู้จักกับเลนส์ตาปลากัน

อ่านรายละเอียดจากชื่อรุ่นเลนส์

ชื่อเต็มของเลนส์ตัวนี้คือ Nikon AF-S Fisheye Nikkor 8-15mm F3.5-4.5E ED ซึ่งมีความหมายดังนี้ครับ

AF-S เลนส์ที่มีมอเตอร์ในตัวแบบ Silent Wave โฟกัสเร็วและเงียบ Fisheye เลนส์ตาปลา ให้ภาพลักษณะวงกลมครอบคลุม 180 องศาตรงหน้า E (Electronic diaphragm) รูรับแสงควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ใช้ได้กับกล้อง Nikon ที่ออกหลังปี 2007 เท่านั้น ED (Extra-low Dispersion) ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษเพื่อลดความคลาดของสี N (Nano Crystal Coat) กระบวนการเคลือบผิวเลนส์พิเศษ ลดแสง Flare การออกแบบเลนส์ Nikon AF-S 8-15 mm F3.5-4.5

จุดสะดุดตาอย่างแรกของ Nikon AF-S 8-15 mm F3.5-4.5 คือหน้าเลนส์ที่ป่องออกมา รู้สึกน่าสัมผัสเป็นอย่างยิ่ง เย้ย! ก็เป็นธรรมชาติของเลนส์ fisheye ครับที่ชื้นเลนส์จะยื่นออกมาแบบนี้ ไม่งั้นก็เก็บภาพ 180 องศาไม่ได้หรอก ถือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในการใช้เลนส์ตัวนี้ครับ ต้องมีสติตลอดการใช้งาน มันไม่สามารถใส่ฟิลเตอร์ป้องกันหน้าเลนส์ใดๆ ได้ ใส่ฮูดระหว่างถ่ายที่ 8 mm ก็ไม่ได้ ถ้าทำกล้องตก เลนส์ทิ่มลงพื้น หรือโดนอะไรมาเกี่ยวเลนส์ ล้องห้ายย แต่หน้าเลนส์ตัวนี้ก็เคลือบผิวพิเศษด้วย fluorine มา ทำให้รอยนิ้วมือติดยากกว่าปกติหน่อย

Nikon AF-S 8-15 mm F3.5-4.5 มีน้ำหนัก 485 กรัม ก็ไม่มากไม่น้อยสำหรับเลนส์กล้อง Full frame แบบนี้ ดีไซน์การใช้งานก็เรียบง่ายมากครับ มีวงแหวน 2 วง วงแรกใช้ซูม อีกวงใช้หมุนโฟกัส ส่วนสวิทซ์ด้านข้างมีตัวเดียวคือปรับระบบโฟกัสอัตโนมัติหรือหมุนมือ และเลนส์ยังมาพร้อม Hood และฝาปิดเลนส์แบบครอบ Hood เพื่อปกป้องเลนส์ด้วย ซึ่งตัวฮูดนี้ต้องถอดออกเวลาต้องการถ่ายที่ 8mm ครับ

เลนส์ตัวนี้ให้ระยะโฟกัสใกล้สุด 16 cm ก็ห่างไปนิด เอาไปใช้ถ่ายรูปอะไรที่ใกล้มากๆ ไม่ได้ (คือพอเป็น fisheye เราก็อยากเอาเลนส์ไปจ่ออะไรใกล้ๆ ให้หน้าป่องๆ เหมือน The Dog ไง แต่เลนส์นี้จ่อใกล้มากไม่ได้ ภาพเบลอ)

Nikon AF-S 8-15 mm fisheye เหมือนได้ 2 เลนส์ในตัวเดียว

ความดีงามอย่างแรกของเลนส์รุ่นนี้คือช่วงซูมที่ได้ระยะ 8 – 15 mm ครับ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าแค่ซูม แต่พอจะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น การที่เลนส์ตัวนี้สามารถซูมได้ทำให้เราสามารถถ่ายภาพมุมกว้างใน 2 รูปแบบคือ Circular Fisheye (ภาพวงกลมมุมกว้าง ขอบดำ เห็น 180 องศา) และ Diagonal Fisheye (ภาพมุมกว้าง เต็มเฟรม เห็น 180 องศา) ครับ

ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D750 กับเลนส์ Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye 8 mm

ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D750 กับเลนส์ Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye 8 mm

สำหรับกล้อง Full Frame หรือกล้อง FX ของนิคอน

ระยะ 8 mm จะได้ภาพแบบ Circular Fisheye สมบูรณ์แบบ ได้ภาพทรงกลม 180 องศา ส่วนที่เหลือของภาพจะเป็นสีดำหมด ระยะ 14-15 mm จะได้ภาพ Diagonal Fisheye เต็มเฟรมแบบ 175 องศา

ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D750 กับเลนส์ Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye 15 mm

สำหรับกล้อง APS-C หรือกล้อง DX ของนิคอน

ระยะ 8 mm ได้ภาพ Circular Fisheye ที่โดนครอป เพราะเซนเซอร์เล็กกว่ากล้อง Full frame ทำให้ไม่เต็ม 180 องศา ระยะ 11 mm ได้ภาพ Diagonal Fisheye เต็มเฟรมแบบ 180 องศา ประสบการณ์การใช้งาน Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye

ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D750 กับเลนส์ Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye 8 mm

Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye นั้นไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของนิคอนครับ ให้สีสันจัดจ้าน และความคมชัดสุดๆ แถมยังให้ความคมชัดที่ดีมากไปจนถึงขอบภาพ โดยเฉพาะภาพที่ความยาวโฟกัส 15mm แต่สำหรับภาพแบบ Circular Fisheye ที่ขอบภาพจะฟุ้งๆ หน่อยนะครับ ก็เป็นลักษณะของเลนส์ประเภทนี้

ที่น่าสนใจคือการใช้งานเพื่อถ่ายวิดีโอครับ เลนส์ตัวนี้ให้เอฟเฟกการซูมที่แปลกตามาก คือที่ระยะ 8mm จะเป็นภาพทรงกลม แล้วภาพจะค่อยๆ ยืดออกข้างเพื่อปูให้เต็มเฟรมในระยะ 15 mm ซึ่งสร้างภาพวิดีโอที่แปลกตากว่าเลนส์อื่นๆ เพียงแต่การซูมของ Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye นั้นไม่มีซูมระบบไฟฟ้าครับ ผู้ถ่ายจึงต้องหัดหมุนซูมให้ลื่นไหลด้วยตัวเอ

เนื่องจากว่า Nikon AF-S 8-15 mm Fisheye เป็นเลนส์มุมกว้างมาก ระบบป้องกันภาพสั่นไหวจึงไม่จำเป็น (ถ้าใส่มาก็ไม่คุ้มค่าต้นทุนที่ทำให้เลนส์แพงขึ้น) คือที่ระยะ 8 mm เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8 ถ่ายภาพให้คมชัดได้สบายๆ และอาจจะได้ถึง 1/5, 1/3 วินาทีถ้ามือนิ่งพอ ส่วนที่ระยะ 15 mm ก็ทำความเร็วซัตเตอร์ได้ 1/15s ตามกฎความยาวโฟกัสนะครับ

เมื่อใช้ Auto ISO กล้องจะปรับความเร็วซัตเตอร์ต่ำเป็นหลัก

แต่ข้อควรระวังคือเวลาที่เราใช้โหมด Auto ISO กล้องจะคำนวณความเร็วซัตเตอร์ให้เหมาะสมตามความยาวโฟกัสอัตโนมัติ เช่นถ้าเราใช้ระยะ 8 mm กล้องก็จะใช้ซัตเตอร์ความเร็ว 1/8s ซึ่งถึงจะถ่ายภาพนิ่งได้คม แต่ก็จะมีปัญหากับวัตถุที่เคลื่อนไหวครับ ตัวแบบเคลื่อนตัวนิดหนึ่งก็เบลอแล้ว ช่างภาพสาย Auto ISO ก็ต้องระวังเรื่องนี้ แล้วปรับความเร็วซัตเตอร์ให้เหมาะสมกับตัวแบบก่อนถ่ายนะครับ

ราคาราว 49,900 บาท (อาจมีส่วนลด แล้วแต่ร้าน)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook