สรุปเสวนา บริการมูลค่าเพิ่ม (OTT) โอกาสของธุรกิจสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต หารือก่อน กสทช. จะควบคุม
สวัสดีครับ เนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนา “บริการมูลค่าเพิ่ม (OTT): โอกาสของธุรกิจสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต” ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ ร่วมกับ เครือข่ายพลเมืองเน็ต เนื่องจากจะมีการควบคุม OTT โดยกสทช. จึงมีการจัดเสวนาขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ หลังพบว่าร่างของกฎหมายควบคุม OTT ยังไม่ชัดเจนและอาจมีปัญหา รวมถึงพูดถึงด้านการเจริญเติบโตของ OTT ในยุคนี้
โดยวิทยากรประกอบด้วย
คุณ วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา
(รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
คุณ Peter Lovelock (ผู้อำนวยการ Telecommunications Research Project Corporate)
และผู้ร่วมเวทีเสวนา
– กฤษณ์ บุญญะรัง ผู้ผลิตเนื้อหาอิสระบนยูทูบ (บี้ เดอะสกา) – โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจออนไลน์ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ – ภัทรพันธ์ ไพบูลย์ นักกฎหมาย เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ – ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำการเสวนาโดย
พิจิตรา สึคาโมโต้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
ทั้งนี้ทางเว็บแบไต๋ขอสรุปในเฉฑาะส่วนของเสวนาสั้นๆ นะครับว่ามีสาระสำคัญอะไรบ้าง
หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยนะครับ
คุณโชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจออนไลน์ บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้กล่าวว่า
“ทางเรานั้นเป็นทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม OTT เอง ทั้ง Application และเว็บไซต์ในเครือ BEC Tero ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงการใช้แพลตฟอร์ม OTT รายอื่นเพื่อเผยแพร่เนื้อหาเช่น Facebook, YouTube, Twitter, Line อีกทั้งถือใบอนุญาติโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งอนาล็อกและดิจิตอลด้วย ทำให้เข้าใจว่า
ความแตกต่างระหว่าง OTT กับสื่อทีวีแบบเดิมคือ สื่อ OTT วัดเรตติ้งได้ Real Time กว่า และทุกคนที่ดูถูกนำไปวัดหมด ไม่เหมือนสื่อทีวีเดิม ต้องเป็นบ้านที่ติดกล่องวัดเรตติ้งเป็นตัวแทน และไม่ได้มองว่าผู้ผลิตคอนเทนท์บนออนไลนเท่านั้น (Online Only) เป็นคู่แข่ง และเห็นว่าช่องทางนี้ดีมาก เพราะมีคนต่างประเทศมาดูด้วย จนบางครั้งต้องใส่ CC ภาษาอังกฤษไปด้วย
ส่วนเรื่องการกำกับควบคุมคอนเทนท์ OTT นั้น หากกำกับควบคุมกันเองไม่มีหน่วยงานกลางคิดว่าไม่เพียงพอ แต่รู้สึกแปลกๆ ที่ควบคุมการนำเข้า Hardware OTT แค่พวก Box, Stick ทั้งที่มือถือ Smart TV หรือคอมพิวเตอร์ปกติก็เข้าข่าย จึงไม่เห็นด้วยที่จะควบคุมถึง Hardware ไม่ว่าประเภทใด (ถ้าไม่มีการขายพ่วงบริการที่เข้าข่าย OTT ยกตัวอย่างเช่น AIS Playbox) เพราะทางเทคนิคเอาไปประมวลผลหรือใช้งานอย่างอื่นได้
คุณกฤษณ์ บุญญะรัง ผู้ผลิตเนื้อหาอิสระบนยูทูบ (บี้ เดอะสกา) ได้กล่าวว่า
ในมุมที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์เต็มตัว แต่ไม่มีแพลตฟอร์ม OTT เช่น Hardware /Application หรือเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เห็ฯว่าช่องทางออนไลน์คือช่องทางที่อิสระในการปล่อยของ ผลิตคอนเทนท์ แต่เห็นว่าผิดก็คือผิด ก็ต้องมีการจัดการ แต่ถ้าไม่มีหน่วยงานกลางในไทยควบคุม ก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีมาตรฐานต่างกันไป หรือมีการกำกับกันเองเช่น กลุ่มชุมชนออนไลน์ แต่ถ้าจะมีหน่วยงานมากำกับควบคุมก็ต้องมีความชัดเจนว่ามีขอบเขตแค่ไหนและไม่ล้ำเส้นเกินไป
ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า
เห็นว่าเมื่อต้องควบคุม มันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ไหม เพราะอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบมาให้ไร้พรหมแดน ถ้ามาควบคุมจะเสีย Concept ของอินเทอร์เน็ต คุมไปแล้วจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ และอาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของ Content productor, User-gen content ลดลง
คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้กล่าวว่า
คำถามคืออาจมีการนำกฎที่คุมสื่อเดิมที่คนดูเลือกที่จะดูแบบ On demand ไม่ได้ มาใช้กับ OTT ซึ่งเป็น On demand อาจดูไม่เหมาะเท่าไหร่ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย
On demand ก็เหมือนเราไปเลือกดูหนังในโรงภาพยนตร์ เราเลือกดูเรื่องที่อยากดูเอง หนังไม่ได้วิ่งมาหาเราแบบไร้ทางเลือก เช่นโรงภาพยนตร์เครือ A ฉายเรื่องนี้เท่านั้น ใครซื้อตั๋วก็ดูได้แต่เรื่องนี้เป็นต้น เหมือนกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุที่มีรายการมาตามผังเขาส่งอะไรเราก็ได้ดูได้ฟังแบบนั้น เลือกคอนเทนท์ไม่ได้
คุณภัทรพันธ์ ไพบูลย์ นักกฎหมาย เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ ได้กล่าวว่า
จากกฎหมายเหล่านี้ 3 ข้อนั้นจะเน้นคุมสื่อโทรทัศน์ วิทยุแบบเดิม และโทรคมนาคม แต่มีการแก้กฎหมายข้อ 3 เพื่อรองรับ OTT เมื่อเร็วๆ นี้ในการควบคุมการนำเข้าอุปกรณ์ ส่วนข้อ 4 เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์เต็มๆ
OTT ไม่มีกฎหมายขั้นตอนอย่างชัดเจนเหมือนกับสื่อโทรทัศน์ วิทยุแบบเดิมที่มีระบบขอใบอนุญาติ และมีขั้นตอนอย่างชัดเจน และพอมีคนร้องเรียนทำให้ประสานงานได้ยาก และถ้ากำกับควบคุม เว็บจากต่างประเทศที่ไม่มีสำนักงานหรือตัวแทนในไทยจะจัดการอย่างไร เราจะบังคับทุกคนที่เปิดเว็บ ทำ Application ทำเพจ ทำ Blog ที่มีวิดีโอหรือ Live Stream ต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาติทุกคนหรือไม่? ถ้าทำแล้วมันจะล้ำเส้นละเมิดสิทธิประชาชนเกินไปหรือไม่?
ความเห็นจากผู้คนที่มาฟังเสวนา
มีท่านนึงบอกว่าไม่เหมาะสมที่จะควบคุม Hardware เพราะว่า Hardware ไม่ว่าจะประเภทไหนถ้าต่อเน็ตมันก็แสดงผลคอนเทนท์ OTT ได้หมด และคนที่ซื้อไป อาจจะนำไปทำอย่างอื่นก็ได้ เพราะความสามารถมันมีหลากหลาย แต่ให้ควบคุมแต่ผู้ให้บริการเนื้อหา (คอนเทนท์) และบางบริการที่เป็นของต่างชาติ และไม่มีสำนักงานในไทยหรือตัวแทนในไทย เราจะควบคุมยังไง จะปิดกั้นไปเลยไหม หรือถ้าปล่อยไว้ ก็เหมือนกับเป็นการรังแกผู้ประกอบการในไทยหรือต่างชาติที่มีสำนักงานหรือตัวแทนในไทยกันเองไหม เพราะถูกควบคุม ทำให้ยิ่งไม่เป็นธรรม
ส่วนตัวผู้เขียนบทความได้เสนอคำถามฝากคุณกฤษณ์ บุญญะรัง (บี้ เดอะสกา) ที่จะเข้าพบหารือกับ กสทช. ในวันที่ 6-7 มิถุนาบนนี้ โดยได้ดึงประเด็นเด่นๆ จากผู้เข้าร่วมงานรวมถึงสิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากถามทางกสทช.
ถ้าควบคุมแล้ว จะมีการปิดกั้นเว็บไซต์จากต่างชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ ผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง ต้องมียอดติดตาม ยอดวิว ยอดถูกใจ เท่าไหร่ถึงจะเข้าข่าย OTT หรือต้องรับรายได้เท่าไหร่ขึ้นไปถึงเข้าข่าย OTT ขอความชัดเจนตรงนี้ด้วย บริการ Streaming เพลงออนไลน์อย่าง Joox, Deezer เป็นต้น เข้าข่ายหรือไม่ และจะควบคุมไหม ทำไมถึงมองว่าคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก อย่างพวก Compute Stick เข้าข่าย OTT แล้วต่อไปนี้ผู้จำหน่ายต้องขออนุญาติกสทช. ด้วย ในขณะที่คอมพิวเตอร์ปกติไม่เข้าข่าย ทั้งที่ Compute Stick หลักการทำงานก็ไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์ทั่วไปและไม่ได้พ่วงบริการ OTT มาด้วย คนจะซื้อไปใช้งานอย่างอื่นก็ได้ จะควบคุมอย่างไร ขอบเขตแค่ไหน จะบังคับทุกคนที่เปิดเว็บ ทำ Application ทำเพจ ทำ Blog ที่มีวิดีโอหรือ Live Stream ต้องจดทะเบียนขอใบอนุญาติทุกคนหรือไม่? หรือว่าต้องมีเงื่อนไขอย่างไรถึงต้องจดทะเบียน Store ขายภาพยนตร์ต่างๆ จะเข้าข่าย OTT ด้วย เช่น Netflix, iflix แล้วจะถามว่าถ้าอย่าง Apple iTunes, Google Play, Windows Store ก็มีภาพยนตร์ขายด้วยเช่นกัน จะเข้าข่ายหรือไม่ ทำไม Smart TV ถึงไม่ต้องขออนุญาติจำหน่าย แต่กล่อง Android Box กลับต้องขออนุญาติจำหน่าย ทั้งที่มันก็เข้าข่าย OTT เหมือนกันทั้งคู่ เพจองค์กรหรืองานกิจกรรมต่างๆ ถ้าจะ Live Stream กิจกรรมของตัวเองเข้าข่าย OTT หรือไม่ แล้วต้องขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาติหรือไม่
ขอสังเกตจากผู้เขียน เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข่าวล่าสุด
จากข่าว : “กสทช. ชงเรื่องเสนอนายกฯ ร่วมกับรัสเซียเพื่อสร้าง Social Network ของไทย” เป็นไปได้ไหมที่จะมีการปิดกันสื่อ Social Media และบริการ OTT จากต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนหรืออยู่ภายใต้การดูแลจาก กสทช. ถ้าเกิดทำขึ้นจริงอยากให้คำนึงถึงผลกระทบด้วยเช่นกัน และที่สำคัญ พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ปรับปรุงใหม่ ยังระบุไว้ว่า “สามารถเข้าเว็บไทยและเว็บต่างประเทศได้ตามปกติ” (อ้างอิงจากข่าวเดิม)
ปิดท้ายทางเว็บแบไต๋ขอนำเอกสาร “โครงการศึกษาแนวทางการกํากับดูแลการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์แบบ Over the Top (Competition Regulation on OTT TV)” จากกสทช. มาให้อ่านด้วยนะครับ ไปดาวน์โหลดได้ที่นี่ นะครับ