[Commentary] บทบาทที่ควรจะเป็นของสื่อกับกระแสดราม่า?
คิดว่าคงไม่มีใครปฎิเสธว่า หนึ่งในกิจวัตรประจำวันของพวกเราชาวไทยในวันนี้คือ การคุยคุ้ยเรื่อง “ดราม่า” (จนสื่อมวลชนหลายต่อหลายสำนักพากันพูดว่ายอมรับซะเถอะว่าพวกเราเป็นสังคมนิยมดราม่า) ไม่ว่าจะเป็น ข่าวฆาตกรหั่นศพกลายเป็นเน็ตไอดอล, YouTuber คนดังเปิดศึกวิวาทะกับชุมชนคนรักสัตว์, หรือแม้กระทั่งเรื่องเก่าๆ อย่าง กราบรถกู เหนียวไก่หาย ซึ่งแต่ละเรื่องต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะไปให้ค่าอะไรกับมันมากมายนัก แต่คนก็ยังนิยมจะพูดถึงมัน ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมันสนุกปาก แต่คำถามหนึ่งที่ผมคิดมานานก็คือ พวกเราทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้ได้บ้าง? ทำอย่างไรที่ “ความดราม่า” มันจะลดลง?
เกี่ยวกับ Blog article นี้: Blog ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้คือการร่วมเขียน หรือ “Co-blogging”กับผู้อ่าน thumbsup หลายๆ ท่าน วิธีของเราคือการ “ตั้งคำถาม” แล้วขอให้ช่วยกันตอบผ่าน Social Media โดยเราจะคัดเลือกและเรียบเรียงความเห็นที่น่าสนใจมาใส่ไว้ในบทความด้านล่าง ผมเรียงตามลำดับความคิดเห็นตามตัวอักษรชื่อของผู้เขียน แต่ถ้าหากท่านใดสนใจอ่านความคิดเห็นโดยละเอียดทั้งหมด ตามไปได้ที่ Social Post นี้ เพราะรายละเอียดเยอะมากครับ จำต้องตัดออกเพื่อให้น่าอ่านมากที่สุดในรูปแบบบทความ
คำถาม: คุณคิดอย่างไรกับการที่สื่อมวลชนเล่นข่าวเกี่ยวกับกระแสดราม่า? ควรเล่น หรือไม่ควรเล่น เพราะอะไร อย่างไร
– ควรเล่นเพราะอย่างไรมันก็เป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ ดีซะอีกเอาไปคุยกับเพื่อนต่อได้
– ไม่ควรเล่นเพราะมันไม่มีค่าอะไร เสียเวลาเปล่าๆ
– ควรเล่น ถ้าคุณเป็นสำนักข่าวหัวสี ซึ่งออกตัวอยู่แล้วว่าเล่นข่าวสีสัน
– ไม่ควรเล่น ถ้าคุณเป็นหนังสือพิมพ์ Broadsheet – ฯลฯ
Attapol Lertlum
ยี่สิบปีที่แล้ว ผมเคยฟังอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล บรรยายเกี่ยวกับการทำข่าวกับเทคโนโลยี (ตอนนั้นเรายังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่มีข่าวออนไลน์แล้ว เป็นข่าวที่นำเสนอบนจอห้องค้าหลักทรัพย์ ) ผมชอบคำประโยคหนึ่ง ที่ผมจำจนถึงทุกวันนี้ อาจารย์บอกว่า ไม่ว่าคุณจะมีหน้าที่ส่งข่าวให้เร็วแค่ไหน ต้องจำไว้ว่า “สปีดของเทคโนโลยี ไม่ใชสปีดของมนุษย์”
ในความหมายคือ แม้ว่าเราจะทำข่าวโดยต้องการความเร็วแค่ไหน (สมัยก่อนเราจะเปรียบเทียบการชนะคู่แข่งด้วยความเร็วบนไทม์ไลน์เป็นวินาทีครับ) ข่าวใหญ่แค่ไหนจะไม่มีคุณค่าเลยถ้าข่าวไม่ได้รับการตรวจสอบ หรือเป็นข่าวที่ไม่จริง และยิ่งถ้าข่าวนั้นไม่ได้ให้อะไรกับสังคม มนุษย์เราไม่ได้ต้องการเสพข่าวเร็วขนาดนั้น ในท่ามกลางกระแส เราต้องการสติ ในการรับรู้ข่าวสาร ที่สำคัญคือ ความถูกต้อง
ถ้าเป็นภาษาของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ปรมาจารย์แห่งวารสารศาสตร์ไทย (ผมตั้งเอง) อาจารย์ใช้คำว่า ความถูกถ้วน ประโยคของอาจารย์เสกสรร และอาจารย์สุภา ใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ วันที่เราส่งข่าว (และภาพ) ได้เอง ด้วยความรวดเร็วและกว้างไกลกว่าเดิม สิ่งที่อาจารย์บอกน่าจะหมายถึง การดำรงหน้าที่ในการให้สติ กับสังคม
จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้านักวารสารศาสตร์ เอาแต่แข่งกันที่ความเร็ว และยอดติดตามชม ถ้าข่าวนั้นไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองก่อน แต่นำเสนอเพื่อหวังผลทางการตลาด หรือความนิยม บทบาทของสื่อในกระแสอะไรก็แล้วแต่ คือการ เป็นผู้ให้สติ (ซึ่งคนจะให้สติได้ต้องตั้งสติได้เสียก่อน) กับสังคม ไม่ใช่สักแต่ตอบสนองความต้องการของกระแส เพราะสุดท้ายแล้ว ความน่าเชื่อถือ และการดำรงหน้าที่ของตัวเองมันจะไม่เหลืออะไรเลย เมื่อสิ่งที่คุณส่งออกไปมันช่างไร้ค่า ไม่มีราคา
Armmie Born TobeBrave
ยิปมองว่า เรื่องดราม่าแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้น มันก็สะท้อนความสนใจของคนส่วนใหญ่ระดับนึงนะคะ เอาจริงๆ เรื่องสักเรื่อง ถ้ามีคนสนใจ แสดงว่ามันมีประเด็นอะไรบางอย่าง ในตัวของเรื่องดราม่านั้นอยู่ ซึ่งประเด็นเหล่านั้น มันก็เป็นหน้าที่ของสื่อ ที่จะสื่อสารประเด็นนั้น ออกสู่วงกว้าง แต่ในฐานะสื่อ ควรจะตระหนักข้อหนึ่งคือ เสียงที่เราพูดมันมีคนได้ยิน มากกว่าเสียงของคนธรรมดา เวลาเราพูด เราก็ต่างมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน
บางคนอยากพูดดังๆให้คนอื่นได้ยินชัดมากที่สุด
บางคนอยากพูดให้คนเอาไปเล่าต่อมากที่สุด
บางคนอยากพูดให้คนสนใจว่าตัวเองเล่าเก่งที่สุด
บางคนอยากพูดให้คนอื่นเห็นปัญหาและมาช่วยเหลือกัน
บางคนอยากพูดเตือนคนอื่นว่าเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดกับใคร
บางคนพูดความจริงทั้งหมดทุกด้านแต่เน้นให้ข้อมูลครบไม่เน้นให้คิดต่อ
ก็เหมือนกับสื่อนั่นแหละค่ะ แต่เพียงว่า สื่อมันมีพลังมากกว่าคนปกติ ซึ่งมันมีผลต่อความคิด มุมมอง และการตัดสินใจ ของคนที่รับสานส์จากสื่อ คนจำนวนมาก มากพอที่จะมีผลต่อสังคมวงกว้างได้ ขอสรุปว่า สื่อไม่ผิดเลยที่จะนำเสนอดราม่า แต่ต้องคิดเอาไว้ว่า การนำเสนอของเรามีผลอะไรกับใครบ้าง มันทำให้สังคมดีขึ้นไหม หรือมีประโยชน์อะไรต่อคนฟังที่รับสารจากเรา เพราะทุกการกระทำมีผลกระทบเสมอ การนำเสนอของสื่อก็เช่นกัน
Art Suriyawongkul
ถ้ามันนำไปสู่ประเด็นอื่นได้ ก็ใช้ประโยชน์จากมัน ดราม่า = attention ถ้าสื่อคิดว่าอยากสื่อสารอะไรที่มันมีประโยชน์ ดราม่าก็เป็นเครื่องมือให้เกาะได้ เช่นเรื่อง เย็ดได้เลี้ยงได้ – คุยต่อเรื่องการทำให้การซื้อถุงยางหรือยาคุมเป็นเรื่องลำบาก (สังคมทำให้อาย ราคาแพง..) การปฏิเสธไม่ใช้ (ไม่สด=ไม่รัก) สังคมที่ผลักจนคนตีกลับ? (ทำไมมีลูกแล้วต้องหมดคุณสมบัติเป็นนักเรียนนักศึกษา)
.. เพียงแต่ว่า ถ้าจะเกาะกระแสทัน สื่อต้องมีมุมมอง ต่อเรื่องพวกนี้มาบ้างแล้ว มีข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลบ้างแล้ว ถึงจะปล่อยเนื้อหาให้ทันกับดราม่าได้ หรือกระทั่งเป็นคนกำหนดวาระต่อ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะดราม่ามันมีแพตเทิร์นและวงรอบปฏิทินของมันอยู่เหมือนกัน ปีใหม่ วาเลนไทน์ เดือนนี้สงกรานต์ จะมีเรื่องอะไร เอ้าเข้าฤดูสอบเข้ามหาลัย รับน้อง พระโค อภิปรายงบประมาณ ลอยกระทง ปีใหม่อีก ไม่ก็ประเด็นซ้ำๆ จาก Instagram, เว็บบอร์ด ดาราแต่งตัวโป๊ คนดังรถชน ทหารปกป้องลูกน้อง ตำรวจทะเลาะแม่ค้า แม่ค้าออนไลน์โกงเงิน ปัญหาคอนโดไม่ก็บริษัทเน็ตกาก ก๊อสซิบที่ทำงาน พวกนี้มันวนๆ ตั้งประเด็นรอคนชงได้เลยครับ
Bank Pholvisutsak
สำหรับสื่อหลายๆ สำนัก Drama = Traffic และ Traffic = Money ผมคิดว่าการที่จะรณรงค์ให้ลด ละ เลิกดราม่าคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเส้นทางทำกิน ส่วนตัวผมเอง ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับกฏหมายที่จะออกมาเพื่อกำหนด หรือควบคุมสื่อนะครับ สื่อเป็นตัวสะท้อนความคิดของคนในชาติ อยากให้คนไทยเป็นแบบไหน เราควรจะดูแลให้สื่อออกมาในทิศทางนั้นครับ
Goh Chanachai
ผมว่าจริงๆแล้วเรื่องดราม่าสามารถเล่นได้แทบทุกเรื่อง ยิ่งถ้าพิจารณาในเชิง earned media บนโลกโซเชี่ยลแล้วยิ่ง”จำเป็น”ต้องเล่น แต่ความท้าทายคือ “การหามุมเข้า” ให้เหมาะสม น่าสนใจ และที่สำคัญมันต้องสร้างสรรค์ ซึ่งตรงนี้เป็นตัวพิสูจน์ฝีมือและชั้นเชิง ถ้ามันเป็น meme ที่ไม่พาดพิงใคร ใส่เต็มที่ได้เลย ต้องไว สนุกมาก (อันโปรดผมคือ “เมื่อพระเจ้าสร้าง”) แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงจัง ต้องระวังเป็นพิเศษ ตรงไหนคือกำลังดี ตรงไหนไม่ถลำลึกเกินไป บาลานซ์ความเป็นกลาง ไม่ขยี้ ไม่ต้อนใครเกินพอดี การหามุมรอบๆเรื่องนั้นมาพูดแทนก็เป็นwayที่ผมชอบมาก แล้วให้ปลายทางเป็นการชี้นำให้สังคมว่า “What we should learn from these” ยิ่งสวยงาม
Patchara Kerdsiri
ควรเล่นตามกระแสและโยงเรื่องเข้าหาสิ่งที่เราถนัดครับ คือใช้มันเป็นเครื่องมือแสดงความคิดสร้างสรรของเราได้ในจังหวะที่ผู้คนกำลังสนใจมัน เรื่องนี้เป็นหลักการเดียวกับการทำเพลงโคเวอร์
New Naveen
ผมมองว่าเรื่องดราม่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ แล้วก็ต้องอยู่ร่วมกับมันอยู่ที่ว่าจะนำเสนอในมุมไหน ถ้าเอาที่อยากให้เป็นคืออยากให้สื่อคิดถึงคนอ่านเยอะๆ เป็นห่วงคนอ่านหน่อยว่าอ่านแล้วได้อะไร แต่สุดท้ายก็คงบังคับใครไม่ได้ และเชียร์การให้ทางเลือกในการเสพกับการนำเสนอครับ ถ้าอยากจมอยู่กับดราม่าเดิมๆ ก็ทำไป ถ้าเบื่อดราม่าอยากเล่าเรื่องในมุมอื่นก็ทำขึ้นมาใหม่
แต่ก็อย่าลืมว่าทุกการกระทำก็มีผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสื่อด้วยเหมือนกัน แต่จะมีสื่อบางประเภทที่เล่นดราม่าจนลำเส้นไปเช่น การไปขุดคุ้ยถึงเรื่องส่วนตัว ไปคุกคามความเป็นส่วนตัว เปิดเผยใบหน้าเหยื่อที่เป็นผู้เสียหาย หรือก่อดราม่าซะเองด้วยการพาดหัวให้คนเข้าใจผิด ถ้าเจอสื่อที่ทำตัวแบบนี้ก็หยุดแชร์ หยุดส่งต่อ ร้องเรียนได้ก๊ร้องเรียนเลย ผมเชื่อว่ายิ่งถ้ามีสื่อหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันด้วยมากเท่าไหร่ คอนเทนต์ของสื่อกระแสหลักจะพัฒนาตามไปเองครับ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการกำหนดจรรยาบรรณสื่อ การปลูกฝังเรื่องการรักษาสิทธิ์ตัวเองและเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
Nunchavit Chaiyapaksopon
ความเห็นของผมคือ “ไม่ออกความเห็นใดๆ” ครับ ผมไม่แสดงความคิดเห็นใดๆต่อดราม่าต่างๆบนโลกออนไลน์มาเป็นปีแล้วครับ ดราม่าเรารับรู้ เราเผือก เราคุยแลกเปลี่ยนกับคนในบ้านก็พอ เราไม่ต้องไปสนับสนุนสื่อหลักที่ดราม่า จริงอยู่ว่าเราอ่าน แต่เราไม่แชร์ ไม่บอกต่อ ไม่เอามาวิจารณ์ บนดราม่าฆาตกร ผมก็อ่าน read only แต่ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่ comment ไม่แชร์ ไม่บอกต่อ ไม่คิดลบ แค่รู้ว่าตอนนี้คนเป็นยังไง เราทำตัวเราให้ดีที่สุด สังเกตว่า จะดราม่าอะไร เราก็ทำรีวิวของเราตามปกติ เพราะอะไรเหรอ เราอยากให้คนเป็นเพื่อนเรา ติดตามอะไรล่ะ? หัวสีจะทำก็เรื่องของเขา เราก็อ่าน เสพย์ มนุษย์ลดละตรงนี้ไม่ได้ แต่หักใจไม่ผสมโรงด่าได้
ทีนี้ ถ้าคิดว่าไม่ควรเล่น คือเราควรไปด่าเขาเหรอ? เราอยู่เฉยๆ ไม่สนับสนุน ไม่แชร์ ไม่เม้นต์ จริงอยู่ว่าอ่านให้รู้ ไม่ใช่ด่าตามกันไป เรื่องแมว เราก็ดูคลิปต่างๆ จนจบ แล้วก็ไม่แสดงความเห็นออนไลน์ เราคุยกันในบ้านเหมือนแลกเปลี่ยนเรื่องราวรอบตัวกันตามปกติ สื่อที่ผมตามมาหลายปีหลังๆนี้ก็คือ จส.100 อ่านเอา Fact นอกนั้น กดดูไปเรื่อยจาก LINE Today อ่าน เสพย์อย่างเมามัน แล้วเงียบๆไว้ครับ เราห้ามใครไม่ได้ เราอย่าไปด่า อย่าไปว่าใคร แคมเปญ MTD 101 ที่ผมเคยร่วมเมื่อหลายปีก่อน สอนให้เรา “เริ่มจากตัวเราเอง” อย่าไปว่าใคร แค่รู้ว่าใครเป็นยังไงก็พอ
Thiti Wiwatthanathorn
ในส่วนคำถามที่ว่าสื่อมวลชนควรเล่นข่าวดราม่าด้วยไหม เนื่องจากข่าวดราม่าคนสนใจเยอะ เป็นกระแสของสังคม ข่าวพวกนี้ขายได้ ยิ่งเร็ว แรง ลึก คนยิ่งชอบ สื่อก็ยิ่งอยากจะขายข่าว แต่สื่อมีคนติดตามเยอะ มีอิทธิพลในการชักจูงความคิดคนได้ง่าย ดังนั้นถ้าจะเล่นข่าวดราม่าควรเป็นในลักษณะการนำเสนอข่าวให้ได้รับรู้ ก็น่าจะเพียงพอ อย่าละเมิดพื้นที่ ความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย หรือชี้นำความคิด พาดหัวข่าวกับเนื้อหาคนละทางเพียงเพื่อต้องการ ยอดอ่าน ยอดคลิก ต้องการเกาะในกระแสครับ ส่วนในฐานะคนอ่านข่าวแบบผม ขอทำได้แค่ตามอ่านและคิดตาม หาแหล่งข้อมูลอ้างอิง ถ้าอะไรไม่จรรโลงสังคม ก็ปล่อยผ่าน รอให้เงียบไปครับ
Wannam Pantip
คุณคิดอย่างไรกับการที่สื่อมวลชนเล่นข่าวเกี่ยวกับกระแสดราม่า? – ปลง เหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก แต่รู้ว่าในโลกของยุคข้อมูลข่าวสารไหลบ่า ใครๆ ก็อยากเล่นกระแส แต่ก็ต้องควรมีขอบเขต ควรเล่น หรือไม่ควรเล่น เพราะอะไร อย่างไร – ถ้าเป็นสำนักข่าวหลัก ก็ไม่ควรเล่น แบ่งแยกหน้าที่ แบรนด์ ตัวตน หรืออะไรก็ตามแต่จะเรียก ให้ชัดเจนไปเลย ว่าคือสำนักข่าวหลัก มืออาชีพ ถ้าจะเล่นกระแส ต้องเล่นและนำเสนออย่างมีแง่คิด มีสาระ มีชั้นเชิง ไม่ใช่ใช้พาดหัวดึงคนเข้าเว็บ ใครจะเล่น ก็เป็น tabloid ไปเลย วางตัวให้ชัดเจนไปเลย
Worrathas Wongthai (Jetboat)
1. “หนังสือพิมพ์หัวสี ความคิดรากเหง้าน่าจะเท่ากับเรื่องของชาวบ้านคือสารของเรา” คือคงไปห้ามไม่ได้อยู่แล้วที่เขาจะเล่นประเด็นนั้น เพราะมันมี อุปสงค์และอุปทาน การที่เราบอกกัน Feed ว่า เฮ้ย..อย่าไปสนใจเลยเรื่องไร้สาระ เอาเข้าจริงคือ ชุดความแบบนี้มีจำนวนกลุ่มก้อนของคนอยู่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับจำนวนส่วนใหญ่ในประเทศ
2. เราทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง? ตัวอย่างที่สื่อบางหัวหยิบเรื่องเปรี้ยวมาอธิบายเชิงจิตวิทยา นั่นคือสิ่งที่น่าจะเหลือเผื่อที่ให้คนในสังคมมองมุมอื่นบ้าง แต่ก็นั่นล่ะมันก็แค่กระแสบางๆ ในมื่อสื่อใหญ่ย่านบางนายังตื่นเต้นดีใจที่ถ่ายทอดสดการจับตัวเปรี้ยวได้เรทติ้งมหาศาล
3. อย่างเคส YouTuber เปิดเรื่องกับคนรักสัตว์ อันนั้นมันเรื่องคนโหนกระแส แล้วมันมีวิกฤติจากตัวแบรนด์ที่เลือกใช้คนแล้วดันตอบแบบ “คนไม่เป็นมวย” แล้วมีตัวละครอื่นๆ ร่วมผสมโรงอีก
จากความคิดเห็นทั้งหมด พอจะสรุปสั้นๆ ได้ครับว่า แม้ข่าวดราม่าจะดูไม่มีประโยชน์อะไร แต่เราก็ปฎิเสธความจริงไม่ได้ว่าเราก็สนใจมัน แต่สื่อมวลชนควรมีขอบเขตในการนำเสนอ มีมาตรฐานที่ชัดเจน ตลอดจนรสนิยมในการนำเสนอ เช่น จะมองหาแง่มุมต่อยอดจากดราม่าเหล่านั้นในมุมมองที่ว่าเราเรียนรู้อะไรจากดราม่าเหล่านี้ เป็นต้น