ไขข้อสงสัย ทำไมมือถือสมัยนี้ถึงแกะซ่อมยากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเผยเรื่องราวเบื้องหลังของอุตสาหกรรม
ไขข้อสงสัย ทำไมมือถือสมัยนี้ถึงแกะซ่อมยากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเผยเรื่องราวเบื้องหลังของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ไม่ชอบมาพากล
คิดถึงมือถือถอดแบตได้กันไหม? ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่มันหายไปจากวงการ? ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนรวมไปถึงแก็ดเจ็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ต่างถูกดีไซน์มาให้เป็นเนื้อเดียวกันและแกะซ่อมยากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่องแบบ unibody หรือแบตเตอรี่ที่กาวติดไว้กับตัวเครื่องแถมยังอยู่ใต้ชิ้นส่วนที่ละเอียดอ่อนอีกต่างหาก เวลาเครื่องมีปัญหาขึ้นมา
ร้านซ่อมทั่วไปก็เริ่มจะซ่อมลำบาก บีบให้เราต้องส่งเครื่องเข้าศูนย์ หลายคนอาจจะสงสัยมาตลอดว่าแต่ละแบรนด์จะทำให้สินค้าตัวเองซ่อมยากไปทำไม ความจริงแล้วเรื่องนี้มีเหตุผลของมันอยู่ และดูเหมือนว่าจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่ค่อยชอบมาพากลเท่าไหร่เสียด้วย
Mark Schaffer สมาชิกบอร์ดบริหารของ Repair Association กลุ่ม NGO ที่ผลักดัน Right to Repair หรือสิทธิ์ในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้อย่างอิสระ ได้เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ลดทอนและต่อกรกับมาตรฐานความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้อิทธิพลโน้มน้าวให้ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับทอง (Gold Standard) ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดอย่างตรงไปตรงมา ในทางกลับกัน กลับออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ซ่อมยากขึ้นและมีอายุสั้นลง เพื่อให้ตนเองขายสินค้ารุ่นใหม่ได้เรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน Kyle Weins ผู้บริหาร iFixit และสมาชิกบอร์ดอีกคนหนึ่งของ Repair Association ก็สมทบว่า ทีมสิ่งแวดล้อมของบริษัทเหล่านี้ถูกครอบงำจนไม่เหลืออำนาจใดๆ ในทางทฤษฎีพวกเขาต้องทำให้บริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติพวกเขากลับถูกบริษัทสั่งให้หาทางหลบเลี่ยงกฎข้อบังคับต่างๆ สถานการณ์ในตอนนี้เหมือนเอาจิ้งจอกมาเฝ้าเล้าไก่ยังไงยังงั้น
การกำหนดความเป็นมิตรทางสิ่งแวดล้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะวัดด้วยมาตรฐานที่เรียกว่า Electronic Product Environmental Assessment Tool (EPEAT) โดยจะพิจารณาตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงเรื่องบรรจุภัณฑ์ และการจัดการอุปกรณ์หลังสิ้นอายุ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์บังคับทุกข้อจะได้รับตรา Bronze Standard และหากผ่านเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วยก็จะได้ยกระดับเป็น Silver และ Gold ตามลำดับ เครื่องหมายเหล่านี้จึงเป็นเครื่องการันตีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าเชื่อถือ
เครื่องหมายมาตรฐานระดับ Bronze, Silver และ Gold ของ EPEAT
แต่ปัญหาที่ Mark Schaffer พูดถึงอยู่ที่กระบวนการพิจารณา ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างหน่วยงาน NGO กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรมภายนอก รวมไปถึงกลุ่มนักวิชาการ และออกเสียงโหวตกันในมติต่างๆ แต่กลุ่มที่มีสิทธิ์โหวตกลับมีสัดส่วนไม่เท่ากัน โดยกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 41% ทำให้การโหวตถูกควบคุมโดยฝั่งบริษัทเทคโนโลยี ดังนั้นข้อเสนอใดก็ตามที่จะส่งผลเสียกับพวกเขา จะถูกโหวตให้ตกไปทันทีอย่างไม่ยากเย็น
Apple บริษัทเทคโนโลยีที่ถูกเพ่งเล็งเป็นอันดับต้นๆ ในประเด็นนี้ เคยแถลงกับ The Verge ว่า บริษัทมีความพยายามที่จะปรับปรุงการผลิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ทางบริษัทจะเป็นผู้ควบคุมการผลิตและการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเอง การเลือกใช้ดีไซน์ที่เป็นเนื้อเดียวกันจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม และทนทาน มีอายุการใช้งานนานหลายปี เมื่อจำเป็นต้องซ่อมแซม ลูกค้าก็สามารถใช้บริการจากศูนย์ซ่อมที่ผ่านการรับรองได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย และเมื่อผลิตภัณฑ์สิ้นอายุขัย บริษัทก็จะรับผิดชอบในกระบวนการรีไซเคิล
นอกจากนี้ Apple ยังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง เช่นหุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone และการพยายามสร้างลูปซัพพลายเชนที่สามารถผลิตสินค้าได้จากการนำทรัพยากรเก่ากลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการขุดแร่จากผืนโลกมาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Liam หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone ของ Apple
อย่างไรก็ดี ในรายงานของ Mark Schaffer ชี้ว่า Apple รวมถึงบริษัทอื่นๆ ไม่ได้จริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างที่บอก โดยได้ยกตัวอย่าง MacBook Pro ซึ่งในอดีตเคยเป็นไลน์สินค้าที่ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วน ซ่อม และอัปเกรดได้ง่าย
แต่ในปี 2012 Apple กลับเปิดตัว Retina MacBook Pro ที่แทบจะแกะซ่อมหรืออัปเกรดไม่ได้เลย ทั้ง SSD ที่ออกแบบใหม่จนเข้ากับรุ่นอื่นไม่ได้ RAM อัปเกรดไม่ได้ และแบตเตอรี Li-Ion ที่ถูกกาวติดกับตัวเครื่อง แต่ถึงกระนั้น Apple ก็ยังสามารถโน้มน้าว EPEAT จนได้ Gold Standard ด้วยการพยายามตีความนิยามของคำว่า “อัปเกรดได้” ใหม่ การกระทำเช่นนี้ Schaffer เห็นว่า เป็นการทำลายเกณฑ์กำหนดของมาตรฐาน
ซึ่งจะยิ่งทำให้ขอ Gold Standard ในครั้งต่อๆ ไปได้ง่ายขึ้นไปอีก จนสุดท้ายก็ตกต่ำจนใครๆ ก็ขอมาตรฐาน “ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์หรือกระบวนการผลิตเลย
ข้อกำหนดหลายอย่าง เช่นการทำให้แบตเตอรีเปลี่ยนได้ง่าย จะทำให้ยอดขายอุปกรณ์รุ่นใหม่ลดลง เนื่องจากผู้ใช้ไม่ยอมทิ้งเครื่องเก่า กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงต่อต้าน Right to Repair ซึ่งมุ่งหมายให้ผู้ใช้สามารถแยกส่วน ซ่อม และดัดแปลงอุปกรณ์ได้หลังอย่างอิสระหลังจากซื้อไปแล้ว
“คุณจะได้การรับรองระดับ Gold โดยยังมีแบตเตอรีที่ถูกกาวติดอยู่กับอุปกรณ์ก็ได้ ผู้ผลิตมีทางเลือกอยู่แล้ว พวกเขาจะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ที่ดีกว่าเดิม หรือทุ่มเทพยายามทำให้มาตรฐานนี้ไร้ความหมายแล้วทำอะไรตามใจไปเลยก็ได้” Weins กล่าว
ในตอนสุดท้ายของรายงาน Mark Schaffer ได้สรุปว่า “ผู้ผลิตมีแนวโน้มจะโหวตให้กลุ่มบริษัทตัวเองได้ผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งขัดกับผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีผู้ผลิตมาขวางทาง แม้กระทั่งมาตรฐานเล็กๆ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะผ่าน แทบไม่มีพื้นที่ให้เจรจา และยากที่จะดำเนินการต่อภายใต้กระบวนทัศน์ของมาตรฐานที่อ้างอิงฉันทามติเช่นนี้ ถึงเวลาแล้วที่ผู้เฝ้าดูแลหรือผู้มีอำนาจจะเข้ามาสร้างกระบวนการพัฒนาขึ้นใหม่ จะปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งควบคุมการโหวตและเจือจางมาตรฐานลงไปอีกไม่ได้”