ตัวเลขน่ารู้ใน Home Wireless Network ที่หลายคนไม่เคยรู้
ตัวเลขถือเป็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวกับในชีวิตประจำวันของเราในหลายด้าน บางครั้งอาจมีตัวเลขที่เราไม่เคยนึกถึง แต่กลับเกี่ยวกับการทำงาน หรือบางครั้งเราไม่ทันคิดว่าตัวเลขเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกับเราโดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ วันนี้ aripfan จึงหยิบยกตัวเลขที่น่าสนใจใกล้ตัวจาก Home Wireless Network มาบอกเล่าเป็นความรู้กันครับ
ระบบเครือข่ายไร้สายที่เราใช้งานกันอยู่จะมีการกำหนดช่องสัญญาณความถี่ในการส่งข้อมูล ซึ่งเราเรียกกันว่า Channel โดยพื้นฐานทางผู้ผลิตอุปกรณ์จะมีการตั้งค่ามาตรฐานช่องสัญญาณความถี่เอาไว้ตั้งแต่หมายเลข 1 ถึง 14 ซึ่งในบางช่องสัญญาณจะมีพื้นที่ทับซ้อน (Overlap) ของช่องสัญญาณอยู่ แต่มีพียงช่องสัญญาณ 1, 6 และ 11 เท่านั้นที่ไม่มีการทับซ้อนของช่องสัญญาณ ดังนั้นการเลือกใช้งาน Channel ควรเลือกใช้ช่องสัญญาณทั้งสามช่องนี้ เพื่อป้องกันการรบกวนกันของสัญญาณกับระบบเครือข่ายไร้สายของเพื่อนบ้าน
2.4 และ 5
ในระบบเครือข่ายไร้สายรุ่นใหม่ ๆ จะมีช่องสัญญาณไร้สายให้เลือกใช้งาน 2 ช่องสัญญาณ คือ 2.4GHz และ 5GHz โดยที่ช่องสัญญาณ 2.4GHz จะรองรับ Channel ได้ 14 Channel (ตามแบบข้อแรก) ส่วนช่องสัญญาณ 5GHz จะรองรับ Channel ได้มากกว่านั้น และอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานทั้งสองช่องสัญญาณจะเรียกว่า อุปกรณ์แบบ Dual Band ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเลือกใช้ช่องสัญญาณที่ดีที่สุดกับตัวมันเอง
10, 100 และ 1000
ตัวเลขเหล่านี้หลายคนคงคุ้นตา ใช่แล้วครับ มันคือตัวเลขของความเร็วที่ระบบเครือข่ายแบบมีสาย (Ethernet) รองรับได้ โดยเริ่มแรกจะรองรับที่ 10Mbps หน่วยเป็นบิตต่อวินาที ต่อมาในช่วงปี 1990 ถึง 2000 ได้มีการพัฒนาความเร็วในการส่งสัญญาณให้เร็วขึ้นเป็น 100Mbps และพัฒนามาจนถึงจุดที่เรียกว่า Gigabit Ethernet ซึ่งจะมีความเร็วสูงถึง 1000Mbps
**(Mb อ่านว่า เม็ก-กะ-บิต แต่ถ้า MB อ่านว่า เม็ก-กะ-ไบต์ นอกจากชื่อเรียกจะต่างกันแล้ว ความเร็วก็ยังต่างกันอีกด้วย ไว้มีโอกาสจะมาอธิบายให้ฟังครับ)
11 และ 54
ตัวเลขสองตัวนี้คืออัตราความเร็วสูงสุดที่ระบบเครือข่ายไร้สายภายในบ้านจะรองรับได้บนมาตรฐานของระบบเครือข่าย IEEE 802.11b จะรับส่งความเร็วได้สูงสุดที่ 11Mbps และมาตรฐานเครือข่าย 802.11g จะรับส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุด 54 Mbps ในปัจจุบันความเร็วในการรับส่งข้อมูลเครือข่ายไร้สายจะขยับขึ้นไปสูงกว่านั้น นั่นคือตั้งแต่ 150Mbps (IEEE 802.11n) ขึ้นไป
80
80 หรือ 8080 คือหมายเลขพอร์ตมาตรฐานของระบบเครือข่าย TCP/IP ซึ่งมีหน้าที่ในการสื่อสารกับระบบ โดยระบบที่นำพอร์ตนี้มาใช้ก็คือระบบเว็บนั่นเอง เรียกว่าถ้าพอร์ต 80 พังก็เข้าเว็บไม่ได้ ในบางที่มีการแตกพอร์ต 80 ออกเป็น 8080 ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกัน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับพอร์ต 80 ได้
127.0.0.1
มันคือหมายเลขไอพีการ์ดเน็ตเวิร์กในเครื่องของคุณเอง โดยจะมีการนำมาใช้ในกรณีที่ทำการทดสอบบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องรู้ไอพีของเครื่องตัวเอง (Loopback) เรียกง่าย ๆ ว่ามีเป็นการทดสอบส่งข้อมูลวนไปในเครื่องของตัวเอง ในอดีตมีแฮกเกอร์มือดีคนหนึ่งมีความพยายามที่จะแฮกไอพีนี้ด้วย
192.168.1.1
หมายเลขที่คุ้นเคย ถ้าคุณจะตั้งค่าเราต์เตอร์ภายในบ้านของตัวเอง ส่วนใหญ่จะต้องเข้าผ่านบราวเซอร์ด้วยหมายเลขนี้ เพราะเป็นหมายเลขมาตรฐานที่ผลิตเราต์เตอร์ใช้กัน แต่ในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตเราต์เตอร์หลายรายที่เปลี่ยนไปใช้หมายเลขไอพีอื่น ๆ ซึ่งหมายเลขใหม่ที่นิยมใช้กันก็คือ 192.168.0.1 และ 192.168.2.1
500
หมายเลขที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจอ เพราะมันหมายถึงคุณจะเข้าเว็บนั้นไม่ได้ HTTP 500 เป็นหมายเลขแสดงความผิดพลาดของระบบ (Error Code) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเว็บไม่มีการตอบสนองจากการร้องขอ (Request) ของเครื่องในระบบเครือข่าย พูดภาษาบ้าน ๆ ก็คือใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้นั่นเอง